นับเป็นสัญญาณที่ดีเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศปลดล็อกผ่อนคลายมาตรการ LTV ลงชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน (มีผลสำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565) เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปที่อยากได้บ้านหลังที่สองของตัวเอง สามารถกู้สินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัยได้เต็มหลักประกันแบบ 100%
ขณะเดียวกัน ฟากผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่บริษัทอสังหาฯ ผู้พัฒนาตัวโครงการ บริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง รับเหมา หรือกลุ่มบริษัทรับตกแต่งภายใน ก็จะได้รับผลพลอยได้จากการปลดล็อกมาตรการนี้ตามไปด้วย เพราะเมื่อมีงานเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน และสุดท้ายก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศส่อเค้าปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แต่หากมองในแง่ความเป็นจริงแล้ว การผ่อนปรนมาตรการ LTV ชั่วคราวในครั้งนี้ จะเห็นผลลัพธ์เชิงบวกที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน แล้วในฝั่งผู้พัฒนาโครงการ พวกเขามีการเตรียมแผนดำเนินงานรับมือประเด็นนี้ไว้เรียบร้อยแล้วหรือยัง
THE STANDARD WEALTH ต่อสายตรงถึง อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เพื่อสอบถามความคิดเห็นในทุกประเด็นข้างต้นที่เกี่ยวข้อง พร้อมคาดการณ์ภาพรวมที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังปลดล็อกมาตรการ LTV
เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้แน่ แต่ลำพังแค่ LTV อย่างเดียวอาจ ‘ไม่พอ’
ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจจำนวนมากต่างก็ออกมาคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปลดล็อกมาตรการ LTV น่าจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ
ทั้ง ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เคยแสดงความเห็นในบทความ ‘ธปท. คิดอะไรถึงผ่อนคลายมาตรการ LTV’ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ THE STANDARD ไว้ว่า จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าการผ่อนคลายมาตรการ LTV ครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายที่อยู่อาศัย ทั้งที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและที่อยู่อาศัยมือสองเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 4-5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือประมาณร้อยละ 5-7 ของคาดการณ์มูลค่าการโอนที่อยู่อาศัยในปี 2564 ที่ 8 แสนล้านบาท
หรือศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่าการผ่อนปรน LTV นี้จะช่วยหนุนให้ตลาดที่อยู่อาศัยทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตลอดช่วงเวลาของมาตรการฯ จะเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้คิดเป็นมูลค่าราว 18,000-30,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ
ในความเห็นของอุทัย แม่ทัพสายงานปฏิบัติการของแสนสิริกล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การออกกฎ LTV ทำให้ภาวะของตลาดอสังหาฯ ชะลอตัวลงไปพอสมควร ดังนั้นเมื่อมองกลับมาในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาจึงเชื่อว่าการที่รัฐบาล และ ธปท. ผ่อนคลายมาตรการ LTV นี้ ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
“ปัจจุบันนี้ กลุ่มคนที่ไล่ซื้อโครงการอสังหาฯ ต่างๆ เพื่อเก็งกำไรแทบจะไม่มีแล้ว มีแต่ Real Demand เป็นกลุ่มคนที่อยากได้บ้านจริงๆ ซึ่งแม้จะเป็นบ้านหลังที่สอง แต่อาจจะเจอปัญหาไม่สามารถกู้ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขของข้อบังคับ LTV ที่จะต้องมีเงินสดถือไว้ในมือจำนวนหนึ่ง ทำให้กู้ไม่ได้เต็ม 100%
“อย่างลูกค้าของแสนสิริหลายคน เมื่อครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้น บ้านหลังแรกของตัวเองเริ่มเล็กลง การซื้อบ้านหลังที่สองก็มีความจำเป็นกับเขา หรือบางคนซื้อบ้านอีกหลังเพราะอยากย้ายที่อยู่อาศัย แต่ยังอยากให้ลูกอยู่อาศัย เรียนหนังสือในเมืองต่อไป การผ่อนปรนมาตรการ LTV รอบนี้ก็จะลดข้อจำกัดให้กับพวกเขา และยังเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ ‘ภาคอสังหาฯ’ เป็นธุรกิจหนึ่งที่ผลักดัน เพราะต้องไม่ลืมว่าธุรกิจอสังหาฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิด GDP มากถึงสัดส่วนกว่า 20% เลยทีเดียว เพราะการซื้อขายบ้านมันยังต่อเนื่องไปจนถึงการตกแต่งภายใน การซื้อของเข้าอยู่ในบ้าน หรือการดึงดูดเม็ดเงินจากผู้ซื้อต่างชาติเข้าประเทศ”
อย่างไรก็ดี อุทัยเสริมว่า เศรษฐกิจไทยในตอนนี้อยู่ในภาวะ ‘ซึมลึก’ มายาวนาน ซึ่งได้รับผลกระทบมาก่อนจะเจอโควิดแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนปรนมาตรการ LTV เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ รวมถึงจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการผ่อนปรนของการปล่อยสินเชื่อ ที่รัฐบาล และ ธปท. อาจจะมีส่วนเข้ามาดูแลในประเด็นนี้ได้
“อุตสาหกรรมอสังหาฯ มันสัมพันธ์กับเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะหากปีไหนที่เศรษฐกิจประเทศดี ธุรกิจอสังหาฯ ในประเทศก็จะดี ช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ GDP เราลดลง ธุรกิจอสังหาฯ ก็ไม่มีวันจะดีได้เลย ดังนั้นการกระตุ้นให้อสังหาฯ ดีขึ้นก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเท่านั้น มันยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ การทำ Soft Loan นโยบายส่งเสริมการลงทุน BOI หรือการทำนโยบายด้านภาษี ฯลฯ
“LTV เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลตั้งใจจะใช้ผลักดันเศรษฐกิจ แต่ผมเชื่อว่า รัฐบาลจะต้องทำอีกหลายๆ เรื่องเลยในแง่การกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นจะต้องกระตุ้นภาคอสังหาฯ โดยตรงก็ได้ ขอให้เป็นการกระตุ้นภาครวมของธุรกิจ ทั้งในประเด็นการท่องเที่ยว (การเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้) กลุ่มธุรกิจการแพทย์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้ และสุดท้ายแล้วเมื่อเศรษฐกิจประเทศไปต่อได้ ก็จะช่วยให้ภาคอสังหาฯ ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
“ฟากธนาคารเอง ก็อาจจะต้องกลับมามองว่า หากอยากจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจมันเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเวลาธนาคารพิจารณาความเสี่ยงก็อาจจะต้องลดระดับเกณฑ์ของตัวเองลงมา แต่หลายๆ อย่างก็อาจจะเกี่ยวข้องกับ ธปท. ด้วย เนื่องจากกฎเกณฑ์หลายอย่าง ทั้งหนี้เสีย NPL ก็มีความสำคัญกับตัวธนาคารในแง่การจะปล่อยกู้ออกมา”
อุทัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแสนสิริมีกลุ่มโครงการบ้านเดี่ยวรวมกว่า 80 โครงการ กลุ่มคอนโดฯ 10 กว่าโครงการ หรือมากกว่าราว 20 โปรเจกต์ รวมแล้วทั้งหมดกว่า 100 โปรเจกต์ ซึ่งแต่ละโครงการก็จะมีโปรโมชันส่วนลด ฟรีค่าธรรมเนียม ค่าโอนต่างๆ ให้กับผู้ที่สนใจจะซื้ออยู่แล้ว หรือล่าสุด แสนสิริก็ทุ่มโปรโมชันใน 12 โครงการ คอนโดมิเนียม ทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยว อาทิ แนวราบรับโปรสูงสุด 3 ล้าน หรือรับส่วนลดสูงสุด 1 ล้าน ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน คอนโดมิเนียมอยู่ฟรี 2 ปี และฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอน เป็นเจ้าของบ้านจากแสนสิริง่ายในทุกระดับราคา ตั้งแต่ 1.4-36 ล้านบาท
1 ปี 2 เดือน คลาย LTV ระยะเวลาอาจจะสั้นเกินไป หากหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
ช่วงระยะเวลาผ่อนปรนมาตรการชั่วคราวที่ 1 ปี 2 เดือน เป็นระยะเวลาที่เพียงพอหรือไม่นั้น ส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องมองภาพรวมในระยะยาวอีกครั้ง ไม่สามารถประเมินได้ในวันนี้ว่าระยะเวลาดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นหรือผลักดันเศรษฐกิจของธุรกิจอสังหาฯ สามารถเติบโตได้ในระดับใด
“แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เราเริ่มเห็นแล้วว่า รัฐบาลเริ่มเข้าใจว่าธุรกิจอสังหาฯ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจโดยรวมของประเทศไทยสามารถเติบโตขึ้นมาได้
“ก่อนหน้านี้ที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า GDP และเศรษฐกิจประเทศไทยน่าจะกลับไปเติบโตในภาวะปกติก่อนช่วงโควิดได้ในช่วงปลายปี 2566 จนถึงช่วงต้นปี 2567 ซึ่งหากเรายึดตามเกณฑ์การคาดการณ์นี้ และอยากให้ภาคอสังหาฯ เป็นหนึ่งในกลจักรที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต ผมคิดว่าการผ่อนปรนมาตรการ LTV ก็ควรจะล้อไปกับไทม์ไลน์การคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศด้วย”
อุทัยบอกต่อว่า ส่วนตัวเขาเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะประเมินจากภาพรวมระยะสั้นภายหลังปลดล็อก LTV นี้ก่อน ก่อนที่จะค่อยๆ มองถึงการขยายกรอบระยะเวลา หรือเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม หากยังไม่เห็นผลการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจในทิศทางที่ดี
“ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ภายหลังปลดล็อก LTV ชั่วคราว ผมยังมองในภาพรวมที่ดีอยู่ โดยเชื่อว่าในประเด็นแรก เมื่อเปิดประเทศ เงินจากนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวไทยก็จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจของบ้านเรา และประเด็นที่สองคือ คนหลายคนที่ก่อนหน้านี้อยากจะซื้อบ้านแต่ยังไม่กล้าซื้อบ้าน ก็อาจจะได้รับความมั่นใจจากภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศที่อาจจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์จากการเปิดประเทศนี้ด้วย และก็อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจกู้ซื้อบ้านของตัวเอง”
อย่างไรก็ดี การจะคาดหวังให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอสังหาฯ พลิกฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างเหนือความคาดหมายจากหลังมือเป็นหน้ามือในช่วงสองเดือนที่เหลือของปีนี้นั้น อุทัยยอมรับว่าภาพดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะการจะผลักดันให้ขบวนรถไฟเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวจนเหมือนจะจอดสนิทกลับมาแล่นต่อไปได้ ก็จำเป็นจะต้องใช้เวลา และลำพังการหวังพึ่งแค่น้ำมันหล่อลื่นจากธุรกิจอสังหาฯ ก็อาจจะเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
สิ้นปี 2564 ตลาดอสังหาฯ แข่งดุแน่! จับตาแสนสิริรุกคืบ Low Rise คาดปีหน้าราคาบ้าน-คอนโดฯ พุ่งสูง
เมื่อถามถึงภาพรวมการแข่งขันของตลาดอสังหาฯ ในช่วงปลายปี 2564 นี้ อุทัยบอกว่า การแข่งขันน่าจะคึกคักแน่นอน เนื่องจากเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ ทุกรายก็จะงัดเอาโปรโมชันส่งเสริมการขายออกมาแข่งขันกันอย่างสุดฤทธิ์ เพื่อดันเป้ายอดขายและยอดโอนให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
“ประกอบกับการที่ทุกคนเริ่มเห็นแล้วว่า ภาพรวมธุรกิจ เศรษฐกิจก็เริ่มๆ จะกลับมาดีขึ้นบ้างจากหลายปัจจัย รวมทั้งความเชื่อมั่นในแง่การทำธุรกิจ ดังนั้นผมเลยเชื่อว่าในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีนี้ ทุกค่ายผู้พัฒนาอสังหาฯ ทุกรายจะต้องคิดว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะดึงดีมานด์ที่อาจจะกลับเข้ามาให้เข้ามา
อยู่ที่ตัวเอง หรือแม้แต่ดีมานด์ที่ยังคงค้างอยู่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (กลุ่มที่ต้องการจะซื้อแต่ไม่สามารถกู้ได้ 100%)
“ส่วนยอดขายของแสนสิริ ผมเชื่อว่าจะดีแน่นอน แต่จะ ‘มาก’ หรือ ‘น้อย’ แค่ไหนนั้นคงต้องดูภาพรวมในระยะแรกตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ก่อน อย่างแสนสิริเอง เราก็เริ่มให้ทีมขายกลับไปคุยกับลูกค้ากลุ่มเก่าๆ ที่เป็นดีมานด์คงค้าง ซึ่งเคยมีความสนใจจะกู้ซื้อโครงการ ถึงความเป็นไปได้ในการที่จะกลับเข้ามาซื้อโครงการของเราอีกครั้ง
“ประเด็นการทำโปรโมชัน การทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายนั้น แสนสิริทำกันมาตลอดอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเราหันมาทำถี่ขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ จากเดิมที่เคยทำกันทุกไตรมาส ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาทำกันทุกเดือนผ่านแคมเปญย่อยแทน”
อุทัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเขามียอดสต๊อกอยู่ในมือรวม 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดสต๊อกกลุ่ม RTM (Ready to Move In) ที่พร้อมจะโอนให้ลูกค้าแล้ว โดยที่ในจำนวนนี้ 2,000 ล้านบาท หรือราว 17% เป็นสต๊อกกลุ่มบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮม ส่วนอีก 83% ที่เหลือเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียม ซึ่งแม่ทัพจากแสนสิริเชื่อว่าประโยชน์และอานิสงส์เชิงบวกที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้น
กับทั้งคอนโดฯ และบ้านเดี่ยวเท่าๆ กัน ไม่ได้เห็นความต่างอย่างมีนัยสำคัญมากขนาดนั้น
“เรื่องการปรับพอร์ตการลงทุนนั้นคงต้องดูอีกสักระยะ แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ค่ายก็เริ่มกลับมาโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่เป็น Real Demand จริงๆ เป็นกลุ่มคนที่อยากซื้อบ้านหลังแรกของตัวเอง อย่างแสนสิริในช่วงปีนี้ พอร์ตการขายบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมก็สูงกว่าพอร์ตคอนโดมิเนียม ทั้งๆ ที่ก่อนโควิด พอร์ตคอนโดมิเนียมจะสูงกว่ามาโดยตลอด
“ดังนั้นในช่วงปีนี้ถึงปีหน้า ผมมองว่าการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของเราจะยังคงไม่ได้ปรับเยอะ แต่จะเป็นไปในลักษณะที่ตลาดค่อยๆ ปรับ แล้วเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยนตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็มีการเตรียมความพร้อมไว้ ในแง่คอนโดมิเนียม เรามี Land Bank อยู่ และก็มีโครงการที่อยู่ในระหว่างการเตรียมดำเนินการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากจังหวะของตลาดเริ่มกลับมา เราก็สามารถเอาโครงการเหล่านี้มาปัดฝุ่นเดินหน้าได้ต่อ”
ขณะที่ประเด็นการเร่งสร้าง เร่งกู้ อุทัยบอกว่า ปัจจุบันแสนสิริใช้เวลาในการก่อสร้างบ้านเดี่ยวเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น (ใช้ระบบ Precast ผลิตโครงสร้างสำเร็จรูป) ส่วนโรงงาน PCF ก็มีการเพิ่ม Capacity ในการผลิตขึ้นเป็น 100% แล้ว ทำให้สามารถผลิตได้มากถึง 1.2 ล้านตารางเมตรต่อปี นั่นหมายความว่าในหนึ่งปี แสนสิริจะสามารถสร้างบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮมได้ถึงกว่า 3,500 ยูนิตเลยทีเดียว จึงถือว่าเป็นปริมาณที่สูงพอสมควรแล้ว
“ส่วนการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างที่ค่อนข้างนานกว่า ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนแผนในหลายๆ โครงการมาเน้น Low Rise เช่น โครงการเดอะ มูฟ (THE MUVE) คอนโดมิเนียม 8 ชั้น ที่ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างแค่ราวๆ 12-14 เดือน ซึ่งก็มีการเปิดตัวไปบางโครงการในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างและเริ่มโอนได้ในช่วงกลาง-ปลายปีหน้าได้ ซึ่งก็จะเป็นหนึ่งในแผนที่สอดรับกับ LTV ในช่วงปีหน้าด้วยเช่นกัน”
อุทัยยอมรับว่า ภาพรวมการลงทุนก่อสร้างคอนโดมิเนียมของแสนสิริตั้งแต่ปีนี้จะเน้น Low Rise ที่ขนาดความสูงไม่เกิน 8 ชั้นเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับปี 2565 ที่จะหันมาเน้นการสร้างโครงการ Low Rise มากขึ้น เพื่อให้สามารถโอนทันในช่วงปลายปีหน้า เน้นพัฒนาโครงการที่ไซส์ไม่ใหญ่แต่กระจายในหลายทำเล เพื่อ Inventory ที่เหมาะสม และได้ Cash กลับมาเร็ว
“ผมยังหวังว่ารัฐบาลอาจจะพิจารณาต่ออายุ LTV ออกไป ซึ่งจะทำให้โครงการที่เราเริ่มสร้างในปีนี้หรือต้นปีหน้า สามารถเริ่มโอนได้ในปี 2566
“ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าปีหน้าเราอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) แน่นอน ทำให้คนที่ซื้อบ้านในปีนี้อาจจะได้บ้านในราคาที่ถูกที่สุดแล้ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา วัสดุจำพวกโลหะมีราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างเพิ่มสูงขึ้น เพราะใช้พลังงานในการผลิตที่สูง ทำให้สุดท้ายราคาจำหน่ายบ้านหรือคอนโดมิเนียมก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
“อย่างราคาจำหน่ายบ้านหรือคอนโดมิเนียมในปีนี้ของแสนสิริก็เป็นราคาจำหน่ายที่อิงจากต้นทุนเก่า นั่นหมายความว่า หากต้นทุนวัสดุในปีหน้าเริ่มขยับขึ้น ราคาจำหน่ายบ้านหรือคอนโดมิเนียมของเราก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” อุทัยทิ้งท้าย