วานนี้ (6 ตุลาคม) คณะกรรมการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การอนุมัติรับรองการใช้วัคซีน ‘Mosquirix’ หรือวัคซีน RTS,S วัคซีนมาลาเรียตัวแรกอย่างเป็นทางการ โดยวัคซีนตัวใหม่นี้พัฒนาโดยบริษัท GlaxoSmithKline ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก เพื่อต้านปรสิต Plasmodium falciparum สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เป็นสาเหตุในการก่อโรคมาลาเรียในมนุษย์ชนิดรุนแรงที่มียุงเป็นพาหะ และพบการแพร่กระจายอย่างมากในทวีปแอฟริกา
โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่รู้จักกันมานาน โรคนี้คร่าชีวิตประชากรโลกไปราวปีละ 500,000 ราย มากกว่าครึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา แถบซับซาฮารา โดยวัคซีนดังกล่าวนี้ ไม่เพียงแต่เป็นวัคซีนมาลาเรียตัวแรก แต่ยังเป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับโรคที่เกิดขึ้นจากเชื้อปรสิตตัวแรกอีกด้วย
ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า วัคซีน Mosquirix มีประสิทธิภาพต้านโรคมาลาเรียที่มีอาการรุนแรงได้ราว 50% ในช่วงปีแรก ก่อนที่ระดับภุมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงเกือบหมดภายในช่วง 4 ปี เบื้องต้นยังไม่มีการคำนวณว่า วัคซีนมาลาเรียนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้เท่าใด
โดยวัคซีน Mosquirix นี้ 3 โดสแรกจะให้ในเด็กทารกที่อายุ 5-17 เดือน ก่อนที่โดสที่ 4 จะให้หลังจากนั้นราว 18 เดือน จ่ายให้กับกลุ่มตัวอย่างใน 3 ประเทศ ได้แก่ เคนยา มาลาวี และกานา ไปแล้ว 2.3 ล้านโดส เพิ่มการป้องกันโรคมาลาเรียในเด็กในประเทศดังกล่าว จากน้อยกว่า 70% เพิ่มเป็น 90% ขณะที่การนอนกางมุ้ง หนึ่งในวิธีป้องกันพาหะนำโรค เช่น ยุง ที่แพร่หลายที่สุด ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากมาลาเรียในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้เพียงราว 20% เท่านั้น
ทางด้าน ดร.แมรี ฮาเมล ผู้นำทีมพัฒนาวัคซีนมาลาเรียของ WHO เชื่อว่า วัคซีนนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการช่วยประชาคมโลกรับมือกับโรคมาลาเรีย โดยจากโมเดลการศึกษาช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าหากวัคซีนนี้ได้รับการกระจายไปยังประเทศที่มีอัตราการป่วยด้วยโรคมาลาเรียสูงมากๆ วัคซีน Mosquirix จะสามารถช่วยป้องกันการป่วยไข้ได้ปีละราว 5.4 ล้านราย และป้องกันการเสียชีวิตราว 23,000 รายในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี
ขณะที่ ดร.เปโดร อลองโซ ผู้อำนวยการโครงการมาลาเรียโลกของ WHO ชี้ว่า นี่คือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ปรสิตมีความซับซ้อนกว่าไวรัสหรือแบคทีเรีย และความพยายามในการพัฒนาวัคซีนมาลาเรียก็ดำเนินมาตลอดหลายทศวรรษ นี่คือก้าวกระโดดครั้งสำคัญจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ สู่การพัฒนาวัคซีนเจนแรกที่ใช้รับมือกับปรสิตก่อโรคในมนุษย์
ภาพ: Numstocker / Shutterstock
อ้างอิง: