หลายคนอาจรู้สึกว่าการถามว่า ทำไมเราต้องมี ‘ธงชาติ’ หรือ National Flag เป็นคำถามที่ประหลาด
เพราะมันคล้ายเป็นสามัญสำนึกไปแล้ว ว่าชาติก็ต้องมีธงชาติ
แต่ลองฟังเรื่องเล่าจากหนังสือ A Flag Worth Dying For หรือ ‘ธงที่ควรค่าแก่การตายเพื่อ’ ของ ทิม มาร์แชลล์ นักเขียนชาวอังกฤษที่ทำงานเขียนเกี่ยวกับภูมิศาสตร์เรื่องนี้ดู
ทิมเปิดหนังสือของเขาด้วยเรื่องชวนตระหนกที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 2014 เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างเซอร์เบียกับแอลเบเนีย โดยเซอร์เบียเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพ
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทีมแอลเบเนียเดินทางไปยังเมืองหลวงของเซอร์เบีย คือเบลเกรด – เพื่อแข่งขันฟุตบอล นับตั้งแต่ปี 1967 ลำพังเหตุการณ์นี้ก็เป็นที่จับตามองของทั้งโลกอยู่แล้ว เพราะสองประเทศนี้มีความขัดแย้งกันรุนแรงในระดับที่ลงลึกไปถึงเชื้อชาติ และทำให้บรรยากาศในการแข่งขันวันนั้นหนักอึ้งมาก
เรื่องของเรื่องก็คือ แอลเบเนียกับเซอร์เบียเคยขัดแย้งกันมาก่อน เนื่องจากมีคนเชื้อสายแอลเบเนียอาศัยอยู่ในแถบที่เรียกว่าโคโซโว ซึ่งเป็นพื้นที่ของเซอร์เบียที่อยู่ติดกับแอลเบเนีย ความขัดแย้งนี้ทำให้โคโซโวประกาศตัวเป็นรัฐอิสระ โดยแอลเบเนียสนับสนุนโคโซโว ในขณะที่เซอร์เบียต้องการจะปราบปราม
แน่นอน ฟุตบอลนัดนั้นห้ามชาวโคโซโวเข้าชม เพราะถือว่าโคโซโวเป็นเหมือนเชื้อปะทุชั้นดี บรรยากาศในสนามตึงเครียดมาก แม้เกมจะดำเนินไปไม่ตื่นเต้นสักเท่าไรก็ตาม ว่ากันว่ามีเสียงตะโกนว่า Kill the Albanians หรือฆ่าพวกแอลเบเนีย – ดังออกมาเป็นระยะๆ ด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อใกล้จะถึงครึ่งเกม แล้วเกิดมี ‘โดรน’ เครื่องหนึ่งบินลับๆ ล่อๆ แบบไม่ปรากฏว่าเป็นโดรนอะไรจากไหนบินเข้ามาในสนาม จากนั้นเมื่อถึงกลางสนาม โดรนนี้ก็ระเบิดตัวเองคลี่ออกมาเป็นผืนธงแอลเบเนีย พร้อมกับสัญลักษณ์อื่นๆ และใบหน้าของวีรบุรุษแอลเบเนีย รวมถึงแผนที่แอลเบเนียที่ ‘ใหญ่ขึ้น’ (คือกินพื้นที่รวมโคโซโวเข้าไปด้วย) ก็ทำให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นมาทันที
ชาวแอลเบเนียนั้นถือว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่โคโซโวมาก่อนตั้งแต่ศตวรรษที่สี่แล้ว ในขณะที่ชาวสลาฟหรือเซอร์เบียนั้น เพิ่งมาถึงในศตวรรษที่หกเท่านั้นเอง ดังนั้นชาวแอลเบเนียจึงควรเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เซอร์เบีย
เหตุวุ่นวายจึงเกิดขึ้นในสนามฟุตบอล ถึงขั้นที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่กรูกันลงจากสนามไปห้ำหั่นกัน จนทำให้คำกล่าวของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่ว่าฟุตบอลคือ ‘สงครามที่ไม่ได้ยิงกัน’ เกิดเป็นจริงขึ้นมา
จะเห็นว่านี่คือ ‘อำนาจ’ ของธง ธงชาติคือการรวมกันของประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประชากร และคุณค่าต่างๆ ประทับเป็นสีลงไปบน ‘ชิ้นผ้า’ ชิ้นหนึ่ง ที่เดิมทีไม่น่ามีความหมายอะไรได้เลย แต่ก็กลับมีความหมายขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด
เราไม่รู้หรอกว่า ครั้งแรกสุดที่มีการใช้ ‘ธง’ นั้นคือเมื่อไร ใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นธงขึ้นมา แต่ก็เชื่อกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ธงนั้นเกี่ยวพันกับการทหารแน่ๆ โดยในหนังสือชื่อ Flags Through the Ages and Across the World ของ วิตนีย์ สมิธ เคยเชื่อมโยงการก่อกำเนิดของธงว่าน่าจะเป็น ‘เศษผ้าชุ่มเลือดที่ศัตรูผู้ได้ชัยชนะนำมายกชูสูงขึ้นโดยใช้กิ่งไม้’ นั่นจึงเป็นธงในความหมายดั้งเดิมที่สุด และน่าจะเกิดขึ้นก่อน ‘ธงชาติ’ นับพันๆ ปี
ศาสตร์ในการศึกษาธง เรียกว่า Vexillology ซึ่งมาจากศัพท์ละตินว่า Vexillum หมายถึงธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ทหารม้าโรมันใช้ในยุคโบราณ และที่จริงแล้ว ‘ธง’ นั้นถือกำเนิดมาก่อนคอนเซปต์เรื่อง ‘ชาติ’ แบบสมัยใหม่เสียด้วยซ้ำ เพราะกองทัพอย่างในอียิปต์โบราณ เปอร์เซีย และบาบิโลน ต่างก็มีการถือธง (ที่อาจเป็นธงริ้ว) กันมานานนมแล้ว โดยธงแบบนั้นอาจเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องทำหน้าที่เหมือนธง คือเป็นเครื่องหมาย เป็นการนำทาง คล้ายๆ กับที่มัคคุเทศก์สมัยนี้ชอบถือไม้ยาวๆ ห้อยตุ๊กตาหรืออะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้ลูกทัวร์เห็น จะได้เดินตามไปได้ถูกทาง ธงก็ถือกำเนิดมาแบบนั้นเช่นเดียวกัน
ในยุคแรกๆ ธงไม่ได้เป็นผืนผ้าแบบที่เราเห็นกัน แต่จะเป็นไม้ที่มีรูปสัญลักษณ์อะไรบางอย่างติดอยู่ด้านบน เช่น รูปสลักของสัตว์บางอย่างที่แสดงถึงอำนาจ อย่างเช่นนักรบโรมันจะถือหอกที่มีปลายเป็นรูปนกอินทรี เป็นต้น
แต่เชื่อกันว่า เมื่อเกิดเส้นทางการค้าโลกขนาดใหญ่ขึ้น คือเกิดเส้นทางสายไหม ผ้าไหมจากจีนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม ธงจึงลดรูปจาก ‘สามมิติ’ กลายมาเป็นผืนผ้าแบบสองมิติแทน และธงแบบสองมิตินี้ก็เดินทางผ่านเส้นทางสายไหมเข้าไปสู่โลกมุสลิม โดยในยุคที่ที่ศาสนาอิสลามเริ่มเผยแผ่ไปนั้น ศาสดามูฮัมหมัดทรงใช้แถบธง (Banner) ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ชาวออตโตมันใช้ โดยธงที่ทำจากผ้าไหมของชาวออตโตมันที่บุกฝ่าไปรบชนะกองทัพของราชวงศ์ฮับสเบิร์กนั้น ยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ออสเตรียอยู่เลย
อย่างไรก็ตาม ธงที่เป็นรากฐานให้เกิดธงชาติแบบยุคใหม่ และทุกชาติต้องมีธงของตัวเองนั้น คือธงที่ใช้ในทางทะเล เรียกว่า Maritime Flags คือธงที่ออกแบบไว้ใช้ติดเรือใหญ่เรือเล็ก หรือยานพาหนะทางน้ำอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเวลาเห็นเรือเราไม่รู้เลยว่าเรือลำนั้นเป็นใครมาจากไหน การติดธงที่เรือจึงเป็นการบ่งบอกอัตลักษณ์ของเรือเสียก่อนล่วงหน้า
แล้วจากนั้น ธงก็เริ่มกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยเฉพาะกับอังกฤษที่เกิดการรวมชาติขึ้นมาระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ ทำให้เกิดธงที่เรียกว่า Union Flag ขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด โดยการรวมเอาไม้กางเขนของนักบุญจอร์จเข้ากับไม้กางเขนของนักบุญแอนดรูว์
ในยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ต่างๆ มีความซับซ้อน การใช้ธงหรือตราสัญลักษณ์ต่างๆ จึงมีความจำเป็น แต่ธงในยุคนั้นก็ไม่ได้ใช้เพื่อแสดงความเป็น ‘ชาติ’ มากเท่ากับแสดงความเป็นตระกูลหรือราชวงศ์ หรือใช้เพื่อแสดงกลุ่มก้อนความเชื่อทางศาสนา ธงเหล่านี้จึงถูกมองว่าเป็นธงที่ใช้เพื่อประกาศตัวตนบางอย่าง (เป็น Heraldic System of Identification) แต่ไม่ได้เกี่ยวพันไปถึงสามัญชนทั่วไป
ว่ากันว่า ธงชาติแบบสมัยใหม่ (Modern National Flag) นั้น ถือกำเนิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 19-20 นี้เอง โดยเป็นผลพวงมาจากยุคแห่งการปฏิวัติ (Age of Revolution) โดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งมีการล้มราชวงศ์ลงไป โดย อัลเฟรด สนาเมียรอฟสกี (Alfred Znamierowski) ซึ่งเป็นนักศึกษาธง (Vexillologist) และนักศึกษาตราสัญลักษณ์ (Heraldist) คนสำคัญ เคยบอกว่าการออกแบบธงรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะ ‘เรียบง่าย’ (เช่น มีสามสีหรือที่เราเรียกว่า ‘ไตรรงค์’) และเราพบเห็นกันในโลกปัจจุบันนี้ เป็นธงที่เกิดจากการปฏิเสธระบบตราสัญลักษณ์ที่มีลักษณะฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือยของระบบราชวงศ์ มาเป็น ‘ชาติสมัยใหม่’ ที่ต้อง ‘นับรวม’ ผู้คนเข้าไปอยู่ในชาติด้วย
ธงยุคใหม่จึงเรียบง่าย ดูง่าย เข้าใจง่าย ว่าแต่ละสีที่ปรากฏอยู่นั้น ได้ ‘แบก’ เอาอุดมการณ์ของชาติ และโอบอุ้มสารทางการเมืองแบบไหนเอาไว้บ้าง
ธงชาติยุคใหม่จึงเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยม (Nationalism) และการเป็น ‘พลเมืองร่วม’ (Collective Citizenry) ไม่ใช่เป็นธงที่แสดงถึงอำนาจและสิทธิขาดของตระกูลที่เคยปกครองดินแดนนั้นๆ มาก่อนอีกต่อไปแล้ว โดยแต่ละชาติก็จะออกแบบธงของตัวเองต่างกันออกไป โดยมีเนื้อหาคือความเรียบง่าย และธงแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยม ก็คือธงสามสีที่ได้รับอิทธิพลมาจากการออกแบบธงของฝรั่งเศส ซึ่งมีนัยต่อต้านระบอบการปกครองแบบในอดีตอย่างชัดเจน เพราะเป็นธงที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และต่อมาหลายประเทศก็รับเอาการออกแบบธงแบบนี้ไปใช้ โดยมีการตีความของตัวเองแตกต่างกันออกไป
ดังนั้น ถ้าถามว่าแล้วธงชาติมีไว้ทำไม คำตอบสั้นๆ ก็คือ – ก็มีไว้เพื่อแสดงความเป็นชาติแบบ ‘สมัยใหม่’ (Modern Nation) นั่นแหละ แต่แต่ละประเทศจะตีความคำว่า ‘ความเป็นชาติ’ ของตัวเอง คงขึ้นอยู่กับต้นทุนทางความคิด ประวัติศาสตร์ และการบ่มเพาะปลูกฝังของระบบอำนาจในชาติที่สืบทอดต่อๆ กันมานั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม: