กลายเป็นเรื่องถกเถียงเสียงแตกออกเป็นสองฝั่งทันที เมื่อ DC Comics ออกมาคอนเฟิร์มอย่างเป็นทางการว่า ‘ซูเปอร์แมนเปิดตัวเป็นไบเซ็กชวล’ ซึ่งอันที่จริงแล้วซูเปอร์แมนคนที่ว่านี้คือ ‘น้อนจอน’ หรือ ‘โจนาธาน เคนต์’ ลูกชายของ ‘คาร์ล-เอล’ หรือ ‘คลาร์ก เคนต์’ ซูเปอร์แมนที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันต่างหาก แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือปฏิกิริยาที่หลากหลายของบรรดาแฟนๆ ซูเปอร์ฮีโร่คอมิกเกี่ยวกับเรื่องนี้
เมื่อน้อนจอนรับเสื้อคลุมสืบต่อสัญลักษณ์ ‘S’ จากป๋าคลาร์กแล้ว Come Out ออกจากตู้เสื้อผ้า
น้อนจอนสืบต่อสัญลักษณ์ ‘S’ แห่งความหวังบนหน้าอกต่อจากพ่อ แล้วทำหน้าที่ปกป้องผู้คน
ผู้คนทั่วโลกต่างก็คุ้นเคยกันดีกับคาแรกเตอร์ของผู้อพยพแห่งดวงดาวคริปโตเนียนที่ล่มสลายอย่าง ‘คาร์ล-เอล’ หรือ ‘คลาร์ก เคนต์’ ซึ่งกลายมาเป็นซูเปอร์แมน ฮีโร่ขวัญใจคนทั่วโลกมานานกว่า 8 ทศวรรษแล้ว ถ้าจะให้พูดถึงซูเปอร์แมนแล้วต้องถือว่าเป็นซูเปอร์ฮีโร่เบอร์ 1 ระดับแถวหน้า เกรด AA และคงจะไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย (Masculinity Icon) ทว่าในพหุจักรวาลอันยิ่งใหญ่ของ DC ที่รีบู๊ตกันมาหลายต่อหลายครั้ง ก็มีการสร้างตัวละครใหม่ๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันอยู่ตลอดเวลา รวมถึง ซูเปอร์แมนบุตรแห่งคาร์ล-เอล (Superman: Son of Kal-El) คอมิกซึ่งเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาของ DC ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวของ โจนาธาน เคนต์ หนุ่มน้อยลูกครึ่งคริปโตเนียนและชาวโลกในวัย 17 ปี ผู้รับสืบทอดเสื้อคลุมและสัญลักษณ์ซูเปอร์เอส ทำหน้าที่ปกป้องโลกต่อจากป๋าคลาร์ก ซึ่งอันที่จริงก่อนหน้านี้น้อนจอนก็เคยปรากฏบทบาทอยู่ในทั้งคอมิกและซีรีส์ลำดับก่อนๆ ของ DC มาไม่น้อย
คอมิกซีรีส์ Superman: Son of Kal-El
เรื่องราวในฉบับแรกๆ ของคอมิกชุด Superman: Son of Kal-El ซูเปอร์แมนจอนได้ต่อสู้กับไฟป่า ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปราบเหตุการณ์ยิงกันในโรงเรียนไฮสคูล และประท้วงต่อต้านการเนรเทศผู้ลี้ภัย จนเมื่อไม่กี่วันก่อน ข่าวล่าสุดที่คอนเฟิร์มมาแล้วจากทาง DC คือน้อนจอนยังจะเปิดตัวว่าเป็นไบและมีความสัมพันธ์รักโรแมนติกกับเพื่อนของเขา นั่นคือนักข่าวหนุ่มสวมแว่นตาผมสีช็อกกิ้งพิงก์ ผู้อพยพชาว Gamorran นาม ‘เจย์ นากามูระ’ ในคอมิก Superman: Son of Kal-El ฉบับที่ 5 ซึ่งจะปล่อยออกมาให้อ่านกันในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่กำลังจะถึงนี้ และทาง DC ได้ถือจังหวะของ National Coming Out Day หรือ ‘วันแห่งการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ’ ในการประกาศข่าวสำคัญดังกล่าว เพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของเหล่าผู้คนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ
ซูเปอร์แมน ‘จอน เคนต์’ กำลังจะคบหากับนักข่าวหนุ่ม ‘เจย์ นากามูระ’
‘เจย์ นากามูระ’ เป็นนักข่าวหนุ่มที่ทำสำนักข่าวออนไลน์ The Truth และมี ‘โลอิส เลน’ แม่ของน้อนจอนเป็นไอดอล
ซูเปอร์แมนเป็นไบเป็นเรื่องยัดเยียดและการเมืองมากเกินไป?
ทันทีที่ข่าวอย่างเป็นทางการดังกล่าวออกมา ก็มีทั้งเสียงชื่นชมเห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากแฟนๆ คอมิกที่เห็นต่าง ทำนองว่าเป็นการยัดเยียดหรือเป็นเรื่องการเมืองเกินไปบ้างล่ะ เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน DC เองก็เพิ่งเปิดตัวให้โรบินเป็นไบเซ็กชวลไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน และยังไม่นับตัวละคร LGBTQ+ อื่นๆ ก่อนหน้านี้อีก ซึ่งต่อไปนี้คือบางคอมเมนต์จากแฟนๆ ที่เราขอนำมาลงมาดูให้เห็นกันจะๆ
“ผมไม่ใช่คนอคติเรื่องเพศนะครับ แต่ในฐานะแฟน DC และคนอ่านคอมิก รู้สึกว่าหลังๆ มานี้จะยัดเยียดกันบ่อยจนเกินไปแล้ว”
“ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้คอมิกโดนมังงะรุกพื้นที่เพราะดันชอบนำเสนอเกี่ยวกับปัญหาการเมือง ความเท่าเทียมกันทางสีผิว ความหลากหลายทางเพศ มีแต่เรื่องน่าเบื่อที่ยัดเยียดใส่คนอ่าน ขณะที่มังงะนำเสนอเนื้อหาสนุกเพลินๆ ไม่มีประเด็นพวกนี้มารบกวนหรือเชิดชูจนออกนอกหน้า”
“คอมิก DC นี่มันตกต่ำสุดๆ คนอ่านพากันด่ายับ ส่วนใหญ่ด่าเสร็จเเล้วก็ไม่ซื้ออ่าน ไม่เเปลกใจเลยจริงๆ ที่คนอ่านหลายคนเขาหันไปอ่านมังงะเเทน”
นี่เป็นเพียงความคิดเห็นบางส่วนในทำนองที่ไม่เห็นด้วยเมื่อ DC ประกาศเรื่อง จอน เคนต์ เป็นไบเซ็กชวลออกมา ซึ่งก็พอจะทำความเข้าใจได้กับประวัติของ DC ที่เปิดตัวละครที่เป็น LGBTQ+ ออกมาโดยตลอด และยิ่งถี่ขึ้นในช่วงหลังๆ นอกจากนี้ด้วยตัวของซูเปอร์แมนซึ่งถือเป็นฮีโร่หลัก ซึ่งในแง่หนึ่งบุรุษเหล็กแห่งโลกคอมิกยังเป็น ‘Masculinity Icon’ หรือสัญลักษณ์แห่งความเป็นชายอันทรงพลังมาโดยตลอด จึงถือเป็นเรื่องที่จะต้องส่งแรงสั่นสะเทือนเป็นธรรมดา
ซูเปอร์แมนแอ๊วกับผู้ชาย มีบางคนที่รับไม่ได้
โดยส่วนตัวอยากจะบอกกับผู้คนที่ออกตัวว่าไม่ได้เป็น Homophobia แต่รู้สึกรำคาญรับไม่ได้ทนไม่ไหวกับการที่น้อนจอนเปิดตัวว่าเป็นไบใจเกเรว่า “ฮัลโหล สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ Modern World ในปี ค.ศ. 2021 ห้วงเวลาที่สังคมโลกสมัยใหม่ให้ค่ากับความหลากหลายและความเท่าเทียม” ซึ่งถ้าจะให้พูดกันจริงๆ แล้วก็อยากจะขอถามกลับให้ได้ลองคิดกันดูอีกทีว่า ที่คุณพี่บอกว่า DC ยัดเยียดเอาเรื่องเพศสภาพและการเมืองมาใส่มากเกินไปนั้นมันจริงหรือเปล่า เพราะว่าในแง่หนึ่ง การ์ตูนไม่ว่าจะเป็นคอมิกหรือมังงะต่างก็สะท้อนภาพสังคมในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่ตลอดเวลา หรือว่าผู้ที่พูดนั้นไม่รู้ว่าโลกนี้ได้เดินมาไกลไปถึงไหนกันแล้ว และถ้าเป็นแฟน DC จริงก็น่าจะรู้ว่า DC เป็นค่ายคอมิกที่หัวก้าวหน้าและยืนหยัดในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากกว่าทางฝั่ง Marvel เสียอีก (แม้ในแง่หนึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นการไล่ตามกระแสอย่างฉาบฉวยก็ตาม) และสำหรับที่ว่ายัดเยียดกันเกินพอดีนั้นก็นึกสงสัยเหมือนกันว่าแล้วคอมิกซูเปอร์ฮีโร่ที่ผ่านมานั้นมีตัวละครทั้งวายร้ายและฮีโร่ที่เป็นภาพสะท้อนของเพศสภาพต่างๆ เท่ากับโลกจริงๆ ที่เราอาศัยอยู่หรือเปล่า เพราะถึงจะทยอยเปิดตัวกันออกมาในช่วงหลังๆ ก็ยังมีสัดส่วนของรักต่างเพศมากกว่าอยู่ดี
แล้วคำถามสำคัญก็คือว่าถ้ามีแฟนคอมิกซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็น LGBTQ+ ต้องการจะได้ดูคอมิกมีตัวละครฮีโร่ที่เป็นตัวแทนเพศสภาพของพวกเขาเองกันบ้างล่ะ พวกเขาจะมีสิทธิที่จะได้รับมันหรือเปล่า? (ถ้าพวกเขาเสียเงินซื้ออ่านถูกลิขสิทธิ์เหมือนกัน) สำหรับในประเด็นนี้เราอยากจะให้ทุกคนได้ฟังปากคำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของ DC กันดูเสียก่อน
ปากคำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทาง DC
ทอม เทย์เลอร์ นักเขียนคอมิกซีรีส์ชุด Superman: Son of Kal-El เล่าว่า เมื่อเขาได้รับเสนอให้ทำงานนี้ครั้งแรก เขาพยายามคิดไตร่ตรองอย่างหนักว่าซูเปอร์แมนของวันนี้ควรเป็นอย่างไร
“มันทำให้ผมคิดว่าถ้าจะมีซูเปอร์แมนผู้กอบกู้โลกเป็นชายแท้ผิวขาวขึ้นมาอีกสักคน เราคงจะพลาดโอกาสอะไรไปแล้วล่ะ ถ้าเป็นสักช่วงสิบปีก่อนหน้านี้ผมคิดว่ามันคงจะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำแบบนี้ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผมคิดว่าตอนนี้มันน่าจะเป็นไปได้ และเมื่อผมนำเสนอความคิดนี้กับทาง DC พวกเขาก็บอกว่ากำลังนึกถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน
เจย์ นากามูระ มีบทบาทอยู่เคียงข้างซูเปอร์แมนจอน ในห้วงเวลาแห่งความอ่อนล้าสิ้นหวัง
“อย่างไรก็ตาม มักจะมีคนที่ใช้ไม้บรรทัดเก่าคอยบอกเสมอว่า ‘อย่าใส่การเมืองลงในการ์ตูน’ แต่พวกเขาลืมนึกไปว่าหนังสือการ์ตูนทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างมีบางคนที่ไม่ตระหนักว่า X-Men ของฝั่ง Marvel เองก็มีความละม้ายกับขบวนการสิทธิพลเมือง
“ผมเชื่ออยู่เสมอว่าทุกคนล้วนต้องการฮีโร่ และทุกคนสมควรที่จะเห็นบางส่วนของตัวเขาเองอยู่ในฮีโร่ที่พวกเขาชื่นชม และในวันนี้ซูเปอร์แมนฮีโร่ผู้แข็งแกร่งที่สุดบนโลกก็ได้เปิดเผยตัวตนของตัวเองออกมา มีหลายๆ คนที่ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วร้องไห้ พวกเขานึกไม่ถึงว่าในชีวิตนี้จะได้มีโอกาสเห็นตัวเองอยู่ในซูเปอร์แมน ฮีโร่ที่ทรงพลังที่สุดในคอมิก”
ในขณะเดียวกัน จอห์น ทิมส์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ก็ได้กล่าวเสริมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มากที่ทำอย่างนั้นกับจอนในฐานะซูเปอร์แมน
“ในขณะที่เราเห็นจอนเติบโตขึ้นต่อหน้าต่อตา มันจะน่าสนใจมากเลยที่จะได้เห็นเขาไม่เพียงแต่พยายามค้นหาตัวเอง แต่ยังรวมถึงการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในโลกยุคสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน ซึ่งในอีกแง่หนึ่งผมหวังว่าการที่ชายผู้ทรงพลังที่สุดในโลกได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBT จะทำให้เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรอีกต่อไปในอนาคต”
ส่วนในประเด็นเรื่องการยัดเยียดเกินไปหรือเปล่านั้น ผู้ที่น่าจะโต้ประเด็นดังกล่าวได้ดีที่สุดน่าจะเป็น จิม ลี ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์ของ DC
“เราพูดกันมามากแล้วเกี่ยวกับพลังในการเล่าเรื่องของพหุจักรวาล DC (DC Multiverse) และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าทึ่ง ยิ่งในยุคสมัยใหม่ที่เรื่องราวของ DC นำเสนอผ่านหลายสื่อ ย่อมหมายความว่ามี จอน เคนต์ อยู่ในเวอร์ชันอื่นๆ อีก เราสามารถให้จอนสำรวจตัวตนของเขาในคอมิก เช่นเดียวกับที่จอนได้รู้ถึงเบื้องลึกของครอบครัวของเขาผ่านทางทีวีซีรีส์อย่าง Superman & Lois พวกเขาดำรงอยู่ร่วมกันในโลกและห้วงเวลาของพวกเขาเอง และแฟนๆ อย่างเราก็สามารถเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของจอนทั้งสองได้พร้อมกัน”
แปลได้อย่างง่ายๆ ว่ามีเวอร์ชันที่บอกเล่าเรื่องราวของ จอน เคนต์ ในฐานะซูเปอร์แมนที่เป็น LGBT และก็มีเรื่องราวของจอนและซูเปอร์แมนในแบบอื่นๆ ให้แฟนๆ ได้เลือกเสพ อันนำมาซึ่งคำตอบของทาง DC ว่านี่คือการยัดเยียดหรือเปล่า ในเมื่อผู้ชมแต่ละคนล้วนมีสิทธิในการเลือกชมของตัวเอง (ถ้าไม่ชอบก็แค่ไม่ดูไม่อ่านก็ได้)
เมื่อสัญลักษณ์ ‘S’ บนหน้าอกของซูเปอร์แมนหาได้มีความหมายถึงความเป็นชาย หากแต่หมายถึง ‘ความหวัง’ ตั้งแต่อดีตเราได้เห็นซูเปอร์แมนยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้โลกดีขึ้นตลอดมา และกลุ่มคนรักต่างเพศเองก็มีเรื่องราวของซูเปอร์แมนชายรักหญิงอย่างป๋าคลาร์ก เป็นของตัวเองกันมานานถึงแปดสิบกว่าปีแล้ว แต่ในโลกยุคใหม่ที่แตกต่างจากอดีต ประชาคมโลกจำนวนมากต่างหันมาให้ค่านิยมกับสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายกันมากกว่าที่เคยเป็นมา (ยินดีต้อนรับสู่ปี ค.ศ. 2021 อีกครั้งค่ะ 🙂 คุณจะมองเรื่องนี้โดยใช้โลกทัศน์แบบเก่าแล้วจะยังมั่นเด๋อบอกว่าซูเปอร์แมนเป็นไบเป็นการ ‘ยัดเยียด’ หรือจะใจกว้างยอมมอบสิทธิให้เพื่อนมนุษย์ LGBTQ+ ได้มีซูเปอร์แมนของพวกเขาเองสักคน เพื่อที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่สำหรับใครหลายคนขึ้นอีกสักนิด…เราเลือกกันได้ว่าจะเป็นคนแบบไหน หรือคุณพี่เป็น Homophobia เบาๆ แล้วดันไม่รู้ตัวกันคะคุณพี่
อ้างอิง: