การที่ House of Dior จะจัดงานอะไรขึ้นมาสักครั้ง แน่นอนว่างานนั้นย่อมการันตีได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการที่มาพร้อมความพิถีพิถันอย่างไร้ที่ติ โดยเฉพาะในงานล่าสุด Miss Dior Exhibition ที่จะถูกจัดขึ้นที่คฤหาสน์ลา ก็อลล์ นัวร์ โดยมีพิธีเปิดนิทรรศการเมื่อ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งสถานที่จัดงานอย่าง Le Château de La Colle Noire นั้นเป็นบ้านหลังสุดท้ายของ มร.คริสเตียน ดิออร์ ที่ Montauroux ในเมืองกราซ ประเทศฝรั่งเศส กับการร่วมกันสืบทอดความรักที่เหล่านักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นผู้โด่งดังมีต่อศิลปะและอิสตรี จึงเป็นที่มาที่ House of Dior ได้ระดมศิลปินหญิงต่างแขนง ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกถึง 12 คนให้มาร่วมกันแสดงอิสระทางความคิด และถ่ายทอดมุมมองของตนอย่างเสรีเพื่อนิทรรศการ Miss Dior และเป็นโอกาสที่ Dior ได้ต้อนรับเซเลบริตี้ และ House Friends เช่น Iris Law, Nico Rosberg, Rose Bertram, Lily Krug, Gina Stiebitz, Aura Garrido และเพื่อเป็นการชื่นชมผลงานของเหล่าศิลปิน อันได้แก่ Ingrid Donat, Sabine Marcelis, Hua Wang, Mimosa Echard, Bianca Beck, Marcella Barcelo’, Pia Maria Raeger, Morgane Tschiember, Bethan Laura Wood, Anya Kielar, Daishi Luo และ Haruka Kojin ผู้ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานจากแรงบันดาลใจของขวดน้ำหอม Miss Dior อันเป็นไอคอนด้วยจิตวิญญาณเฉกเช่นความเป็นสัญลักษณ์ สำหรับนิทรรศการได้เปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม -1 พฤศจิกายนนี้ เป็นการเชื้อเชิญอย่างเป็นพิเศษครั้งแรกที่ทั้งสวนและสถานที่ภายในของ Le Château de La Colle Noire ได้รับการจัดวางด้วยผลงานทั้งภาพและรูปปั้นในงาน
ซึ่งครั้งนี้ THE STANDARD POP จะพาทุกคนไปสำรวจความน่าตื่นเต้นเหล่านี้ผ่านเรื่องราวอันโดดเด่นของงาน Miss Dior Exhibition ให้ทุกคนได้ทึ่งไปชิ้นงานร่วมสมัยของศิลปินชื่อดังที่มาร่วมกันโชว์ผลงานสุดพิเศษเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน
การรวมตัวกันของ 12 ศิลปินหญิงชื่อดัง
ศิลปินหญิงต่างแขนง 12 คนผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ต่างเต็มใจมาร่วมกันแสดงอิสระทางความคิด และถ่ายทอดมุมมองของตนอย่างเสรีผ่านการจัดนิทรรศการอันมีความพิเศษเหนือธรรมดาของความเป็น Miss Dior ที่ถูกส่งผ่านมาสู่ผลงานอันโดดเด่นเป็นหนึ่งของพวกเธอ แต่ละชิ้นล้วนปรากฏมุมมองร่วมสมัยของแต่ละศิลปินอันมีต่อขวดรูปทรงแบบฉบับ, สัญลักษณ์ต่างๆ ทางการออกแบบ และจิตวิญญาณของ Miss Dior และเพราะน้ำหอมอันโด่งดังระดับตำนานกลิ่นนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นตามถ้อยพรรณนาของ คริสเตียน ดิออร์ ถึง “บรรยากาศยามค่ำคืนในเมืองโพรวองซ์เต็มไปด้วยความสว่างสดใสจากประกายแสงวิบวับของบรรดาหิ่งห้อยที่ออกมาเริงระบำตามลำนำกลิ่นมะลิสด ซึ่งร่วมบรรเลงไปตามท่วงทำนองของรัตติกาลและผืนแผ่นดิน”
Miss Dior Exhibition เปิดให้เข้าชม ณ คฤหาสน์ลา ก็อลล์ นัวร์ (Château de La Colle Noire) 15 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายนนี้
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้จะเปิดให้เข้าชมในวันที่ 15 ตุลาคม 2021 ณ คฤหาสน์ลา ก็อลล์ นัวร์ (Château de La Colle Noire) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบทใกล้ตัวเมืองกราซ อันเป็นสถานที่ซึ่งนักออกแบบแฟชั่นได้ตกแต่งด้วยตัวเองตามสุนทรียศิลป์อันมีต่อธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งในบริเวณสวนและภายในตัวอาคาร ซึ่งได้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานหลากวิสัยทัศน์ของศิลปินยุคใหม่ผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม หรือศิลปะจัดวาง สำหรับเปิดให้ผู้มาเยือนได้รับชมอย่างใกล้ชิด
ในฐานะน้ำหอมแห่งความรักและเสรีภาพ Miss Dior ถ่ายจิตวิญญาณและมุมมองทางความคิดของ คริสเตียน ดิออร์ ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ระหว่างที่เขาวาดภาพร่างแบบรูปทรงเสื้อผ้าชุดต่างๆ ในคอลเลกชัน New Look เพื่อเน้นถึงความชัดเจนของเสน่ห์เย้ายวนแห่งอิสตรีในผลงานแฟชั่นที่ตนสรรค์สร้าง เขาได้ตัดสินใจพัฒนาน้ำหอมตระกูลผสมแนวกลิ่นใบไม้เขียว (Green Chypre) ขึ้น พร้อมกับนำสมญานามที่ใช้เรียก แคทเธอรีน ดิออร์ น้องสาวซึ่งเขาชื่นชมและยกย่องในฐานะผู้หญิงหัวใจแกร่ง มาตั้งชื่อน้ำหอมกลิ่นนี้ ก่อนจะกลายเป็นชื่อของน้ำหอมสัญลักษณ์ประจำห้องเสื้อแฟชั่น Miss Dior หรือ ‘คุณหนูดิออร์’ คือสุภาพสตรีที่สุขุม รอบคอบ เจ้าของชะตาชีวิตพลิกผัน และโลดโผน จากการเสียสละตนเองเข้าร่วมเป็นสมาชิกของหน่วยใต้ดินต่อต้านนาซีผู้ยึดครองฝรั่งเศส (French Resistance) หลังเอาตัวรอดจากการเนรเทศมาได้ แคทเธอรีน ดิออร์ ก็กลับมาใช้ชีวิตอย่างผู้หญิงทั่วไป ทุ่มเทความรักอันมีต่อมวลดอกไม้ไปกับการเพาะปลูก ในขณะเดียวกับที่ผู้พี่ชายก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นที่ระลึกถึงวีรกรรมของเธอ ด้วยการนำสมญา Miss Dior ที่เขาใช้เรียกเธอด้วยความรักใคร่เอ็นดูมาตั้งชื่อน้ำหอมเมื่อปี 1947
เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่านามนี้จะครองความโด่งดัง เป็นที่รู้จักในฐานะน้ำหอมกลิ่นอมตะ ในครั้งเริ่มวางจำหน่ายนักออกแบบแฟชั่นเพียงแค่ต้องการ “ได้เห็นเสื้อผ้าชุดต่างๆ ของตนล่องลอยออกมาจากขวดน้ำหอมกลิ่นนี้ทีละชุด ทีละชุด ประดับกลิ่นหอมแห่งความปรารถนานี้ให้แก่ผู้หญิงทั้งหลาย” แม้กระทั่งงานออกแบบขวดก็สามารถถ่ายทอดเนื้อแท้แห่งความเป็นผู้หญิง พร้อมกับบ่งบอกถึงการเป็นน้ำหอมจากห้องเสื้อแฟชั่นอย่างชัดเจนผ่านโบประดับทำจากริบบิ้นผ้าแจ็คการ์ดเนื้อซาติน ทอลายจุดประกระจัดกระจายด้วยฝีมือของช่างผู้เปี่ยมทักษะความชำนาญอย่างที่สุดของฝรั่งเศส
แต่ละสถานที่ล้วนมีร่องรอยการอยู่อาศัยของผู้เป็นเจ้าของคฤหาสน์ลา ก็อลล์ นัวร์ ในเขตชนบทวารัวส์ ก็ยังคงมีกลิ่นอายของ คริสเตียน ดิออร์ คงอยู่เช่นเดียวกัน นักออกแบบแฟชั่นผู้รู้จักโพรวองซ์เป็นอย่างดีจนขึ้นใจ เนื่องจากเคยพำนักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านกัลลิอางร่วมกับบิดาของตน และแคทเธอรีน ผู้เป็นน้องสาวระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความประทับใจต่อเสน่ห์อันงดงามของถิ่นฐานแห่งนี้เป็นแรงผลักดันให้เขาดำเนินการฟื้นฟูบูรณะคฤหาสน์ ซึ่งตนได้ตัดสินใจซื้อมาเมื่อปี 1950 ด้วยความรักในธรรมชาติและศิลปะจนทำให้อาคารที่พักสุดโอ่อ่าตระการตาแห่งนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความรักใคร่และไมตรีจิต เขาได้ออกแบบสวนโดยรอบด้วยตัวเองเสมือนกับเป็นชุดราตรียาว ซึ่งกรุ่นไอหอมละมุนจากกุหลาบเมย์โรสและมะลิเขี้ยวงูนับพัน ในไม่ช้าคฤหาสน์ลา ก็อลล์ นัวร์ ก็กลายเป็นบ้านที่แท้จริงของเขา สถานที่ที่เขาปรารถนาจะมาพักผ่อนเพื่อผ่อนคลาย ให้ห่างไกลจากความวุ่นวายในกรุงปารีสและความเร่งรีบของทุกกิจกรรมในห้องเสื้อบนถนนมงแตญ “ตอนนี้ ผมคิดว่าที่นี่” เขามักกล่าวเช่นนั้น “เป็นบ้านที่แท้จริงของผม บ้านหลังที่มอบทุกแง่มุมความรู้สึกและอารมณ์ให้แก่ผมได้อย่างครบครัน บ้านหลังที่พาผมกลับไปชีวิตวัยเด็กยามอยู่ท่ามกลางการปกป้องของสวนรอบตัวบ้าน”
เมื่อนักออกแบบแฟชั่นได้จากไปอย่างปัจจุบันทันด่วนในปี 1957 งานบูรณะตกแต่งคฤหาสน์แห่งนี้ยังไม่แล้วเสร็จ หลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมา ทายาทของเขาก็ขายสถานที่แห่งนี้ไป จนในที่สุดก็ได้กลับมาอยู่ในครอบครองของ Maison Christian Dior Parfums เมื่อปี 2013 พร้อมการดำเนินงานพลิกฟื้นคืนความรุ่งโรจน์ของพื้นที่แห่งนี้ให้กลับคืนมา นับจากนั้นคฤหาสน์ลา ก็อลล์ นัวร์ ก็ได้กลับมาเจิดจรัสความงดงามในทุกแง่มุมอีกคราผ่านดอกไม้แต่ละดอกและงานศิลป์แต่ละชิ้นที่สถิตอยู่ภายใน และด้วยนิทรรศการ Miss Dior สุดยอดผลงานมรดกของ Dior ก็ได้ทำให้ความฝันของนักออกแบบแฟชั่นผู้ล่วงลับได้กลับมาปรากฏในความเป็นจริงอีกครั้ง
คริสเตียน ดิออร์ ผู้ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากคำว่า ‘ศิลปะ’
เรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของ คริสเตียน ดิออร์ นั้นถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยคำว่า ‘ศิลปะ’ นับแต่ครั้งยังเยาว์ เขาสนใจก็แต่เพียงผลงานจิตรกรรมและงานสร้างสรรค์ชิ้นสำคัญของยุคสมัย ถึงแม้จะต้องทำตามเจตจำนงของบิดามารดาด้วยการเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไซ-โป (Sciences-Po University) เมื่อปลายทศวรรษ 1920 แทนที่จะเลือกเรียนวิจิตรศิลป์อย่างที่ตนต้องการ กระนั้นเขาก็ยังคงเติมเต็มชีวิตของตนด้วยการหมกตัวสนุกสนานอยู่ในสังคมศิลปินยุค ‘รอริง ทเวนตีส์’ (Roaring Twenties) อย่างสุดเหวี่ยง
คริสเตียน ดิออร์ อายุยังไม่ถึง 20 ปีดีด้วยซ้ำตอนพบกับ ฌอง ก๊อกโต ที่ภัตตาคาร เบอฟ ซูร เลอ ตัวต์ (Boeuf sur le Toit) และได้ผูกมิตรกับ มากซ์ ยาค็อบ กวีไฟแรงแห่งยุคเช่นเดียวกับจิตรกรคนดัง คริสติอัง เบรารด์ และด้วยเส้นสายของ ปิเอร โคล เพื่อนกวีผู้หลงใหลในงานจิตรกรรม กับนักสะสมงานศิลป์ ฌาคส์ บงฌอง เขาได้เปิดแกลเลอรีงานศิลป์แห่งหนึ่งขึ้นที่ถนนลา โบเอตี พวกเขาร่วมกันจัดนิทรรศการแสดงผลงานของทั้งศิลปินยุคใหม่ และสุดยอดศิลปินที่พวกตนชื่นชอบจาก พอล คลี ไปจนถึงปิกัสโซ รวมถึง ราอูล ดูฟี และ แม็กซ์ เอิร์นสต์
ความสนุกสนานในการทำงานกับศิลปะต้องกระทบกระเทือนอย่างหนักสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 ทว่าพวกเขาก็พยายามดิ้นรนต่อไปด้วยการผันตัวมาทำงานกับแกลเลอรีของ ปิเอร โคล บนถนนกัมบาแซเรส คริสเตียน ดิออร์ กับผองเพื่อนได้ร่วมกันสนับสนุนและเผยแพร่ผลงานจิตรกรรมที่มีความล้ำสมัยนอกกระแส ทั้งของกาตาลาน และ ซัลวาดอร์ ดาลี ตลอดจนชิ้นงานซึ่งเป็นตัวแทนศิลปะแนวเหนือจริง (Surrealism) แต่ท้ายสุด คริสเตียน ดิออร์ ก็ต้องถอนตัวไปจากธุรกิจแกลเลอรีงานศิลป์เมื่อปี 1934 อันเป็นช่วงเวลาที่ตลาดศิลปะเข้าสู่ภาวะทรุดตัวหนัก และแฟชั่นก็เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของเขามากยิ่งขึ้น
บทต่อมาของชีวิตถูกลิขิตขึ้นภายในห้องซาลอนต่างๆ ของอาคารบนถนนมงแตญ ที่นั่น ความรักซึ่งเขามีต่อศิลปะและศิลปินทั้งหลายยังคงหล่อเลี้ยงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขาในฐานะนักออกแบบแฟชั่นอย่างไม่เคยสุดสิ้น เขายังอยู่ท่ามกลางกลุ่มบุคคลผู้เปี่ยมพรสวรรค์อย่างจิตรกรภาพวาดลายเส้น เรอเน กรูโอ และนักออกแบบตกแต่งภายใน วิกเตอร์ กรังด์ปิเอร นอกจากนั้นเขายังได้พบกับ ซัลวาดอร์ ดาลี ยอดอัจฉริยะอีกครั้งในงานลีลาศเบอิสเตอกุย (Beistegui Ball) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวนิสเมื่อปี 1951 ขณะเดียวกัน คฤหาสน์ลา ก็อลล์ นัวร์ของเขาที่เมืองโพรวองซ์ ก็ได้เริ่มให้การต้อนรับบรรดาเพื่อนศิลปินและเหล่าผู้หลงใหลในงานศิลปะ ที่พำนักอันงดงามแห่งใหม่นี้คือบ้านซึ่ง คริสติยอง ดิออร์ บรรจงรังสรรค์ในทุกรายละเอียดราวกับเป็นผลงานศิลปะชั้นเลิศ จากสถาปัตยกรรมของตัวอาคารไปจนถึงภูมิทัศน์โดยรอบ
เรื่องราวเหล่านั้นกลายเป็นแพสชันสำคัญที่ก่อให้เกิด Miss Dior Exhibition
นิทรรศการ Miss Dior คือการแสดงความผูกพันอันต่อเนื่องระหว่างความรักที่มีต่อศิลปะและผู้หญิงของ คริสเตียน ดิออร์ ผู้ซึ่งต้องการทำให้ผู้หญิงทั้งหลาย ‘สวยขึ้น และมีความสุขมากขึ้น’ ด้วยการมอบอิสระทางการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ให้แก่ศิลปินหญิงรับเชิญทั้ง 12 คน อาทิเช่น ประติมากรสัญชาติฝรั่งเศส แอ็งกริด โดนาต์, นักออกแบบชาวดัตช์ ซาบีน มาร์เซลิส และ ฮวาหวัง ทัศนศิลปินชาวจีน จิตวิญญาณแห่งความเป็นศิลปินล้ำยุคหรือ ‘อาว็องการ์ด’ ของ คริสเตียน ดิออร์ นักออกแบบแฟชั่นผู้เป็นเพื่อนสนิทของเหล่าศิลปินและคู่คิดของผู้หญิงทั้งหลายในยุคสมัยเดียวกันนั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นอย่างเต็มที่ ในปี 2013 การจัดนิทรรศการ Miss Dior ที่อาคารอดีตพระบรมมหาราชวังหรือ ‘กรองด์ ปาเล่ส์’ ในกรุงปารีส ก็ได้เล่าเรื่องราวความรักของนักออกแบบแฟชั่นอันมีต่อศิลปะ ร่วมกับการจัดแสดงผลงานต้นแบบของศิลปินหญิงอีกสิบ 5 คน จาก โจแอนนา วาสคอนเซลอส ไปจนถึง ชิริน เนชาต ผู้ซึ่งล้วนอาศัยแรงบันดาลใจจากน้ำหอมกลิ่นแรกของห้องเสื้อแฟชั่นมาเป็นจุดตั้งต้นของการออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน
Directed by Romain Reglade for Parfums Christian Dior
นอกเหนือจากบทบาทของการเป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้หญิงในแวดวงศิลปะระดับสากลแล้ว House of Dior ยังมุ่งมั่นต่อพันธกิจเพื่อสิทธิและความเสมอภาคของสตรี ตลอดจนให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมการศึกษาสำหรับผู้หญิงทั่วโลก ซึ่ง ชาร์ลิซ เธอรอน เป็นผู้ริเริ่มภาพยนตร์ชุด #diorstandswithwomen และ #diorchinup คือการรวบรวมเรื่องราวอันหลากหลายของผู้หญิงซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน พลังปรารถนา และกำลังใจแกร่งกล้า ที่จะร่วมกันรับมือกับทุกโจทย์ท้าทายในชีวิตของพวกตน
ส่องลิสต์ศิลปินหญิงทั้ง 12 คน ที่ร่วมแสดงผลงานใน Miss Dior Exhibition
Ingrid Donat
ประติมากรและศิลปินนักแกะสลักชาวฝรั่งเศส เกิดปี 1957
ผลงานของ แอ็งกริด โดนาต์ มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่เฟอร์นิเจอร์แกะสลัก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัตถุดิบกับเฉดสีตามธรรมชาติของวัสดุนั้นๆ รวมถึงบรรพศิลป์, ศิลปะพื้นบ้านของชนเผ่าต่างๆ ตลอดจนลวดลายที่ใช้ในศิลปะแนวนวศิลป์ หรืออาร์ต นูโว ส่วนใหญ่เธอมักสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้บรอนซ์ เทคนิคเคลือบสี และไม้ ผ่านกระบวนการหรือกรรมวิธีตกแต่ง
Mimosa Echard
ทัศนศิลปินชาวฝรั่งเศส เกิดปี 1986
มิโมซา เอชารด์ สนใจในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศลูกผสม ทั้งในรูปแบบพื้นที่และผลงานจัดวาง ซึ่งเอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ ผลงานศิลปะจัดวางของเธอล้วนมีจุดเริ่มจากการสำรวจและศึกษาพื้นที่ที่มีจุดสัมพันธ์หรือสัมผัสเชื่อมต่อระหว่างอินทรีย์วัตถุและวัสดุเพื่อการอุปโภค บริโภค โดยแสดงให้เห็นผ่านเทคนิคหรือกระบวนการต่างๆ (ภาพปะติด, การลงสี, กระเบื้องเซรามิก)
Bianca Beck
ประติมากรและจิตรกรชาวอเมริกัน เกิดปี 1979
ผลงานของ เบียงกา เบ็ก ได้รับแรงบันดาลใจจากสรีระร่างกายของผู้หญิง รวมถึงท่าทางการเคลื่อนไหว ประติมากรรมขนาดใหญ่ของเธอคือการตั้งคำถามต่อสัมพันธภาพระหว่างพื้นที่กับบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งบางครั้งก็ทำให้นึกถึง ‘Nanas’ ประติมากรรมเปเปอร์มาร์เช่ขนาดเท่าคนจริงของ นิกกี้ เดอ แซงต์ ฟาล
Marcella Barceló
จิตรกรและนักวาดภาพลายเส้นสัญชาติสเปน เกิดปี 1992
ภาพวาดลายเส้นและจิตรกรรมลงสีของ มาร์เซลลา บาร์เซโล ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินทางท่องเที่ยวของเธอในญี่ปุ่น รวมถึงอาณาจักรงานเขียนของ ลูอิส แคร์รอล นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ภาพวาดของเธอเป็นบทสะท้อนถึงบรรยากาศหรูหราเหมือนฝันและดูยุ่งเหยิงของวัฒนธรรมป๊อป ผ่านการจำลองรูปร่างของวัยรุ่นให้ปรากฏในอีกรูปแบบตามมุมมองของเธอเอง
Pia Maria Raeder
ประติมากรและนักออกแบบชาวเยอรมัน เกิดปี 1978
เปีย มาเรีย แรเดอร์ ชอบที่จะค้นหาลูกเล่นใหม่ๆ ในการแสดงความชื่นชมซึ่งเธอมีต่อธรรมชาติ และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบศิลปะแนวนามธรรมหรือแอ็บสแตรกต์ คอลเล็กชัน Sea Anemones หรือ ‘ดอกไม้ทะเล’ อันโด่งดังของเธอ คือการรังสรรค์ความงดงามของผืนพิภพใต้ท้องทะเล โดยใช้วัสดุต่างๆ อย่างไม้ และเทคนิคลงน้ำมันชักเงา
Morgane Tschiember
ประติมากรและจิตรกรชาวฝรั่งเศส เกิดปี 1976
มอร์แกน เชียมเบอร์ เป็นศิลปินสมบูรณ์แบบซึ่งมีความโดดเด่น เป็นที่รู้จักจากผลงานสามมิติสอดแทรกการตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับสถานที่ เธอจะตรวจสอบกรรมวิธีเชิงศิลป์ที่ตนนำมาใช้ในภาพรวม ร่วมกับการใช้วัสดุสื่อกลางชนิดต่างๆ อย่างโลหะ, เซรามิก, แก้ว และไม้ ล่าสุดเธอเพิ่งได้ร่วมงานกัน Dior ในโครงการ Lady Dior Art
Bethan Laura Wood
นักออกแบบชาวอังกฤษ เกิดปี 1983
บีธาน ลอรา วูด เป็นนักออกแบบศิลปะจัดวาง, เครื่องประดับอัญมณี, ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เธอสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ โดยพิจาณาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลงานกับสถานที่ที่จะใช้ติดตั้งหรือจัดวาง ด้วยการผสมผสานงานฝีมือเข้ากับวัสดุท้องถิ่น ผลงานของเธอยังเป็นการตั้งคำถามต่อรูปแบบวัฒนธรรมการบริโภคไปพร้อมกับการหาหนทางใหม่ๆ เพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคระดับมวลชนได้อย่างยั่งยืน
Anya Kielar
ประติมากรและทัศนศิลปินชาวอเมริกัน เกิดปี 1978
ผลงานของ อันยา เคียลาร์ อาศัยทรวดทรงรูปร่างหรือลักษณะทางกายภาพของผู้หญิงมารังสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะจัดวางอันสุดวิจิตรตระการตา อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะภาพมิติแนวล้ำยุค หรืออาว็องการ์ด, ภาพปะติดแบบเหนือจริง, ประติมากรรมยุคหลังมินิมัล ตลอดจนศิลปะการตกแต่ง
Daishi Luo
ทัศนศิลปินและนักออกแบบชาวจีน
งานสร้างสรรค์ของไต้สือโล่ว คือการศึกษาหาความเป็นไปได้ต่างๆ จากคุณสมบัติของทองแดง ด้วยความชื่นชอบต่อโลหะวัตถุหลากประเภท เธอจึงให้ความสนใจต่อกระบวนการวิทยาศาสตร์และสารพัดเทคนิคที่จะนำมาใช้กับวัสดุทั้งหลายเหล่านี้ ผลงานของเธอจุดประกายความคิดให้เราได้ตรึกตรองถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างการผลิตระดับมวลชน งานฝีมือ และศิลปะ
Sabine Marcelis
นักออกแบบชาวดัตช์ เกิดปี 1985
อาณาจักรแห่งสีสันและแสงสว่างของ ซาบีน มาร์เซลิส ประกอบขึ้นจากศิลปะจัดวางและศิลปวัตถุรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งมีความโดดเด่นสะดุดตาอยู่ที่การใช้วัสดุ นักออกแบบคิดค้นหาหนทางในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับผู้ใช้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ต้องมากับสุนทรียศิลป์ทางการออกแบบอยู่เสมอ
Haruka Kojin
ทัศนศิลปินชาวญี่ปุ่น เกิดปี 1983
ผลงานจัดวางของ ฮารุกะ โคจิน ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและความผูกพันที่เรามีต่อพื้นที่หรือสถานที่ เธอให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อภาพที่ปรากฏต่อสายตา และลักษณะของการสะท้อนแสงหรือเงาสะท้อน ล่าสุดเธอเพิ่งได้ร่วมงานกัน Dior ในโครงการ Lady Dior Art
Hua Wang
ศิลปินเซรามิกและนักออกแบบชาวจีน
ผลงานเชิงทดลองของ ฮวาหวัง คือการถ่ายทอดประเด็นทางสังคม การเมือง และมุมมองส่วนบุคคล มาสู่ห่วงแนวคิดที่เชื่อมโยงร้อยต่อกันเหมือนเป็นลูกโซ่ เธอใช้กรรมวิธีต่างๆ ในการเน้นความสำคัญของแนวคิดผู้บริโภคนิยม หรือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร้ขีดจำกัด และการวางแผนที่มีความคร่ำครึ พ้นสมัย นอกจากนั้นผลงานของเธอยังมีพื้นฐานแนวคิดมาจากบริบทสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของจีน
ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ศิลปินถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
Ingrid Donat นักประติมากร กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก Miss Dior ว่า
“ฉันออกแบบขวดแก้วเนื้อฟรอสต์หุ้มด้วยปลอกโลหะสัมฤทธิ์ ให้ความรู้สึกเสมือนกับวัตถุที่ละเอียดอ่อนบอบบางอยู่ภายในปราการปกป้อง ผลงานชิ้นนี้สื่อถึงผู้หญิงซึ่งมีทั้งความแข็งแกร่งและเปราะบาง เป็นที่ระลึกถึง แคทเธอรีน ดิออร์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบน้ำหอม Miss Dior และในความคิดเห็นของฉัน เธอยังเป็นตัวแทนความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และความอ่อนโยน โดยมีสัญลักษณ์ทางการออกแบบจากขวดน้ำหอม Miss Dior ที่ต้องการนำมารังสรรค์หรือถ่ายทอดผ่านการใช้โลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ถนัดในการสรรค์สร้างผลงาน ฉันตัดสินใจตอนนั้นเลยว่า จะนำริบบิ้นทรงแบบฉบับนี้มาดัดแปลงใหม่ ลายตาราง ‘ฟันสุนัข’ (Houndstooth) รูปทรงเรขาคณิต ให้ความรู้สึกทันสมัยแบบที่ฉันชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง คือแรงบันดาลใจในการสลักริ้วลายลงไปบนเนื้อโลหะปลอกหุ้ม ท้ายสุดคือสีชมพูนวลตา ถือเป็นตัวเลือกสีอันโดดเด่นอย่างยิ่งสำหรับนำมาใช้กับตัวขวด เพราะจะช่วยทำให้นึกถึงสีของน้ำหอมได้ในทันที”
ทางด้าน Hua Wang ศิลปินเซรามิกและนักออกแบบชาวจีน ที่ได้ฝึกฝนพัฒนาฝีมือของตนในการทำงานกับกระเบื้องเซรามิก เธอใช้วัสดุนี้ในการค้นคว้าทดลองทางทัศนศิลป์เพื่อเน้นความสอดคล้องทางรูปแบบและเทคนิคเพื่อสื่อถึงแนวคิดหลักทางการออกแบบ ได้กล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ว่า
“ฉันประทับใจในความสามารถของผู้หญิงทั้งหลายที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึงการแสดงออกถึงความรัก และเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นหรือประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ตามความคิดของฉัน Miss Dior สะท้อนให้เห็นถึงพลังหญิง การออกแบบผลงานที่ชื่อว่า Love หรือ ‘ความรัก’ นี้ ฉันต้องการยกย่องความเอื้ออาทรของผู้หญิง เป็นของขวัญอันก่อตัวขึ้นมาจากรูปทรงของประติมากรรมเชิงอนุสรณ์ เพื่อสื่อถึงการเผื่อแผ่ความรักและสายใยสร้างความผูกพันระหว่างผู้หญิงทั้งหลายให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
“ส่วนสัญลักษณ์ทางการออกแบบจากขวดน้ำหอม Miss Dior นั้นเห็นได้ชัดว่าสัญลักษณ์ริบบิ้นเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบสำหรับฉัน ริบบิ้นมัดโบเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประดับ ตกแต่งอยู่ในหลายคอลเล็กชันของ คริสเตียน ดิออร์ และตามความคิดเห็นของฉัน โบคือตัวแทนความเป็นผู้หญิงและพลัง โจทย์ท้าทายในการทำงานของฉันคือการนำเซรามิกมาถ่ายทอดรูปทรงของโบริบบิ้นนี้ ทำให้ทุกคนที่ได้เห็นสามารถสัมผัสถึงพลัง ซึ่งถูกส่งผ่านเส้นโค้งมนของทรวดทรงและความเรียบเนียนทางเนื้อสัมผัสของวัสดุ”
นอกจากนี้ Hua Wang ยังเปิดใจถึงมุมมองที่มีต่อสถานภาพและบทบาทของผู้หญิงในแวดวงศิลปินยุคปัจจุบันว่า
“ฉันคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ผู้หญิงจะได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อประเด็นสาธารณะอันมีต่อสิทธิและความเสมอภาคของสตรี ฉันมองว่าความรับผิดชอบหนึ่งของฉันในฐานะศิลปินก็คือ การพูดถึงสิทธิ ความเสมอภาคนี้ผ่านผลงานของฉัน และปลดแอกผู้หญิงจากมุมมองของผู้ชาย ให้พวกเธอเป็นอิสระจากความไม่ทัดเทียมที่บังเกิดขึ้นทั้งในแง่ของการกระทำและความคิด
Sabine Marcelis นักออกแบบชาวดัตช์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจของเธอว่า
“เวลาสร้างสรรค์ผลงาน บ่อยครั้งที่ฉันจะขยายประโยชน์หรือทวีความชัดเจนขององค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง หลังจากใช้เวลานานพอควรไปกับการสำรวจดูขวดของ Miss Dior ฉันก็เลือกที่จะนำริบบิ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นออกแบบผลงาน ซึ่งพร้อมจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางพื้นที่โดยรอบที่ใช้จัดวาง ฉันสร้างงานเรซินขึ้นโดยอาศัยรูปทรงของริบบิ้นขึ้นโครงสร้างที่มีความชัดเจน ในขณะเดียวกันก็สามารถจับยกและนำมาใช้ขดพันล้อมรอบตัวขวดได้
“ส่วนมุมมองที่มีต่อ Miss Dior นั้น ฉันอาศัยรูปทรงธรรมชาติของริบบิ้นม้วนตัวไหวพลิ้วตามแรงลมมาใช้แสดงให้เห็นถึงความเบาทางน้ำหนักอันเป็นตัวแทนของน้ำหอมกลิ่นนี้ ในขณะเดียวกันก็ยังสื่อถึงอิสระและความสุขที่ผลิบาน ผลงานอันถ่ายทอดถึงกระแสพลังไหลเวียนจะดึงให้เราเข้ามาสู่เนื้อแท้ของน้ำหอม นั่นคือเสน่ห์เย้ายวนในความเรียบง่าย ผ่านการใช้วัสดุเรซินเพียงอย่างเดียวจนจบกระบวนการ รวมถึงการใช้สีชมพูอ่อนเพียงสีเดียวด้วยเช่นกัน นี่เป็นเฉดสีประจำตัวของฉันพอๆ กับเป็นส่วนหนึ่งของ Miss Dior
ทางด้าน Mimosa Echard ทัศนศิลปินชาวฝรั่งเศส ที่ชื่นชอบการนำองค์ประกอบที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตมาสร้างสรรค์ขึ้นเป็นระบบนิเวศลูกผสมเพื่อสะท้อนถึงชีวิตของสสารและสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตา ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเธอว่า
“ฉันอาศัยแรงบันดาลใจจากผลงานต่างๆ ที่ได้เคยออกแบบสร้างสรรค์ไว้เมื่อปี 2016 ในรูปแบบของต้นไม้ แร่ธาตุ และของใช้ส่วนตัว ซึ่งอาศัยอีพ็อกซีเรซินเป็นวัตถุดิบ จุดเริ่มต้นของผลงานชุดนั้นมาจากเพลง ‘I Still Dream Of Orgonon’ ของ เคต บุช ที่กล่าวถึง วิลเฮล์ม เรียช หมอและนักจิตวิเคราะห์ผู้โด่งดังและมีชื่อเสียงจากงานวิจัยระดับปรากฏการณ์ในประเด็นของพลังงานหล่อเลี้ยงชีวิตที่เขาเรียกว่า ‘ปราณ’ หรือ Orgone โดยสัญลักษณ์ที่หยิบยกมาใช้ในการออกแบบก็เหมือนกับการนำวัสดุต่างๆ ตลอดจนสสารและวัตถุต่างชนิดมาใช้ในงานภาพผืนผ้าใบ และประติมากรรมของฉัน ผลงานครั้งนี้ฉันต้องการหลอมรวมทุกองค์ประกอบสำคัญในอาณาจักรน้ำหอมของ Miss Dior ให้มาอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดทางการตกแต่ง น้ำหอมสีชมพู หรือกระทั่งโบ ‘ปลายแฉก’ อันเป็นสัญลักษณ์ของ House of Dior โดยอาศัยการผสมผสานวัสดุธรรมชาติ วัสดุสังเคราะห์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าด้วยกัน”
คนสุดท้าย Anya Kielar นักประติมากรและทัศนศิลปินชาวอเมริกัน กล่าวถึงแรงบันดาลใจของเธอว่า
“การได้อิสระอย่างเต็มที่ในงานสร้างสรรค์โดยอาศัยขวด Miss Dior เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ฉันรู้สึกได้ทันทีว่างานครั้งนี้ตรงกับขอบข่ายการทำงานปัจจุบันของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการทำงานเกี่ยวกับรูปร่างทรวดทรงของผู้หญิง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากวัสดุสิ่งทอ ฉันสร้างงานสามมิติขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหุ่นผู้หญิงถือขวดไว้ในมือเหมือนฉากที่ปรากฏบนเวที และสัญลักษณ์ทางการออกแบบที่ฉันเลือกใช้ก็คือการเลือกที่จะทำงานกับแถบริบบิ้นขนาดใหญ่ในลักษณะของการเป็นเครื่องประดับตกแต่งสำหรับติดตั้งส่วนศีรษะของประติมากรรม ผู้หญิงลึกลับซึ่งฉันสร้างขึ้นให้อยู่ในท่วงท่าอากัปกิริยาเหมือนนักแสดง คู่บุคลิกบนใบหน้าสองซีกของเธอ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและการใช้น้ำหอม ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้สามารถดึงบางบุคลิกในตัวของเราออกมา ทำให้เราเปลี่ยนไป มีความรู้สึกหรือมีกิริยาท่าทางที่แตกต่างไปจากเดิมได้”
นอกจากนี้เธอยังแสดงมุมมองที่มีต่อสถานภาพ และบทบาทของศิลปินเพศหญิงในปัจจุบันนี้ว่า
“ฉันคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะได้เห็นและได้ยินเรื่องราวของศิลปินเพศหญิง ฉันโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากแกลเลอรีซึ่งมีผู้หญิงดูแล นั่นก็คือ ราเชล อัฟฟเนอร์ ผู้เป็นตัวแทนให้แก่ศิลปินผู้หญิงอีกหลายคน ถึงแม้ผลงานที่ผู้หญิงออกแบบสร้างสรรค์จะยังมีคุณค่าหรือราคาน้อยกว่าผลงานของผู้ชาย กระนั้นเราก็ได้เห็นว่าสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนไป”
และทั้งหมดที่ทุกคนได้อ่านได้มองเห็นภาพผลงานทั้งหมด นั่นคือสิ่งที่หลอมรวมมาจากแรงบันดาลใจอันแรงกล้าจาก คริสเตียน ดิออร์ ที่จิตวิญญาณและตัวตนของเขาถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยคำว่า ‘ศิลปะ’ ตั้งแต่เด็ก นี่จึงทำให้นิทรรศการ Miss Dior คือหนึ่งในนิทรรศการสุดตราตรึงที่จะกลายเป็นบทบันทึกอันงดงามในใจของผู้คนที่หลงใหลและรักในเสน่ห์ของน้ำหอม Miss Dior ที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งแฟนๆ ยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้จาก @Diorbeauty @Dior อีกด้วย
- Exhibition ‘Empty’ Visuals:
Credits: Vanni Bassetti for Parfums Christian Dior
- VIP & Photocall Visuals:
Credits for “Miss Dior” photocall only: Arnold Jerocki/ Getty Images For Parfums Christian Dior