×

ความแตกต่างในการแก้ปัญหาระหว่างบาร์เซโลนาและแมนฯ ยูไนเต็ด

29.10.2021
  • LOADING...
Barcelona and Manchester United

ความจริงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่คอฟุตบอลทั่วโลกจับตามองมากที่สุดคือ สถานการณ์ภายในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับคำถามสำคัญว่า โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ จะถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อไร และอย่างไร

 

ที่สุดแล้วโซลชาร์ยังคงได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปครับ แต่คนที่ถูกปลดจากตำแหน่งกลับเป็น โรนัลด์ คูมัน โค้ชของทีมบาร์เซโลนาอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ที่ตกที่นั่งลำบากไม่แตกต่างกัน ซึ่งการปลดเกิดขึ้นหลังพ่ายต่อเรอัล มาดริดในเกมเอลกลาสิโก ก่อนจะถึงฟางเส้นสุดท้ายในการแพ้ ราโย บาเยกาโน 

 

ทั้งนี้ แม้ชะตาของนายใหญ่ชาวดัตช์นั้นต่อให้ไม่ใช้หมอดูก็รู้ว่าไม่น่าจะอายุยืนในคัมป์นู แต่การปลดจากตำแหน่งในเวลานี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อยครับ เพราะผลกระทบที่ตามมาแน่นอนคือการทำให้บาร์เซโลนาตกอยู่ในสภาพที่ลำบากยิ่งขึ้นจากปัญหาทางการเงินที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่คูมัน

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ โจน ลาปอร์ตา ประธานสโมสรลังเลตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา และทำให้อดีตผู้จัดการทีมเซาแธมป์ตัน เอฟเวอร์ตัน และทีมชาติเนเธอร์แลนด์ยังอยู่รอดในตำแหน่งได้ โดยที่ระหว่างทางนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประธานสโมสรกับโค้ชไม่ต่างอะไรจากคู่รักที่ล้มเหลว

 

บางวันก็เหมือนจะดี แต่บางทีก็ร้ายจนน่าอิดหนาระอาใจแทน

 

แต่เมื่อลาปอร์ตาตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว นั่นหมายความว่าเขาพร้อมที่จะรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม ลาปอร์ตาไม่ได้กระทำการโดยไร้แผนการรองรับครับ

 

ในทางตรงกันข้ามเขามีตัวเลือกในใจอยู่แล้วว่าต้องการใครเข้ามา มีภาพในหัวแล้วว่าบาร์เซโลนาในยุคที่เขากลับมาเป็นประธานสโมสรคำรบที่ 2 ควรจะเล่นฟุตบอลแบบไหน

 

ข่าวดีสำหรับแฟนบาร์ซาคือลาปอร์ตาประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมให้ ชาบี เอร์นานเดซ อดีตมิดฟิลด์สมองเพชรผู้เป็นคนกำกับจังหวะฟุตบอลสไตล์ ‘Tiki-taka’ อันลือลั่น ยอมรับงานในการกอบกู้ทีมเบลากรานาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

ถ้ายึดตามรายงานแล้วการเจรจา ‘อย่างจริงจัง’ ระหว่างลาปอร์ตากับชาบีเกิดขึ้นได้หลายสัปดาห์แล้ว โดยเป็นการเจรจากันหลังฉากในระหว่างที่มีคำถามถึงอนาคตของคูมันว่า จะถูกปลดจากการเป็นโค้ชบาร์เซโลนาหรือไม่

 

ในรายละเอียดของเนื้องานนั้นไม่มีใครทราบครับนอกจากลาปอร์ตากับชาบี แต่ที่เราพอจะรู้คืองานนี้ไม่ใช่เป็นแค่การคุมทีม หากแต่เป็นโปรเจกต์ในการสร้างบาร์เซโลนายุคใหม่จากเถ้าถ่าน ซึ่งความยากของมันก็มีส่วนที่ทำให้อดีตมิดฟิลด์สมองเพชรลังเลที่จะตอบตกลงรับงานง่ายๆ เหมือนกัน

 

เพราะลาปอร์ตากำลังคาดหวังว่าชาบีจะทำได้เหมือนที่เขาเคยให้โอกาสแก่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ขึ้นจากทีมชุดบีมาคุมทีมต่อจาก แฟรงก์ ไรจ์การ์ด ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการคุมทีมระดับสูงสุดมาก่อนเลย

 

ถึงแม้ชาบีจะได้รับเสียงชื่นชมจากผลงานการคุมทีมอัล ซาดด์ ที่นอกจากจะมีความสำเร็จและสไตล์การเล่นที่แทบจะถอดแบบมาจากบาร์ซาในยุคที่เขายังเล่นอยู่ แต่การจะกลายเป็น ‘เป๊ปคนใหม่’ นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำตามได้ง่ายๆ

 

บาร์ซาของเขาอาจจะล้มเหลวไม่เป็นท่าก็ได้ ซึ่งก็มีโอกาสสูง เพราะตัวเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการคุมทีมในลีกยุโรปมาก่อน และที่สำคัญคือสภาพทีม ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้แตกต่างจากวันที่เป๊ปเข้ารับงานคุมทีมมาก เพราะถึงทีมของ แฟรงก์ ไรจ์การ์ด จะย่ำแย่อย่างไร พวกเขาก็ยังมีนักเตะระดับอุโฆษมากมายเต็มไปหมดในทีม ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่มองไปตรงไหนก็แทบไม่เห็นความหวัง จนความสุขของแฟนบาร์ซาคือการดูเด็กอย่าง อันซู ฟาติ, เปดรี และกาบี ลงเล่น

 

แต่เพราะลาปอร์ตามีความเชื่อในตัวชาบี และเขาไม่สามารถปล่อยให้บาร์ซาที่เลวร้ายอยู่แล้วถูกย่ำยีโดยการทำทีมของคูมันอีกต่อไป เขาจึงขอเลือกที่จะเดิมพัน


ส่วนผลลัพธ์ที่จะตามมานั้นให้เป็นเรื่องของอนาคต ขั้นต่ำที่สุดในตอนนี้คืออย่างน้อยบาร์ซาจะได้เริ่มต้นใหม่ในระหว่างที่ยังพอมีเวลา

 

และสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือความหวังที่กลับมา

 

เห็นการตัดสินใจของลาปอร์ตาแล้วทำให้ผมอดคิดถึงสถานการณ์ภายในรั้วโอลด์​แทรฟฟอร์ดไม่ได้ครับ

 

Barcelona and Manchester United

 

อย่างที่บอกไปข้างต้น หลังความพ่ายแพ้สุดอัปยศต่อลิเวอร์พูล 0-5 ซึ่งไม่ใช่ ‘อุบัติเหตุทางลูกหนัง’ แต่เป็นผลที่เกิดจากปัญหาที่สะสมตลอดช่วงระยะเวลาที่ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ เป็นผู้จัดการทีม ไม่ว่าใครก็เชื่อว่างานนี้คงรอดยาก

 

ผมเองสแตนด์บายตั้งแต่วันจันทร์ไปจนถึงวันอังคารในกรณีที่เกิดมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทีมแมนฯ ยูไนเต็ด แต่สุดท้ายก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร

 

มีเพียงรายงานข่าวสั้นๆ ว่าฝ่ายบริหารของสโมสรยังคงมั่นใจในตัวของโซลชาร์เหมือนเดิม โดยมีกระแสข่าวลืออีกว่า เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นหนึ่งใน 3 คน (ร่วมกับ เอ็ด วูดเวิร์ด และริชาร์ด อาร์โนลด์) ที่ยืนกรานว่าโซลชาร์ควรจะ At the Wheel ต่อไป

 

เรื่องนี้มองหาเหตุผลแล้วก็พอมีครับ

 

ประการแรก โซลชาร์เพิ่งจะได้รับการต่อสัญญาฉบับใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม การปลดผู้จัดการทีมที่เพิ่งต่อสัญญาออกไป (และ ไมค์ ฟีแลน ทีมงานอาวุโสก็ได้รับสัญญาใหม่ด้วยเช่นกัน) คงไม่ใช่เรื่องที่น่าดูชมนัก

 

ประการต่อมา แมนฯ ยูไนเต็ดมีการเปลี่ยนแปลงในทีมพอสมควรในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา เวลาสำหรับการปรับตัวของทีมและนักเตะสตาร์ใหม่อย่าง คริสเตียโน โรนัลโด, จาดอน ซานโช หรือราฟาเอล วาราน เป็นสิ่งจำเป็น หากนักเตะกลุ่มนี้ปรับเข้ากับทีมได้ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น

 

ประการที่สาม คือหากปลดแล้วจะหาใครมาแทน? ชื่อของ อันโตนิโอ คอนเต ถูกหยิบยกขึ้นมาก็จริง แต่หากถามใจกันอย่างตรงไปตรงมา อย่าว่าแต่แฟนๆ แมนฯ ยูไนเต็ดเลย บอร์ดบริหารเองก็ตั้งข้อสงสัยเช่นกันว่า นี่เป็นตัวเลือกที่ดีแล้วใช่ไหม?


ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือในปี 2013 แมนฯ ยูไนเต็ดเต็มไปด้วยการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของผู้จัดการทีม

 

‘The Chosen One’ เดวิด มอยส์ คนที่เฟอร์กี้เลือกไว้ให้ ถูกปลดทั้งที่ยังไม่ครบฤดูกาลดี ก่อนที่พวกเขาจะหันไปหาโค้ชระดับ ‘บิ๊กเนม’ อย่าง หลุยส์ ฟาน ฮาล และต่อมาคือ โฆเซ มูรินโญ

 

เมื่อหมดเวลาของมูรินโญ พวกเขาได้ขอตัวโซลชาร์มาช่วย โดย JD หรือ Job Description ในขณะนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการแก้ไขปัญหาความเลวร้ายต่างๆ ภายในทีม และช่วยนำ United Way เหมือนยุคของเฟอร์กี้กลับมาอีกครั้ง

 

ปัญหาคือในช่วงแรกนั้นทุกอย่างดีและสวยงามเกินความคาดหมายไปมาก มากเสียจนทำให้ฝ่ายบริหารของสโมสรตัดสินใจที่จะมอบสัญญาฉบับเต็มให้แก่โซลชาร์มากกว่าการรอคอยจนจบฤดูกาลเพื่อดูผลงานโดยรวม และเปิดโอกาสให้มีโอกาสได้คุยกับ เมาริซิโอ โปเชตติโน เป้าหมายอันดับหนึ่งด้วย

 

หลังได้สัญญาเต็มผลงานของแมนฯ ยูไนเต็ดของโซลชาก็ตกลงจนน่าใจหาย จากนั้นก็เต็มไปด้วยความลุ่มๆ ดอนๆ จนเกือบจะเอาตัวไม่รอด ก็ได้ความมหัศจรรย์ของ บรูโน แฟร์นันด์ส ที่เปลี่ยนทีมให้กลับมาเป็นปีศาจแดงที่มีพิษสงอีกครั้ง

 

ก่อนที่โซลชาร์จะได้รับข้อเสนอสัญญาฉบับใหม่ในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งก็กลายเป็นอีกหนึ่ง ‘หลุมกับดัก’ ที่เหนี่ยวรั้งแมนฯ ยูไนเต็ดอยู่ในเวลานี้

 

ดังนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ สำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดคือผู้บริหารที่ขาดวิสัยทัศน์ แก้ปัญหาทุกอย่างแค่เฉพาะหน้า ทำทุกอย่างตามกระแส (แฟนบอลกดดันว่าไม่มีนักเตะ? ก็ซื้อสิ…) ไม่ได้มองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

 

ที่สำคัญคือไม่เด็ดขาดในเวลาที่ควรเด็ดขาด

 

หากมองอย่างพยายามเข้าใจ การยังให้โซลชาร์มีโอกาสในการแก้ตัว ซึ่งมีการพูดกันหนาหูว่ามีเวลา 3 นัดที่จะพิสูจน์ว่าเขายังดีพอที่จะพาทีมกลับมาได้ ซื้อใจลูกทีมอีกครั้ง และกอบกู้ศรัทธาของแฟนบอล (ซึ่งทั้งสามอย่างสำหรับโซลชาร์ในเวลานี้ ผมมองแทบไม่เห็นความเป็นไปได้ที่เขาจะทำได้เลย) ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นการ ‘ซื้อเวลา’ ของฝ่ายบริหารก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญ

 

มันอาจจะเป็นการดีกว่าตัดสินใจแบบด่วนได้แต่เสียง่ายก็ได้ – ไม่มีใครรู้

 

แต่สมมติหากโซลชาร์แก้ไขทุกอย่างได้ในเวลานี้ ได้คุมทีมต่อไป แต่สุดท้ายทีมก็หนีไม่พ้นวังวนเดิม ติดลูปแห่งความผิดหวังเหมือนเดิม จะทำอย่างไร?

 

ทีนี้ลองกลับไปเทียบกับเรื่องของ โจน ลาปอร์ตากับบาร์เซโลนาดู

 

เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างสโมสรทั้งสอง ทั้งเรื่องสมองและหัวใจครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X