×

นักลงทุนแห่จับตาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลัง 2 กรรมการสายเหยี่ยวลาออกจากกรณีอื้อฉาว

29.09.2021
  • LOADING...
Fed

หนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในเวลานี้คือ กรณีการประกาศลาออกของ 2 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้แก่ โรเบิร์ต แคปแลน ประธาน Fed สาขาดัลลัส และ เอริก โรเซนเกรน ประธาน Fed สาขาบอสตัน หลังจากที่ทั้งสองคนถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจริยธรรมจากการเข้าซื้อหุ้น กองทุน และพันธบัตร ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย QE ของ Fed

 

โดยในปีที่ผ่านมา แคปแลนมีการซื้อขายหุ้น 22 ตัว และกองทุนของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Amazon, Chevron, Facebook และ Johnson & Johnson รวมเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์ ขณะที่โรเซนเกรนมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง หรือ MBS ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเข้าซื้อของ Fed  

 

แม้ว่าตามกฎของ Fed การลงทุนของทั้งแคปแลนและโรเซนเกรนจะไม่ถือเป็นความผิด และทั้งสองคนไม่ใช่สมาชิกที่มีสิทธิ์ออกเสียงกำหนดนโยบายการเงินของ FOMC ในปีนี้ แต่การเป็นประธานสาขา Fed ก็ทำให้พวกเขาทั้งคู่ได้เข้าร่วมในการประชุมสำคัญของ Fed รวมถึงเข้าถึงข้อมูลบ่งชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆ ล่วงหน้า และมีส่วนในการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต หรือ Dot plot ของ Fed 

 

เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซตส์ของพรรคเดโมแครต ได้ส่งจดหมายถึงประธาน Fed เรียกร้องให้มีการตรวจสอบด้านจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Fed อย่างเข้มงวด และเรียกร้องให้มีมาตรการสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Fed ถือครองหุ้นและซื้อขายหุ้น เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

 

แรงกดดันที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งแคปแลนและโรเซนเกรนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ โดยแคปแลนให้เหตุผลว่า เขาไม่ต้องการให้กรณีอื้อฉาวของตัวเองรบกวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของ Fed ในช่วงที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่โรเซนเกรนใช้เหตุผลด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนถ่ายไต โดยระบุว่า เขาต้องการเวลาพักผ่อนเพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น

 

คริชนา กูฮา นักวิเคราะห์จากธนาคาร Evercore ISI เชื่อว่า การลาออกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น Fed อาจต้องมีการทบทวนมาตรการดูแลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ในองค์กรใหม่ ขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังอาจส่งผลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เนื่องจากทั้งแคปแลนและโรเซนเกรนถือเป็นคณะกรรมการที่อยู่ในสายเหยี่ยว หรือ Hawkish ที่ต้องการให้การปรับดอกเบี้ยเกิดขึ้นในปี 2022

 

โดยในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Fed ได้ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดการซื้อพันธบัตรในเร็วๆ นี้ และมี 9 จาก 18 เสียง ของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่ต้องการให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีในปี 2022 ดังนั้นการลาออกของแคปแลนและโรเซนเกรนจะทำให้เสียงของฝ่ายที่สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วลดลงเหลือเพียง 7 คน ซึ่งนั่นอาจหมายถึงโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อาจถูกขยับกลับไปเป็นปี 2023 อีกครั้ง

 

“การลาออกของแคปแลนและโรเซนเกรนจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อ เจอโรม พาวเวลล์ ในการดำรงตำแหน่งประธาน Fed อีกหนึ่งวาระ” กูฮากล่าว

 

อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนส่วนตัวของพาวเวลล์ล่าสุดก็พบว่า ในปีที่ผ่านมาเขาถือครองตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายโดยหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น (Municipal Bonds) ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเข้าซื้อของ Fed ผ่านการทำ QE เช่นกัน ทั้งนี้พาวเวลล์ชี้แจงว่า เขาถือครองตราสารหนี้ประเภทนี้มานานหลายปี ตั้งแต่ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ Fed พร้อมยืนยันว่า เขาไม่ได้ทำผิดทางจริยธรรม

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising