การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม มีผลทำให้รัฐบาลพลเรือนของกลุ่มปรีดี พนมยงค์ ตกจากอำนาจไป และเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมามีอำนาจของกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม ตลอดจนเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับพระมหากษัตริย์ภายหลังการปฏิวัติในปี 2475
ในช่วงเวลาก่อนการรัฐประหาร กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นปรปักษ์ทางการเมือง ได้ดำเนินการกล่าวหาโจมตีรัฐบาลของปรีดีและรัฐบาลของ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึงความไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การฉ้อราษฎร์บังหลวง การเป็นคอมมิวนิสต์ การไม่สามารถคลี่คลายการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคต
เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะทหารที่เรียกตนเองว่า ‘คณะรัฐประหาร’ สามารถยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ โดยประกาศข้ออ้างในการรัฐประหารคือ
- รัฐประหารเพื่อประเทศชาติ
- รัฐประหารล้มรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ เพื่อสถาปนาการเทิดทูนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประพฤติตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
- รัฐประหารเพื่อเชิดชูเกียรติของทหารบกที่ถูกย่ำยีให้ฟื้นกลับคืน
- รัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
- สืบหาผู้ปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และนำตัวฟ้องร้องตามกฎหมาย และ
- รัฐประหารเพื่อขจัดลัทธิคอมมิวนิสต์
ผลจากการรัฐประหารคือการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 (ฉบับชั่วคราว) หรือรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม โดยมีการฟื้นฟู ‘อภิรัฐมนตรี’ องค์กรตามระบอบเก่าให้กลับมาอีกครั้งภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ทำให้บทบาทและอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรหมดลง ขณะที่ปรีดีและ พล.ร.ต. ถวัลย์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
อ้างอิง:
- ณัฐพล ใจจริง สถาบันพระปกเกล้า
- http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=รัฐประหาร_พ.ศ._2490