ความเคลื่อนไหวของหุ้น บมจ.ยูเรกา ดีไซน์ (UREKA) กลับมาอยู่ในสายตาของนักลงทุนอีกครั้ง นับเป็นหุ้นที่เรียกได้ว่าแรงดีไม่มีตก เฉพาะเดือนกันยายนราคาหุ้นพุ่งทะยานต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นมาแล้วราว 247% จากระดับ 0.87 บาท มาอยู่ที่ระดับ 3.02 บาท ณ ราคาปิดวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งยังถือเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง
คำถามคือ หุ้นตัวนี้จะไปได้ไกลอีกแค่ไหน เมื่อนักวิเคราะห์หลายคนประเมินภาพในทิศทางเดียวกันว่า ‘ให้รีบขาย’
โดยแรงเก็งกำไรหุ้น UREKA ถาโถมเข้าอย่างชัดเจน ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเพิ่มทุน 450 ล้านหุ้น เพื่อแลกซื้อหุ้นของบริษัท เอ.พี.ดับเบิลยู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (A.P.W.) จำนวน 1.3 ล้านหุ้น คิดเป็น 100% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 382.50 ล้านบาท จากบริษัท แปซิฟิกโกลบอล จำกัด (PG)
ภายหลังการแลกหุ้น PG จะถือหุ้น UREKA ในสัดส่วน 33.59% และจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 ตุลาคม 2564
การเข้าถือหุ้น A.P.W. ของ UREKA ในครั้งนี้ ถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ เนื่องจาก A.P.W. ประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ขณะที่ UREKA ประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบและผลิตเครื่องจักรสำหรับการประกอบและทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์จับยึดสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมเครื่องจักรเดิม และการจัดหาอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองให้ลูกค้า มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai
การตัดสินใจแตกไลน์ธุรกิจครั้งนี้ บอร์ด UREKA มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจรีไซเคิล การนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาก่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าอีกครั้ง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของ A.P.W. ซึ่งดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกมาตลอดระยะเวลากว่า 21 ปี รวมทั้งยังได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วย
จากการประชุมครั้งนี้ บอร์ด UREKA ยังมีมติอนุมัติให้ร่วมลงทุนกับ บมจ.เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ (NCL) เพื่อจัดตั้งบริษัทจำกัด มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดย UREKA จะถือหุ้นในสัดส่วน 49% ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นเงินลงทุน 9.8 ล้านบาท เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง
ส่งผลให้ราคาหุ้น UREKA ปรับตัวร้อนแรงขานรับมติบอร์ด กระทั่ง ตลท. ต้องสอบถามข้อมูลไปยังบริษัท เนื่องจากพบว่าสภาพการซื้อขายหุ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากวันก่อนหน้า เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้มีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างครบถ้วน รวมทั้งจับขังหุ้นตัวนี้ด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายเข้มข้นระดับ 1 คือนักลงทุนจะต้องวางเงินสดล่วงหน้า (Cash Balance) ก่อนการซื้อหุ้น ระหว่างวันที่ 13 กันยายน – 1 ตุลาคม 2564
อย่างไรก็ตาม มาตรการของ ตลท. ไม่สามารถหยุดความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ได้ เมื่อบอร์ด UREKA ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 แต่งตั้งซีอีโอหญิงรุ่นใหม่ไฟแรง สุนิสา จิระวุฒิกุล อดีตซีเอฟโอ และที่ปรึกษาการลงทุนบริษัททั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการ UREKA มาพักใหญ่ เพื่อให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและปรับทัพ UREKA ครั้งใหญ่ ภายหลังการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ โดยมีหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ธุรกิจเกิดการเทิร์นอะราวด์ได้อย่างรวดเร็ว
โดยครั้งนี้ ตลท. ได้สอบถามข้อมูลไปยังบริษัทอีกครั้ง พร้อมกับจับ UREKA ขังมาตรการกำกับการซื้อขายเข้มงวดสูงสุดระดับ 3 คือห้ามหักกลบลบหนี้การซื้อขาย (Net Settlement) ห้ามนำมาคำนวณวงเงินการซื้อหุ้น และนักลงทุนจะต้องวางเงินสดล่วงหน้า (Cash Balance) ก่อนการซื้อหุ้นด้วย รวมทั้งขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการเพิ่มเป็นระหว่างวันที่ 21 กันยายน – 11 ตุลาคม 2564
ราคาหุ้น UREKA ยังคงเดินหน้าพุ่งทะยาน โดยล่าสุดราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจนทะลุระดับ 3 บาท ไปเป็นที่เรียบร้อย
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ความเคลื่อนไหวของหุ้นพันธมิตรรายใหม่ของ UREKA คือ NCL ก็ปรับตัวไปในทิศทางใกล้เคียงกัน แม้จะไม่ร้อนแรงหวือหวาเท่า UREKA แต่ก็ถูก ตลท. ใช้มาตรการดับร้อนระดับที่ 2 คือ ห้ามนำมาคำนวณวงเงิน และต้องวางเงินสดล่วงหน้าก่อนซื้อหุ้นเช่นกัน
สำหรับแรงซื้อของนักลงทุนเพื่อเก็งกำไรหุ้น UREKA จากกรณีการแตกไลน์ไปทำธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก และการร่วมมือกับ NCL เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง ยังต้องติดตามว่ามีโอกาสทำให้บริษัทพลิกฟื้นกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้ภายในระยะเวลาอันใกล้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่
ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การเข้ามาเก็งกำไรหุ้น UREKA ตามกระแสข่าวการแลกหุ้น A.P.W. กับ PG และการจับมือกับ NCL เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง ถือเป็นความเสี่ยง โดยการประเมินโอกาสทางธุรกิจเบื้องต้น และโอกาสที่ UREKA จะเทิร์นอะราวด์แล้ว พบว่ายังมีประเด็นที่ต้องติดตามถึงความเป็นไปได้
โดยเฉพาะกรณีการจับมือกับ NCL เพื่อพัฒนาผลิตจากกัญชง เนื่องจากยังไม่เห็นการเกื้อหนุนทางธุรกิจต่อกัน เพราะทั้งสองฝ่ายทำธุรกิจที่แตกต่างกัน และไม่อยู่ในกลุ่มที่จะสามารถต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์กัญชงได้
“ธุรกิจของทั้งสองบริษัทไม่มีอะไรหวือหวา คนหนึ่งทำธุรกิจออกแบบ อีกคนทำโลจิสติกส์ ก็ยังมองไม่ออกว่าจะมาซินเนอร์จี (Synergy) กันอย่างไร ยิ่งจะแตกไลน์ไปด้านพลาสติก ธุรกิจก็ไปกันคนละทาง”
หากทำความรู้จัก NCL มากขึ้น จะพบว่า NCL เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai ที่ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์ครบวงจร โดยราคาหุ้น NCLระหว่างปี 2561-2563 เคยทำจุดสูงสุด เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 ยืนที่ 2.58 บาท และทำจุดต่ำสุด 0.59 บาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563
ขณะที่ในปี 2564 ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นตัวนี้กลับมาหวือหวาอีกครั้ง โดยราคาค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้น และทำนิวไฮที่ 4.46 บาท เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ภายหลังจาก UREKA แจ้งมติบอร์ดถึงความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ แต่ล่าสุดราคาหุ้น NCL ลดความร้อนแรงลง และอ่อนตัวลงมายืนที่ 3.64 บาท ณ วันที่ 28 กันยายน 2564
ศราวุธกล่าวว่า การเทิร์นอะราวด์ของ UREKA อยู่ภายใต้เงื่อนไขการแก้ปัญหาผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้บริษัทก็ยังมีแนวโน้มว่าจะขาดทุนอีกด้วย ซึ่งสวนทางกับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 300% โดยไม่สามารถคำนวณหาค่าพื้นฐานได้
“หุ้นตัวนี้ไม่มีค่า P/E ราคาหุ้นที่ขึ้นขนาดนี้ ถ้านักลงทุนยังเข้าไปอาจจะติดดอยได้ ทางที่ดีควรจะหลีกเลี่ยง หรือถ้าใครมีอยู่ก็ควรขายออกให้หมด อาจไม่คุ้มค่าที่จะเข้าไปเสี่ยง”
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 4 ปี (2560-2563) UREKA ขาดทุนสุทธิในปี 2560 ที่ 46.53 ล้านบาท โดยมีรายได้ 247.37 ล้านบาท จากนั้นพลิกมีกำไรในปี 2561 ที่ 18.46 ล้านบาท มีรายได้ 379.08 ล้านบาท และพลิกเป็นขาดทุนติดต่อกันในปี 2562 และ 2563 ที่ 17.20 ล้านบาท และ 106.09 ล้านบาทตามลำดับ มีรายได้ที่ 266.37 ล้านบาท และ 36.22 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2564 ขาดทุน 30.50 ล้านบาท มีรายได้ 9.02 ล้านบาท
ด้านคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หุ้น UREKA เคลื่อนไหวในแพตเทิร์นเดิมๆ คือ มีการลากราคาให้สูงขึ้น จากนั้นจะมีแรงขายทิ้งหุ้นออกมา โดยปัจจุบันหุ้นตัวนี้มีแนวต้านสำคัญที่ 3 บาท และ 3.14 บาท และมีแนวรับแรกที่ 2.24 บาท แนวรับถัดไปที่ 1.90 บาท โดยกลยุทธ์การลงทุนสำหรับหุ้นเก็งกำไรนั้น นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยด้านเทคนิคควบคู่กับความเสี่ยงและความคุ้มค่าจากผลตอบแทนการลงทุนที่จะได้รับด้วย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP