จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิคในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะทำงานในชื่อ ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค. ส่วนหน้า โดยมี พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็น ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ. ณัฐพล ได้ลงพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก ภายหลังนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์เพื่อกำกับ ดูแล ประสานงาน ขับเคลื่อน เร่งรัดและติดตาม การปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ประชุมร่วมกับผู้นำศาสนาทั้ง 4 จังหวัดและสาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัดเพื่อหามาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิคให้คลี่คลายโดยเร็ว
วันนี้ (23 ตุลาคม) นพ.อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส รวมถึงสงขลา ที่อยู่ภายใต้ ศบค. ส่วนหน้า ซึ่งมีทหารเข้าช่วยดูแลบูรณาการ การประชุมที่เกิดขึ้นผลการประชุมค่อนออกมาดี ในทิศทางเดียวกัน ศบค. ส่วนหน้าก็มีมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือเป็นการบูรณาการมากขึ้น การทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองทัพภาคที่ 4 รวมถึงกับทหารในการจัดการ หลักๆ คือการกระตุ้นการฉีดวัคซีนที่บูรณาการมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อที่ต้องปิดกิจการบางอย่างจาก ศอ.บต. การดูแลเกี่ยวกับวัฒนธรรม เรืองอะไรที่จะทำให้การทำงานของเราง่ายขึ้น การล็อกดาวน์ที่มีทหาร ตำรวจมาช่วยดูแล และเรื่องสถานศึกษาในการดูแลเรื่องการเปิดเรียนต่างๆ ก็มีบูรณาการมากขึ้น
“คือการฉีดวัคซีนต้องครบ 70%ให้ได้ ซึ่งที่จริงเราตั้งเป้าที่ปลายเดือนตุลาคมนี้ต้องให้ได้ 70% แต่ดูอัตราการฉีดกับอัตราการเข้าถึงวัคซีนแล้วน่าจะต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ตอนนี้วัคซีนไม่น่ามีปัญหาในความเพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขก็ส่งมาให้มากพอสมควร” นพ.อนุรักษ์ กล่าว
ส่วนสาเหตุการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ นพ.อนุรักษ์ มองว่ายังเป็นแหล่งชุมชนอยู่ในพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะการกลับจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นสายพันธุ์เดลตาค่อนข้างจะเยอะ ก่อนหน้านี้ที่ระบาดจะเป็นสายพันธุ์อัลฟาที่ติดยากกว่า แต่ตอนนี้เดลตาติดง่ายกว่าเยอะ ประกอบกับวิถีชีวิตของคน 3 จังหวัดที่อยู่ในชุมชน ในครอบครัว ก็เป็นสาเหตุหลัก ส่วนของจังหวัดสงขลาเป็นเรื่องของโรงงานค่อนข้างเยอะ โดยหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำวัคซีน Pfizer เข้ามาในพื้นที่การตอบรับการฉีดวัคซีนดีมาก แต่ตอนนี้เริ่มแผ่วลงหน่อย กลุ่มที่ไม่อยากฉีดจริงๆ ก็มีอยู่ ซึ่งต้องอาศัยผู้นำทางศาสนาในการช่วยเหลือดูแลให้เรา
“ก็ต้องทำให้ได้ ถามว่ามั่นใจไหม ถ้ามีผู้นำศาสนา หรือชุมชนต้องใช้มาตรการทางสังคมช่วยด้วย อย่างเช่นเรื่องของการเข้าไปในร้านอาหาร การเข้ามัสยิด การเข้าธนาคารอะไรต่างๆ ต้องมีเรื่องของวัคซีน หลายๆ จังหวัดกว่าจะเข้าจังหวัดได้ก็ต้องมีวัคซีน 2 เข็มจึงให้เข้าจังหวัด หลายๆ คนก็กลับมาฉีดวัคซีนที่เรานะครับ เพราะไปยะลาไม่ได้ ไปสงขลาไม่ได้ ก็มาฉีดวัคซีน ต้องใช้มาตรการทางสังคมร่วมกัน” นพ.อนุรักษ์ กล่าว
นพ.อนุรักษ์ ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้เรามีคนไข้ที่นอนในระบบเกือบ 5,000 ราย และตอนนี้อัตราการติดเชื้อค่อนข้างเยอะ CI (Community Isolation) เปิดเมื่อไรก็เต็มแล้ว ตอนนี้ที่เราทำไปแล้วคือ การเพิ่ม CI ประจำตำบลทุกแห่ง จะเพิ่มให้ได้อีก 4,000 เตียง ทุกตำบล อันนี้ขยับขยายพอสมควร ทันทีที่เปิดก็จะเต็ม
“มาตรการที่เราจะทำน่าจะเป็นผลที่ดีที่สุดคือการเพิ่ม HI (Home Isolation) ตอนนี้นโยบายของเราเป็นเรื่องการเข้าถึงยาให้เร็วที่สุดในกลุ่ม ATK positive รออยู่ที่บ้านเลยครับ เราจะส่งยาให้ ปัญหาอยู่ที่ว่าพอติดเชื้อแล้วต้องมาโรงบาลเพื่อเอ็กซ์เรย์ กำลังดูอยู่ว่า HI จะตัดขั้นตอนหมดเลยครับ ตอนนี้ผลบวกให้อยู่ที่บ้านก่อน และจะส่งยาไปให้ จากนั้นค่อยมาประเมินว่าเป็นอย่างไร ในเรื่องของการจัดการ ต้องเอกซ์เรย์เมื่อไรอย่างไร ตอนนี้ถ้าเราถอดรูปแบบของ กทม. ก็คือกลุ่มที่ผลบวกรับยาที่บ้าน การตอบรับค่อนข้างดี เขาลดความกังวล และมีระบบติดตามโทรถามอาการ รายงานอาการประจำวัน เราจะเพิ่ม HI เป็นหลักครับ เรื่องการรับยากับ HI น่าจะช่วยลดของ CI ได้ดีครับ” นพ.อนุรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: ตูแวดานียา มือรีงิง