×

หุ้นเงินทุนและธนาคารเผชิญความเสี่ยงจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อฯ

15.10.2021
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

สคบ. เตรียมทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร ในวันที่ 20 ตุลาคม 2564 โดยหลักเกณฑ์ที่จะมีการพิจารณาได้แก่ 

 

  1. การกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปี 
  2. ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร ห้ามเก็บหนี้ส่วนขาด (คืนรถจบหนี้) 
  3. การปิดสัญญาก่อนครบอายุ ต้องให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 80% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

 

กระทบอย่างไร:

สัปดาห์นี้ราคากลุ่มเงินทุนและการเงิน (SETFIN) ปรับตัวลง 1.5%WoW ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวลง 0.3%WoW (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564)

 

มุมมองต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับสินเชื่อเช่าฯ:

SCBS เชื่อว่าหลักเกณฑ์ที่เสนอมานั้นค่อนข้างนำมาใช้ปฏิบัติได้ยากในบางมุมและบางกลุ่ม (โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์) หากหลักเกณฑ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะต้องเข้ามาควบคุมธุรกิจเช่าซื้อในทางปฏิบัติ ข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อในหลายๆ ด้าน ประกอบด้วย

 

  1. ผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อลดลง การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบด้านลบต่อผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในช่วง 22% ถึง >30% ผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไม่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ย 15% ได้ เนื่องจากธุรกิจนี้มี Credit Cost สูง ขณะที่หลักเกณฑ์นี้จะไม่มีผลกระทบต่อสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ที่ 4-6% สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ และ 8-12% สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว 

 

สำหรับสถาบันการเงินภายใต้การวิเคราะห์ของ SCBS การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย 15% จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ได้แก่ SAWAD (12% ของสินเชื่อทั้งหมด) MTC (3%) AEONTS (2%) และ TISCO (ไม่ถึง 1%) จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวต่อประมาณการกำไรปี 2564 ของ SCBS พบว่าการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย 15% จะส่งผลกระทบต่อกำไรของ SAWAD ราว 10% (ใช้สมมติฐานว่ามีสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในสัดส่วน 12% โดยปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ย 30%) และส่งผลกระทบต่อกำไร MTC ราว 3% (ใช้สมมติฐานว่ามีสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในสัดส่วน 3% โดยปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ย 22%) ในขณะที่จะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรของ AEONTS และ TISCO ทั้งนี้การให้ส่วนลด 80% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระจะสร้างแรงกดดันขาลงต่อสินเชื่อเช่าซื้อ

 

  1. Credit Cost สูงขึ้น การอนุญาตให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร ห้ามเก็บหนี้ส่วนขาด (คืนรถจบหนี้) อาจจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะทำให้ความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดชำระหนี้ (PD) และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ต่อยอดหนี้ (LGD) สูงขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหา Moral Hazard

 

  1. การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลง มาตรการนี้อาจจะส่งผลทำให้การเติบโตของสินเชื่อเติบโตชะลอตัวลง เนื่องจากผู้ประกอบการจะปรับแนวทางการให้สินเชื่อให้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง กล่าวคือกำหนดให้ชำระเงินดาวน์สูงขึ้นเพื่อลด LTV ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น และผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อรถได้น้อยลง และทำให้ยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ใหม่ลดลง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X