วันนี้ (28 กันยายน) iLaw รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเลื่อนวินิจฉัยกฎหมายแพ่งสมรสเฉพาะชาย-หญิง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 14 ธันวาคม 2564 แทน หลังจากที่มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศและเครือข่าย เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้ชายหญิงต่างเพศเท่านั้นสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่บัญญัติว่า ‘บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน’
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศและเครือข่ายพร้อมทนายความเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เหตุกฎหมายจดทะเบียนสมรสทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้จนเสียสิทธิต่างๆ ที่พึงมีเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง
iLaw รายงานเพิ่มเติมว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รับรองสิทธิในการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะถือเป็นการนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียม โดยศาลรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดคำบังคับได้ว่าจะให้คำวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญมีผลเมื่อไร อาจกำหนดให้มีผลหลังจากศาลวินิจฉัยก็ได้ เพื่อฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีเวลาดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา อนุญาตให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
นอกจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสมรสเท่าเทียมที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 14 ธันวาคมนี้แล้ว ยังมีกระบวนการนิติบัญญัติที่รอการพิจารณาด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และร่างกฎหมายดังกล่าวก็ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วเป็นเวลากว่า 1 ปี แต่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง ชั้นรับหลักการ จึงต้องติดตามช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการประชุมสภาสมัยหน้า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่