ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนนี้ ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ บรรดาผู้นำโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั่วโลกรวมกว่า 25,000 คน จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 (26th United Nations Climate Change Conference) หรือเรียกง่ายๆ ว่า COP26
การประชุม COP26 ถือเป็นการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญ เพื่อผลักดันความพยายามในการลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศแปรปรวน
ขณะที่ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้ถูกจับตามองว่าอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกในอนาคต โดยรายละเอียดและความสำคัญของการประชุม COP26 มีดังนี้
อะไรคือ COP26?
การประชุม COP ที่ย่อมาจาก Conference of the Parties หรือ ‘การประชุมหลายฝ่าย’ เป็นการประชุมประจำปีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ที่มีการลงนามตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้ลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหลีกเลี่ยงอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
โดยการประชุม COP26 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน หลังจากที่เลื่อนมานานกว่า 1 ปี จากกำหนดเดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวและความร่วมมือด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่การลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 ที่มีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และเป้าหมายใหญ่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า สิ่งสำคัญสำหรับโอกาสเพื่อบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส คือการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกให้ได้ 45% ภายในปี 2030 และลดการแพร่กระจายลงจนเหลือ 0 ภายในปี 2050
ซึ่งในการประชุม COP26 นี้ เป็นโอกาสสำคัญที่ทั่วโลกจะกำหนดแผนตัดลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 ตามที่ให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีส
ขณะที่คาดว่าจะมีผู้นำโลกมากกว่า 120 ประเทศเข้าร่วมประชุมในช่วง 2-3 วันแรก ก่อนที่บรรดาผู้แทน รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า 25,000 คน จะร่วมประชุมเพื่อหารือรายละเอียดและแนวทางดำเนินงาน
ซึ่งบรรดาผู้นำโลกจะใช้โอกาสในเวทีประชุม COP26 เพื่อพูดคุยและชี้แจงว่าได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง และติดตามความคืบหน้าจากการประชุมรอบที่แล้ว คือ COP25 ที่จัดขึ้นในกรุงมาดริดของสเปน เมื่อปี 2019
จะมีการตัดสินใจอะไรบ้างใน COP26?
ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดแผนตัดลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาตั้งแต่ก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้น แต่ในช่วงการประชุมตลอด 2 สัปดาห์ คาดว่าอาจมีการประกาศแนวทางดำเนินการใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าเป็นเรื่องทางเทคนิคและกฎระเบียบที่จำเป็นตามความตกลงปารีส เช่น
- เร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้เร็วขึ้น
- เร่งยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน
- การดำเนินการเพื่อลดการตัดต้นไม้ให้น้อยลง
- การคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น การสนับสนุนงบประมาณสำหรับระบบป้องกันชายฝั่ง
คาดว่าในระหว่างประชุมจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากไปร่วมชุมนุมประท้วง เช่น เรียกร้องให้มีการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือน้ำมันในทันที
ทุกประเทศจะต้องลงนามในการประชุม ซึ่งอาจรวมถึงการให้คำมั่นหรือข้อผูกพันที่เฉพาะเจาะจง และคาดว่าจะมีการประกาศปฏิญญาหรือแถลงการณ์ร่วมกันภายหลังการประชุม
จะมีอุปสรรคอะไรไหม?
ระหว่างประชุม COP26 คาดว่า หลายประเทศจะมีการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวกับ ‘เงิน’ และ ‘ความยุติธรรม’ ในการดำเนินการเพื่อลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนเรียกร้องเงินชดเชยจากผลกระทบของสภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีส่วนในการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า แต่กลับต้องเผชิญผลกระทบเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มากกว่า
โดยประเทศเหล่านี้ยังต้องการเงินเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งอาจหมายถึงการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่ยังพึ่งพิงพลังงานจากถ่านหินหรือเขื่อนผลิตไฟฟ้า
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บรรดาประเทศร่ำรวยให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยประเทศที่ยากจนในการรับมือกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่จากการเปิดเผยของ UN ในปีที่ผ่านมา คาดว่าเงินช่วยเหลือที่ประเทศร่ำรวยมอบให้นั้นจะไม่เป็นไปตามเป้า
นอกจากนี้ในระหว่างประชุมคาดว่ากลุ่มผู้สังเกตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกจะจับตามองท่าทีของประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่โดยเฉพาะจีน ซึ่งคาดว่าจะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ก่อมลพิษและแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดรายใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งยังมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกด้วย
COP26 จะกระทบชีวิตเราอย่างไร?
คำมั่นสัญญาและแผนดำเนินการต่างๆที่จะมีขึ้นในการประชุม COP26 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือการเปลี่ยนแปลงไปใช้ไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานสะอาดอื่นๆ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า COP26 ประสบความสำเร็จ
สำหรับสหราชอาณาจักรในฐานะประเทศเจ้าภาพ เชื่อว่าจะแสดงความต้องการให้ทุกประเทศสนับสนุนแถลงการณ์ที่เข้มแข็งจากการประชุม COP26 ที่สะท้อนความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี 2030 และลดลงเหลือ 0 ภายในปี 2050
ซึ่งคาดว่าที่ประชุมยังต้องการคำมั่นสัญญาที่เฉพาะเจาะจงในการยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินและรถยนต์พลังงานน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าบรรดาผู้นำโลกได้ปล่อยปละละเลยการดำเนินการเพื่อยับยั้งปัญหานี้จนสายเกินไป และไม่ว่าจะมีการตกลงใดๆ เกิดขึ้นในการประชุม COP26 แต่ก็ไม่อาจนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้
ภาพ: Photo by Christopher Furlong / Getty Images
อ้างอิง: