×

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปลดล็อก LTV ช่วยดันยอดโอนบ้านทั่วประเทศเพิ่ม 1.8-3 หมื่นล้าน สินเชื่อบ้านปีหน้าโต 4.8-5.2%

22.10.2021
  • LOADING...
LTV

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การผ่อนเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) ด้วยการขยับเพดาน LTV เป็น 100% ชั่วคราวถึงสิ้นปี 2565 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยหนุนให้ตลาดที่อยู่อาศัยทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตลอดช่วงเวลาของมาตรการฯ จะเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้คิดเป็นมูลค่าราว 18,000-30,000ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศทั้งปี 2564 น่าจะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนหน่วย หดตัว 33.1% จากปี 2563 โดยจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด (70 จังหวัด) อาจลดลงมากกว่าครึ่งจากปี 2563 เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด

 

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน 1.54 แสนหน่วย หดตัว 33.2%YoY โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หดตัว 16.8%YoY ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ หดตัว 51.4%YoY ซึ่งมีกว่า 39 จังหวัด ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยหดตัวมากกว่า 90% และมีประมาณ 6 จังหวัด ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนต่ำกว่า 10 หน่วย นอกจากนี้ จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมยังทรงตัวระดับสูง ส่งผลทำให้การลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ชะลอลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 18 ปี  

 

อย่างไรก็ดี คาดว่าผลของการผ่อนคลายมาตรการ LTV จะเปิดโอกาสให้สินเชื่อบ้านเติบโตในกรอบที่สูงขึ้นในปี 2565 ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยสามารถทยอยฟื้นตัวกลับมา และไม่เผชิญกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่า การผ่อนปรนมาตรการ LTV ที่จะครอบคลุมไปถึงปี 2565 จะทำให้สินเชื่อบ้านปี 2565 มีโอกาสเติบโตเพิ่มเติมได้ประมาณ 0.3-0.7% ไปอยู่กรอบ 4.8-5.2% สูงขึ้นกว่ากรอบคาดการณ์ปี 2564 ที่ 4.2-4.5%  

 

ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตามจะอยู่ที่การประเมินความพร้อมในการก่อหนี้ก้อนใหม่หรือรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงด้านเครดิตและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่อาจเผชิญปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด โดยเฉพาะจากหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคก้อนอื่นๆ เช่น บัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล รวมถึงสถานการณ์รายได้และการจ้างงานที่อาจยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่ อันอาจทำให้เงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อสำหรับลูกหนี้แต่ละรายท้ายที่สุดจะแปรผันตามเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวนี้ด้วย 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X