×

รู้จัก ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น เขาเป็นใคร และมีความท้าทายอะไรที่รออยู่

30.09.2021
  • LOADING...
ฟูมิโอะ คิชิดะ

‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ ชื่อนี้อาจกำลังเป็นที่คุ้นหูมากขึ้น เมื่ออดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นวัย 64 ปีรายนี้ ขึ้นแท่นเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นแล้ว หลังคว้าชัยในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคลิเบอรัล เดโมแครต (Liberal Democrat Party: LDP) ไปเมื่อวานนี้ (29 กันยายน) ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่รอเขาอยู่

 

เราชวนมาทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น

 

⛩  คิชิดะเกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 1957 โดยมีบุคคลในครอบครัวซึ่งเคยทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อนถึง 2 คน เขาเคยศึกษาในโรงเรียนประถมในนครนิวยอร์ก เนื่องจากในขณะนั้นพ่อของเขาถูกส่งไปทำงานที่นั่น เขาสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ เมื่อปี 1982 ก่อนจะไปทำงานกับธนาคารเครดิตระยะยาวของญี่ปุ่น

 

⛩ ต่อมาในปี 1993 คิชิดะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และเมื่อปี 2007 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยแรกของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ด้วยวัย 50 ปี เขาจึงถือเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น และทยอยรับผิดชอบงานด้านต่างๆ เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลของยาสุโอะ ฟุกุดะ เช่น กิจการโอกินาวา นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นโยบายคุณภาพชีวิต และกิจการผู้บริโภค

 

 ⛩  จากนั้นในปี 2012-2017 คิชิดะได้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศภายใต้รัฐบาลสมัยต่อมาของชินโซ อาเบะ ซึ่งในครั้งนั้นเขามีส่วนอย่างสำคัญในการประสานงานการเดินทางเยือนเมืองฮิโรชิมาของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ซึ่งฮิโรชิมาก็ถือเป็นเขตเลือกตั้งที่คิชิดะเป็นผู้แทนเองด้วย เขายังเรียกการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็น ‘งานแห่งชีวิตของเขา’ โดยเขามีงานเขียนเผยแพร่ในเว็บไซต์ของนิตยสาร Foreign Affairs เมื่อปี 2014 และเว็บไซต์ CNN เมื่อปี 2016 ที่แสดงถึงแนวคิดในการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ของเขาอย่างชัดเจน

 

⛩  นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทในการทำข้อตกลงประวัติศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในประเด็น ‘หญิงบำเรอ’ หรือผู้หญิงที่ถูกบังคับให้บำเรอทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

⛩  และในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมปี 2016 คิชิดะในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นในขณะนั้น ยังเดินทางเยือนประเทศจีนและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย การเดินทางเยือนไทยในครั้งนั้นมีการหารือกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในหลายประเด็น ตลอดจนมีการกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับอาเซียนและบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนอีกด้วย

 

⛩  คิชิดะเป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองเสรีนิยมสายกลาง นอกจากนี้ เขายังเป็นอดีตประธานสภาวิจัยนโยบายของพรรค LDP อีกด้วย

 

⛩  ในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP เมื่อวันที่ 29 กันยายน คิชิดะเป็นคนแรกที่ประกาศว่าจะลงชิงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม และปรากฏว่าเขาเอาชนะ ทาโร โคโนะ ซึ่งได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดไปได้ แต่หากย้อนไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว เขาได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 ในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP โดยพ่ายให้กับโยชิฮิเดะ ซูงะ

 

⛩  ในคำแถลงของเขาที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เขาระบุว่าจะต้องต่อสู้กับการระบาดของโควิดด้วยความตั้งใจแน่วแน่ และจำเป็นจะต้องบรรลุมาตรการทางเศรษฐกิจมูลค่าหลายสิบล้านเยนภายในปีนี้ เขายังกล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญต่ออนาคตของญี่ปุ่น เช่น การทำให้อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเป็นจริง และการรับมือกับอัตราการเกิดที่ลดลง เขายังเคยแสดงท่าทีเว้นระยะจากนโยบายเศรษฐกิจของชินโซ อาเบะ ที่เรียกกันว่า ‘อาเบะโนมิกส์’ โดยการเรียกร้องให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งและรณรงค์ในเรื่องการลดช่องว่างรายได้

 

⛩  สำนักข่าวต่างประเทศยังระบุถึงความท้าทายต่างๆ ที่รอเขาอยู่ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาด ประเด็นความมั่นคงกับเกาหลีเหนือและจีน หรือแม้แต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้

 

⛩  อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะมีชื่อเสียงในแง่ความเป็นเสรีนิยม แต่สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง AFP และ The Guardian ก็ตั้งข้อสังเกตว่าคิชิดะกลับระบุว่า สำหรับเขานั้นยังไม่ถึงจุดที่จะยอมรับการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ต่างจากโคโนะ คู่แข่งที่พ่ายต่อเขาในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งสนับสนุนการสมรสดังกล่าวและเรียกร้องให้มีการหารือในรัฐสภา นอกจากนี้ โคโนะยังสนับสนุนการอนุญาตให้คู่สมรสใช้นามสกุลแยกกันได้ ขณะที่คิชิดะมีท่าทีที่นุ่มนวลกว่าในเรื่องนี้

 

ภาพ:  Xinhua / Du Xiaoyi / POOL / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising