วันนี้ (9 ตุลาคม) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าเทศกาลกินเจเริ่มขึ้นแล้ว ผู้บริโภคหลายคนเลือกกินอาหารหลากหลายประเภทและไม่เลือกกินอาหารบางประเภทที่ปรุงด้วยผักมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อน ได้แก่ กระเทียม หัวหอม รวมไปถึงต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่ หลักเกียวหรือกระเทียมโทนจีน กุยช่าย และใบยาสูบ แต่ผู้กินเจสามารถเลือกกินผัก ผลไม้อื่นๆ เพื่อสร้างภูมิต้านทานแทนได้ เช่น กล้วยน้ำว้าสุก ธัญพืช มันเทศ ข้าวโพดหวาน หรือสมุนไพรที่ช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เช่น ขิง ขมิ้นชัน มะระขี้นก และควรเพิ่มการกินผักและผลไม้หลากหลายสีเข้าไปด้วย เช่น พริกหวาน ผักโขม ปวยเล้ง มะระขี้นก ผักหวาน ขี้เหล็ก มะเขือเปราะ มะนาว ฝรั่ง มะละกอ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่างๆ และเส้นใยอาหาร ซึ่งช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค
“ทั้งนี้ การกินเจที่ถูกหลักโภชนาการ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อหรือปรุงอาหารเมนูประเภทยำ ต้ม นึ่ง ลดอาหารประเภทผัด ทอด และกินอาหารที่มีรสชาติปานกลาง ไม่หวาน มัน หรือเค็มจัด เพราะส่วนใหญ่อาหารเจมักออกไปทางมัน เลือกกินอาหารเจประเภทต้ม แกง ย่าง ยำ น้ำพริก กินข้าวแป้งแต่พอดี เลี่ยงอาหารแปรรูป ซึ่งอาหารเจส่วนใหญ่จะมีแป้งแฝง เช่น การใช้แป้งหมี่กึงมาทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ ซึ่งทำให้คาร์โบไฮเดรตเกิน อีกทั้งในช่วงกินเจอาจทำให้รู้สึกหิวบ่อย ให้เลือกผลิตภัณฑ์นมจากพืชเสริม โดยเลือกชนิดไม่หวานจัด มีปริมาณโปรตีนและแคลเซียมเหมาะสม งดเครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำอัดลม หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง ไม่ควรเลือกกินเมนูอาหารชนิดเดิมซ้ำทุกวัน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของสารพิษและเกิดโรคได้ อีกทั้งควรใส่ใจเรื่องความสะอาดปลอดภัยของวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะจากพืชผัก ควรล้างให้สะอาดหรือเลือกใช้ผักปลอดสารพิษที่มีการรับรองแหล่งผลิตโดยหน่วยงานภาครัฐในการประกอบอาหารเจแทนการใช้ผักที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนสารพิษจะปลอดภัยกว่า สิ่งสำคัญหากในช่วงกินเจดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ใยอาหารเกาะตัวในร่างกายมาก อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ไม่สบายท้องได้ จึงควรดื่มน้ำให้ได้ 6-8 แก้วต่อวัน” นพ.สุวรรณชัยกล่าว