×

เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน ด้วย ‘5 ขั้นตอน เริ่มใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับทุกธุรกิจ SMEs’ จาก THE SME HANDBOOK by UOB Season 2 [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
27.10.2021
  • LOADING...
THE SME HANDBOOK by UOB

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เทคโนโลยี’ เป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน แต่หัวใจสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ใช่การจ่ายเงินเพื่อให้บริษัทมีเทคโนโลยี แต่ต้องจ่ายเงินเพื่อคุณค่าที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าและธุรกิจ 

 

หลักง่ายๆ คือ ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกค้าของเราเขาอยู่ที่ไหน พฤติกรรมในการเสพสินค้าและบริการของเขาเป็นอย่างไร ถึงจะเลือกเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม และการจะเข้าใจลูกค้าและธุรกิจของตัวเองให้ทะลุปรุโปร่ง อาร์ต-อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer แห่ง SCG จึงนำ Business Model Canvas มาช่วยให้ SMEs ได้ประยุกต์ใช้ด้วย ‘5 ขั้นตอนเริ่มใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับทุกธุรกิจ SMEs’ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค New Normal แบบสั้น กระชับ และเข้าใจง่าย ผ่านพอดแคสต์ THE SME HANDBOOK by UOB Season 2 รวมทริกชนะธุรกิจในโลกยุคใหม่ เพื่อสื่อสารกับผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจ ‘ขนาดกลาง’ ไปสู่ ‘ขนาดใหญ่’ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโต 

 

เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นและนำไปปฏิบัติตามได้ทันที แนะนำให้ดาวน์โหลดคู่มือ 5 ขั้นตอนใช้เทคโนโลยีให้ SMEs เติบโตอย่างยั่งยืนในยุค New Normal ได้ที่ https://bit.ly/3m3FDTR  

 

THE SME HANDBOOK by UOB

 

อภิรัตน์เปิดประเด็นด้วยการชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของ SMEs หลังจากที่ต้องทำธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์โควิดนานเกือบ 2 ปีว่า เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนของคำว่า ‘ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน’ ดังนั้น SMEs ยุคใหม่จำเป็นต้องมี Agility และ Resiliency เพื่อรับมือกับความท้าทาย พร้อมกับขยายความว่า

 

‘Agility’ รวดเร็ว คล่องตัว หลังจากนี้ไม่ว่าจะเกิด New Normal แบบไหน เราต้องสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

‘Resiliency’ ทนทานต่อความไม่แน่นอน หากในอนาคตมีการชัตดาวน์และทำให้ธุรกิจของเราไม่สามารถเปิดได้ ทำอย่างไรที่เราจะมีสภาพคล่อง มีความอึด มีสายป่านยาวพอที่จะกลั้นหายใจและผ่านช่วงนั้นไปได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น SMEs ต้อง ‘เข้าใจปัจจุบันและมองอนาคตได้’ หมายถึงเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จุดไหนที่ทำให้เกิดความท้าทายในธุรกิจ และจุดไหนที่ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ 

 

“การจะมองวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ คุณต้องเข้าใจวิกฤตอย่างทะลุปรุโปร่งก่อน ทั้งวิกฤตที่กำลังเกิดอยู่และวิกฤตหรือโอกาสที่กำลังจะตามมา เพราะฉะนั้นเราต้องทันยุค ทันเหตุการณ์” 

 

ศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีคือการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและธุรกิจ

หลังจากสร้าง Agility และ Resiliency หาวิธีตามเทรนด์ให้ทัน หาวิธีตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า เมื่อสองอย่างนี้ชัด สิ่งต่อมาคือ ‘การนำเทคโนโลยีมาใช้’ แต่อย่าจ่ายเงินเพื่อเทคโนโลยี ต้องจ่ายเงินเพื่อคุณค่าที่เทคโนโลยีทำให้กับลูกค้าและกับธุรกิจของเรา ดูว่าเทคโนโลยีไหนที่จะทำให้เราทำสองอย่างนั้นได้เร็วที่สุด ถูกที่สุด และแตกต่างที่สุดสำหรับมุมมองของลูกค้า สิ่งนั้นแหละคือศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยี 

 

“ไม่ใช่เขาบอกว่าออนไลน์ โซเชียลคอมเมิร์ซ คริปโตเคอร์เรนซี บล็อกเชน กำลังมา ปีหน้าบริษัทเราต้องมีบ้าง คนอื่นทำแล้วเราต้องทำบ้าง ก็ต้องถามกลับว่าถ้าคุณเอาบล็อกเชนมาใช้แล้วมันสร้างคุณค่าอะไรให้กับลูกค้าและธุรกิจบ้าง เพราะฉะนั้นอย่าเอาแต่ไล่ตามคีย์เวิร์ดที่ใครๆ เขาพูดกันขึ้นมา” อภิรัตน์กล่าวเสริม

 

THE SME HANDBOOK by UOB

 

5 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับ SMEs ในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน 

เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค New Normal อภิรัตน์แนะ 5 ขั้นตอนง่ายๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ได้แก่ 

 

1. ลดต้นทุน

เริ่มจากดูรายจ่ายทั้งหมดแล้วพยายาม ‘เปลี่ยนอะตอมเป็นบิต’ ให้มากที่สุด คำว่าอะตอมที่อภิรัตน์หมายถึง เช่น ต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โกดัง รถส่งของ หรือคน 

 

ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีที่จะมาช่วยเปลี่ยนอะตอมให้เป็นบิต ในส่วนของ Customer Segment ปัจจุบันถ้าคุณมีทีมเซลส์ที่ต้องโทรหาลูกค้า สามารถนำ Social Commerce หรือ Influencer Platform มาประยุกต์ใช้เพื่อให้รายจ่ายด้านการดำเนินการของลูกค้าลดลง โดยให้ทีมเซลส์มาดูแลลูกค้าด้วยช่องทางเหล่านี้ เพื่อดูแลลูกค้าได้มากขึ้นในแต่ละวัน เช่น จากเดิมโทรหาลูกค้าแค่ 50 คน อาจเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าได้เป็นหมื่นผ่านโซเชียลมีเดีย

 

“เราสามารถนำช่องทางออนไลน์มาทำ Customer Relationship Management ได้ เช่น รถไฟฟ้า ORA Good Cat ให้จองผ่านมือถือเท่านั้น แม้ว่าตอนจบอย่างไรก็ต้องไปเซ็นเอกสารที่โชว์รูม เขาแค่เปลี่ยนวิธีการจอง สร้าง Customer Execution Channel ใหม่ๆ ก็ช่วยให้เขาลดอะตอมให้ได้มากที่สุด ผลที่ได้ก็คือลูกค้าเซอร์ไพรส์มาก คือเมื่อเขาลดต้นทุนของเขาได้ จึงตั้งข้อเสนอที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนดีเกินจริง ผ่อน 0% ไปเลย 60 เดือน และมีเซอร์วิสฟรีอีก 5 ปี ลูกค้าก็สนใจและซื้อในที่สุด” อภิรัตน์เล่าให้เห็นภาพชัดขึ้น 

 

‘ปรับ Business Model ให้ Lean’ อีกหนึ่งวิธีลดต้นทุนที่ทำเสริมไปกับการเพิ่มรายได้ใหม่ เช่น ธุรกิจแท็กซี่ เดิมทีเป็นธุรกิจที่ต้นทุนสูง มีทั้งคนขับ รถแท็กซี่ อู่ คอลเซ็นเตอร์ แต่เมื่อปรับ Business Model โดยเอาอะตอมออกไปเลย ด้วยการทำให้คนขับกลายเป็นลูกค้าอีกฝั่ง ไม่ต้องมีรถแท็กซี่ ไม่ต้องมีอู่ เพราะคนขับมาพร้อมรถแถมยังดูแลรถด้วยตัวเอง นี่คือตัวอย่างของการปรับ Business Model ให้ Lean มากๆ จะเห็นว่าต้นทุนหายไปหมดเลย

 

อภิรัตน์เชื่อว่า ธุรกิจเกือบทุกประเภทสามารถเปลี่ยนให้เป็น Multi Sided Platform ได้ “คือทำธุรกิจโดยดึงคนที่มีดีมานด์กับซัพพลายมาแมตช์กัน อย่างธุรกิจของ Grab คือพาคนที่อยากเดินทางและไม่อยากขับรถเอง กับคนที่มีรถแล้วอยากจะหารายได้เพิ่มมาเจอกัน และได้รายได้มาทั้งจากฝั่งคนขับและคนนั่ง” 

 

ข้อดีของการตัวอย่างข้างต้นคือ 

  • ธุรกิจ Lean เพราะว่าทุกอย่างไม่ใช่ต้นทุนของเราอีกต่อไปแล้ว 
  • ธุรกิจมันจะเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ต่อให้ธุรกิจเติบโต ต้นทุนจะไม่เป็นเงาตามตัว แค่เพิ่มเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ทำเรื่อง Matching ให้ดีเท่านั้น 

 

2. เพิ่มรายได้

ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเสริมรายได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่

 

  • Democratization ทำอย่างไรให้สินค้าและบริการของเราถึงเข้าถึงคนให้ได้มากที่สุด 

 

การเข้าถึงสามารถทำได้รอบด้าน เช่น ขยายกลุ่มให้พรีเมียมขึ้น หรือขยายไปตลาดต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แต่คีย์เวิร์ดของการไปให้กว้างอภิรัตน์บอกว่า ห้ามไปด้วยอะตอม เช่น การขยายตลาดด้วยการเพิ่มทีมเซลส์จะทำให้ต้นทุนเพิ่ม แต่ให้ไปด้วยช่องทางออนไลน์ และต้องมองว่านี่คือ Customer Engagement ช่องทางใหม่ที่ต้นทุนต่ำและถึงคนได้มาก 

 

จากนั้นลองเอาไปใส่ไว้ใน Customer Channel แล้วดูว่าสินค้าของเราเหมาะกับคนกลุ่มไหนและคนกลุ่มนั้นอยู่ที่ไหน อภิรัตน์หยิบข้อมูลงานวิจัยมาเล่าว่า ปัจจุบัน E-Commerce จะเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างอายุมากหน่อย ส่วนโซเชียลมีเดียจะเหมาะสำหรับคนที่เป็นวัยรุ่น Instagram เหมาะสำหรับสินค้าที่ออกสไตล์แฟชั่นนิดหนึ่ง ส่วน LINE เหมาะกับกลุ่มสูงอายุที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเยอะมาก ฉะนั้นก่อนเลือกช่องทางโซเชียลมีเดีย ต้องหาให้เจอว่าลูกค้าเราอยู่ที่ไหน พฤติกรรมในการเสพสินค้าและบริการผ่านเทคโนโลยีของเขาเป็นอย่างไร ถึงจะเลือกได้อย่างเหมาะสม

 

เทคโนโลยี Peer2Peer Marketing หรือที่เรียกว่า ‘Affiliate Marketing’ หรือ ‘Influencer Marketing’ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยค้นหา Customer Segment ได้ ข้อดีคือไม่ต้องมีทีมเซลส์ใหญ่ อีกทั้งกลุ่มคนเหล่านั้นอาจมีแพสชันมากกว่าและรู้จักลูกค้ามากกว่าเรา ที่สำคัญเป็น Two-Way Communication ที่วัดผลได้ทันที ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ

 

  • New Monetization คือการสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ภายใต้คีย์เวิร์ดยุคนี้ Ecosystem Owner คือ อย่ามองแต่ธุรกิจ สามารถทำ Affiliate Program ให้อินฟลูเอนเซอร์หรือธุรกิจอื่นที่ไม่ชนกับสินค้าหรือธุรกิจของเราโดยตรงให้มาอยู่ใน Ecosystem เดียวกัน เพื่อให้เขาเข้าถึงฐานลูกค้าของเราได้ และแนะนำสินค้าและบริการอื่นที่เราไม่มี ทำให้ตลาดดูหลากหลายขึ้น กลายเป็น Win-Win 

 

THE SME HANDBOOK by UOB

 

3. ใช้ความเล็กให้เป็นประโยชน์

ความได้เปรียบของ SMEs ที่สตาร์ทอัพและองค์กรใหญ่ไม่มีคือ การมีฐานลูกค้าที่ชัดเจนและสามารถตัดสินใจได้อย่างเฉียบคม ต้องใช้ Speed และ Agility ให้เป็นประโยชน์ โดยนำหลักการ Lean Startup มาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ Build-Measure-Learn หรือ สร้าง-วัดผล-เรียนรู้

 

“ถ้าวันนี้คุณมีไอเดียใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนโดยใช้เงิน 10 ล้าน ภายในเวลา 6 เดือน แต่ควรจะใช้หลักของ Minimal Viable Products (MVPs) คือค่อยๆ ทำ ทำเท่าที่คิดว่าลูกค้าอยากได้แล้วลองขายดูก่อน พอขายแล้วก็ต้องมี OKR หรือ KPI ในการวัดผลอย่างชัดเจนด้วย” อภิรัตน์กล่าวเสริม 

 

เฟรมเวิร์กแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Idea Prototype และ Product Prototype เช่น SMEs ทำสวนลำไย หลังจากลดต้นทุนแล้ว เพิ่มช่องทางขายทั้งตลาดบนและตลาดล่างแล้ว ปีหน้าอยากต่อยอดธุรกิจ เช่น ทำแยมลำไย ไวน์ลำไย หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเมล็ดลำไย แต่ไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะตอบรับหรือไม่ อภิรัตน์แนะให้ลองทำผลิตภัณฑ์เล็กๆ ที่อาจจะทำด้วยมือไปก่อนตามคอนเซปต์ของ Idea Prototype แล้วลองจ้างอินฟลูเอนเซอร์ ถ้าเขาใช้แล้วดี คนดูก็จะมาใช้ตาม



วิธีนี้เหมาะกับ SMEs ที่สายป่านไม่ยาว คุณอาจทดลอง Idea Prototype สินค้าที่คุณอยากลอง แล้วดูว่าอันไหนผลตอบรับดีที่สุดค่อยลงทุนกับสิ่งนั้น

 

จุดสังเกตระหว่างการทำ Idea Prototype และ Product Prototype คือ การทำ Idea Prototype ต้องเน้นเร็วและลงทุนต่ำ จึงสามารถทดลองทำได้หลายอย่าง เมื่อเจอสิ่งที่ได้รับผลลัพธ์ดีที่สุด คนตอบรับมากที่สุด จึงค่อยทำเป็น Product Prototype หรือ Minimal Viable Products (MVPs) ขึ้นมา หลักการนี้จะทำให้ SMEs ลงเงินสำหรับไอเดียธุรกิจใหม่ให้ได้ผลมากที่สุด โดยใช้เงินและเวลาให้น้อยที่สุด

 

4. ต้องทันยุคอยู่ตลอดเวลา

อภิรัตน์บอกว่า SMEs ที่ทำครบทั้ง 3 ขั้นตอนข้างต้นจนมั่นใจว่าตอนนี้ธุรกิจรอดแน่ๆ ถ้าจะให้ดีต้องเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย คีย์หลักคือ ‘การมองอนาคตให้ออก’ ซึ่งอนาคตในยุคนี้ถูกขับเคลื่อนด้วย 3 เทรนด์ ได้แก่

 

  1. พฤติกรรมและความต้องการของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่ Generation V หรือ Active Aging ยุคใหม่ ที่จะไม่เหมือนกับผู้สูงอายุในยุคเดิม 
  2. บริบทใหม่ๆ ของสังคมที่เกิดขึ้น เช่น โควิดที่ทำให้บริบทสังคมเปลี่ยนไปมาก ทั้งพฤติกรรมการกิน การอยู่อาศัย การเดินทาง และการทำงาน มองให้ออกว่าบริบทเหล่านี้สร้างโอกาสอะไรให้เราบ้าง 
  3. เทคโนโลยี สิ่งนี้เป็นตัวที่ทำให้ประเด็นที่หนึ่งและสองรุนแรงขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้มันทำให้เราสามารถทำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็น New Normal ได้ง่ายและเป็นไปได้มากขึ้น 

 

“SMEs ต้องมอง 3 เทรนด์ ให้ทันตลอดเวลา แต่อย่าไปติดอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป ต้องถามตัวเองว่ามันมีอะไรบวกหรือลบกับเราบ้าง ถ้าบวกเราจะเอามาทำได้ไหม หรือถ้ามันลบเราจะแก้ปัญหาอย่างไร” 

 

และการจะวิเคราะห์ให้ออกว่า 3 เทรนด์ มีผลบวกหรือลบกับลูกค้าและธุรกิจเราอย่างไรต้องมองแบบ ‘Future Thinking’ เพราะยุคนี้ Design Thinking ไม่พอ เพราะ Design Thinking ออกแบบมาสำหรับปัจจุบัน ทำเพื่อให้เข้าใจ Insights ลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร แต่ Future Thinking คือการมองไปใน 2 ปี 5 ปี หรือ10 ปีข้างหน้า ว่าจะมีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่ง Future Thinking ไม่ได้แปลว่าจะต้องได้คำตอบวันนี้แล้วทำวันนี้ แต่เราอาจจะได้คำตอบสำหรับ Business Plan ในปีหน้า ถ้าเราจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เราจะเกาะเทรนด์นี้ดีไหม ดีกว่าไม่คิดอะไรไว้ล่วงหน้า แล้วธุรกิจก็ถูก Disrupt ในที่สุด 

 

อภิรัตน์ยกตัวอย่างเทรนด์การท่องเที่ยว ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ข้อมูลออกมาแล้วว่าการท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิม มันจะเป็น Workation เป็นการเที่ยวเมืองรองมากขึ้น เพราะเขากังวลว่าเมืองหลักจะคนเยอะ และจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น เพราะคนไทยสามารถ Long Stay ได้แล้ว แล้วธุรกิจเราอยู่ในซัพพลายเชนการท่องเที่ยวหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ ลูกค้า หรือว่าซัพพลายเออร์ มันมีผลดีและผลเสียกับเราอย่างไรบ้าง นี่คือลักษณะของ Future Thinking

 

THE SME HANDBOOK by UOB

 

5. คิดใหม่ ทำใหม่ อยู่เสมอ

SMEs ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืน ดังนั้นต้องมองเรื่อง Future Trends ซึ่งคำว่าคิดใหม่ ทำใหม่ ทำได้ตั้งแต่สินค้าและบริการใหม่ๆ วิธีนำเสนอใหม่ๆ ช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ก็ได้ หรืออาจจะเป็น Business Model ใหม่ๆ ก็ได้ แต่จะต้องทำให้ครบทุกส่วน โดยใช้เครื่องมือ ‘Innovation Portfolio’

 

Innovation Portfolio จะแบ่งการทำธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

 

  • Core ธุรกิจปัจจุบันที่เราทำอยู่ 
  • Adjacent ธุรกิจต่อยอด (ต่อยอดได้ 2 ด้าน คือ นำเสนอสินค้าและบริการใหม่ให้ลูกค้ากลุ่มเดิม หรือนำเสนอสินค้าและบริการเก่าเสนอลูกค้ากลุ่มใหม่ 
  • New ธุรกิจใหม่ 

 

ทำไมการคิดใหม่ทำใหม่ถึงสำคัญ อภิรัตน์เปรียบเทียบกับการเล่นหุ้นว่าเราคงไม่สามารถเล่นหุ้นความเสี่ยงสูงอย่างเดียวได้ เพราะมันเสี่ยงเกินไป ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถเล่นแต่กองทุนความเสี่ยงต่ำได้ เพราะเงินอาจจะงอกไม่เร็วพอ จึงต้องมีการบริหารพอร์ตหุ้น เช่นเดียวกัน เวลาทำธุรกิจเราก็ต้องบริหาร Innovation Portfolio ด้วย ถ้าเชื่อว่าธุรกิจเดิมของเราจะอยู่ไปได้อีกสักพัก เราอาจจะเลือกลงทุน Core กับ Adjacent สัก 60% แต่เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของ New Normal เราก็ควรจะมีการลงทุน New ไว้สัก 40% เป็นต้น

 

“เปอร์เซ็นต์ที่ยกตัวอย่างยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของธุรกิจนั้นๆ ด้วย คุณต้องดูว่าธุรกิจปัจจุบัน (Core) กำลังโดน Disrupt แค่ไหน ถ้าโดนเยอะมากก็ต้องรีบเคลื่อนไหว ฉะนั้นเราควรต้องลงทุนกับการต่อยอดธุรกิจ (Adjacent) หรือมองธุรกิจใหม่ (New) มากขึ้นกว่าคนอื่น ดังนั้นไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะลงส่วนไหนเท่าไร แต่สามารถใช้เป็นหลักในการรู้จักสถานการณ์แล้วนำมาตัดสินใจในการลงทุนและการพัฒนาธุรกิจได้” อภิรัตน์ยกตัวอย่างเสริม 

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น อภิรัตน์ยังบอกอีกว่า หาก SMEs ต้องการลงทุนในธุรกิจปัจจุบัน (Core) เพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่ม Productivity, Efficiency และสร้างจุดต่างให้ธุรกิจ เช่น สั่งสินค้าผ่าน LINE Official Account แต่ถ้าต้องการเพิ่ม Customer Lifetime Value สร้างสินค้าเพื่อให้ลูกค้าซื้อของกับเราได้ตลอด ไม่ใช่ซื้อเฉพาะฤดูกาลหรือตามช่วงเวลาเท่านั้น อันนี้เป็นเรื่องของการต่อยอดธุรกิจ (Adjacent) หรือแม้แต่การขยายตลาดก็เป็น Adjacent อีกรูปแบบ ส่วนในด้านของ New คือ New S-Curve ไปให้สุดเลย จะทำให้เราหนีการถูก Disrupt ตรงนี้ได้พ้น แต่กว่าจะถึงจุดนั้นอาจต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นต้องบาลานซ์เหมือนกับการเล่นหุ้น 

 

ความสำคัญของการทำเฟรมเวิร์กก่อนลงมือทำจริง จะช่วยให้ SMEs ผิดพลาดน้อยลง

SMEs ต้องไม่ลืมว่าจุดอ่อนส่วนใหญ่คือ เงินลงทุนไม่มาก สายป่านไม่เยอะ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะใช้ต้นทุนเวลาได้อย่างถูกที่ถูกทาง เฟรมเวิร์กที่ฟังดูเป็นทฤษฎีข้างต้นจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผิดพลาดน้อยลงได้ แม้ว่าเซนส์ของคนทำธุรกิจจะรู้อยู่แล้วว่าทางไหนที่ผิดหรือถูก แต่ประเด็นคือ แล้วทางไหนที่ถูกต้องที่สุดในสถานการณ์นี้ ดังนั้นเฟรมเวิร์กจะช่วยให้มองเห็นชัดเจนขึ้นว่ามันมีทางที่ถูกมากกว่าหนึ่งทาง มากกว่าที่คุณคิดและรู้สึกได้ 

 

คำแนะนำทิ้งท้ายสำหรับ SMEs ในการปรับใช้เทคโนโลยีกับองค์กรของตัวเอง “ลูกค้าอยากได้อะไร จริตในการเสพเทคโนโลยีคืออะไร แล้วเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจจะปรากฏตัวออกมาเอง” 

 

ก่อนที่อภิวัตน์จะให้คำแนะนำถึงสิ่งที่ควรทำ ยังมีสิ่งที่ต้องระวังและไม่ควรทำอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้นั่นคือ การไล่ตามเทรนด์ ไล่ตามคีย์เวิร์ดใหม่ๆ หรือลงทุนกับเทคโนโลยีเพราะความตกใจกลัว เช่น ยุคนี้ทุกคนออนไลน์กันหมด เลยต้องออนไลน์บ้าง อย่าเริ่มแค่เพราะต้องทำบ้าง แต่ต้องถามต่อว่าถ้าจะออนไลน์สำหรับธุรกิจเรา ลูกค้าของเราควรเลือกอะไร 

 

คำถามต่อมาคือ ถ้าไม่เริ่มจากเทคโนโลยี ควรเริ่มจากอะไร อภิวัตน์ตอบว่า ต้องเริ่มจากคน 2 คน คนแรกคือตัวคุณเองในฐานะเข้าของธุรกิจ และอีกคนคือลูกค้าของคุณ 

 

“ต้องดูว่าลูกค้าอยากได้อะไร จริตในการเสพเทคโนโลยีคืออะไร แล้วเทคโนโลยีมันจะปรากฏตัวออกมาเองว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับเขา ถ้าทุกอย่างชัด เวลาเดินเข้าหาเทคโนโลยีมันจะเร็ว จะถูกต้องและตรงจุด ตรงจริตของทั้งธุรกิจเราเองและลูกค้า” 

 

ถ้าให้สรุปง่ายๆ กรอบคิดทั้งหมดที่พูดมา บังคับให้ SMEs ต้องรู้จักลูกค้าและรู้จักตัวเองผ่าน Business Model Canvas ถึงค่อยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจได้นั่นเอง 

 

“ผมรู้ว่าหลังพายุนี้ผ่านไป ทุกคนก็คงยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ถ้าเรามองด้วยภาพลบหรือเต็มไปด้วยความกังวล 5 ขั้นตอนนี้จะไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก แต่ถ้าเราใช้ Growth Mindset เชื่อว่าเราทำได้ เชื่อว่ามันเป็นไปได้ เชื่อว่าเราเป็น SMEs ที่มีข้อดีคือความคล่องตัว ถ้าวิสัยทัศน์เราชัด ธุรกิจของเราจะไปได้เร็วมากๆ” 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising