ค่ำคืนนี้สำหรับคอบอลแล้ว นอกจากรายการยูฟ่ายูโรปาลีก ที่ลงทำการแข่งขันประจำในวันพฤหัสบดีเป็นหลักแล้ว จะมีอีกหนึ่งรายการให้ได้ลุ้นและติตตามด้วยกับรายการฟุตบอลน้องใหม่ล่าสุดอย่างยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก ที่เริ่มต้นทำการแข่งขันในฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลแรก
การกำเนิดของยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก (หรือตัวย่อภาษาอังกฤษ #ECL) ทำให้ยูฟ่ามีรายการแข่งขันระดับสโมสรยุโรป 3 รายการอีกครั้งหลังจากที่ยุบยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ที่จะให้แชมป์ฟุตบอลถ้วยแต่ละประเทศเข้าร่วมแข่งขันไปเมื่อปี 1999 ซึ่งเคยเป็นถ้วยใบรอง และมีการปรับรูปแบบรายการถ้วยใบเล็กอย่างยูฟ่าคัพ มาเป็นยูฟ่ายูโรปาลีก ตั้งแต่ฤดูกาล 2009-10 ไม่นับรายการอินเตอร์โตโต้คัพ ที่เป็นใบผ่านทางไปสู่รายการยูฟ่าคัพในอดีต
ลำดับของฟุตบอลถ้วยยุโรปในฤดูกาลนี้ (2020-21) เป็นต้นไป จะเป็นยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่ายูโรปาลีก (กลายเป็นถ้วยใบกลาง และมีการปรับรูปแบบให้เหมือนแชมเปียนส์ลีก) และยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก
แน่นอนว่าการจัดรายการแข่งขันใหม่ของยูฟ่าย่อมถูกมองด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจว่าจะแตกหน่อออกมาทำไม ในเมื่อปัจจุบันนี้การแข่งขันแน่นจนล้นอยู่แล้ว และโดยเฉพาะแฟนสโมสรใหญ่ที่จะรู้สึกว่าการต้องเข้าร่วม ถ้วยใบนี้คือความอับอายด้วยความเป็นถ้วยใบเล็กสุด
แต่จริงๆ แล้วแนวคิดที่อยู่หลังยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีกคืออะไรกันแน่? และใครบ้างที่จะได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน? THE STANDARD นำข้อมูลและเรื่องราวมาฝากเป็นการแนะนำตัวให้รายการฟุตบอลน้องใหม่รายการนี้
ใครที่เข้าร่วมรายการนี้บ้าง?
ยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก มีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 184 ทีมด้วยกัน โดยจะมีอย่างน้อยชาติละ 1 สโมสรจาก 55 สมาคม และมี 46 สโมสรที่จะมาร่วมแข่งขันหากหล่นลงมาจากรอบคัดเลือกแชมเปี้ยนส์ลีก หรือยูโรป้าลีก
การแข่งขันจะเริ่มตั้งแต่รอบคัดเลือก (Qualifying) ซึ่งมีทั้งหมด 3 รอบ จากนั้นคือรอบเพลย์ออฟ ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นเส้นทางสำหรับทีมที่มาจากแชมเปียนส์ลีก และยูโรปาลีก
ที่สำคัญคือจะไม่มีทีมใดที่ได้ผ่านเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่มโดยตรง อย่างน้อยจะต้องลงแข่งขันในรอบเพลย์ออฟ (ยกตัวอย่างเช่น ท็อตแนม ฮอตสเปอร์) โดยในรอบแบ่งกลุ่มจะมีทั้งหมด 32 ทีมด้วยกัน โดยมาจาก
- 17 ทีมที่มาจากเส้นทางหลักของยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก
- 5 ทีมจากเส้นทางแชมเปียนส์ (Champions Path) ของยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก (คือเป็นทีมแชมป์ลีกของประเทศต่างๆ)
- 10 ทีมที่ตกรอบเพลย์ออฟของยูฟ่ายูโรปาลีก
รูปแบบการแข่งขัน
สำหรับรูปแบบการแข่งขันจะเหมือนกับยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และยูฟ่ายูโรปาลีกในปัจจุบัน ในรอบแบ่งกลุ่มจะมีทั้งหมด 32 ทีม แบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม
หลังจากนั้นจะเอาผู้ชนะของทั้ง 8 กลุ่มผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ส่วนโควตาอีก 8 ทีมจะมาจากการเล่นเพลย์ออฟกันระหว่างรองแชมป์กลุ่ม 8 ทีมกับทีมอันดับ 3 ในรอบแบ่งกลุ่มยูโรปาลีก
เมื่อได้ 16 ทีมครบแล้วในรอบน็อกเอาต์ จะแข่งในรูปแบบปกติที่คุ้นเคย คือเล่นเหย้า-เยือน แต่ไม่มีกฎประตูทีมเยือนแล้วไปจนถึงรอบรองชนะเลิศ ส่วนรอบชิงชนะเลิศจะแข่งขันกันเกมเดียวรู้ผลทันที
นัดชิงแข่งที่ไหน?
สำหรับนัดชิงชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก ครั้งแรกจะจัดที่อารีนา คอมเบตาเร (Arena Kombëtare) หรือสนามกีฬาแห่งชาติที่เมืองติรานา ในประเทศแอลเบเนีย
สนามแห่งนี้มีความจุทั้งสิ้น 21,690 คน โดยเป็นสนามที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการ HatTrick ของยูฟ่าที่ช่วยเหลือชาติที่ยังขาดแคลนระบบพื้นฐานสำหรับการพัฒนาวงการฟุตบอลที่ดี
แชมป์รายการนี้จะได้อะไร?
สำหรับผู้ชนะรายการนี้จะได้สิทธิ์ในการเข้าร่วมแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่ายูโรปาลีกทันที ในวงเล็บว่าในกรณีที่ไม่ได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่แชมเปียนส์ลีก จากรายการแข่งขันภายในประเทศ
คุณค่าและความหมายของยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก
สิ่งที่เป็นคำถามมากที่สุดสำหรับรายการนี้คือมีขึ้นทำไม?
เรื่องนี้ทางด้านยูฟ่าชี้แจงว่าเป็นเพราะต้องการให้สโมสรที่มาจากลีกระดับรองลงไปได้มีโอกาสที่จะแข่งขันในรายการฟุตบอลยุโรปมากขึ้น และมีส่วนร่วมนานขึ้น มากกว่าแค่ได้เข้าร่วมรอบคัดเลือกหรือรอบเพลย์ออฟของแชมเปียนส์ลีก หรือยูโรปาลีกแล้วแพ้ทีมใหญ่ตกรอบโดยไม่เหลือลุ้นอะไรอีก
“เราอยากให้รายการแข่งขันของเราได้ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสโมสรหรือแฟนบอล ได้มีโอกาสที่จะฝัน มีโอกาสที่จะแข่งขันเพื่อไล่ล่าเกียรติยศของสโมสรยุโรป”
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือเรื่องของเงินรางวัล โดยสโมสรที่ได้ผ่านเข้ามาเล่นรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก จะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 2.6 ล้านปอนด์เป็นอย่างน้อย ซึ่งแม้จะน้อยกว่ายูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมาก แต่เมื่อเทียบกับ 3 ล้านปอนด์สำหรับทีมที่ผ่านมาถึงรอบแบ่งกลุ่มยูโรปาลีกแล้ว เงินจำนวนนี้สำหรับสโมสรเล็กๆ มีความหมายอย่างมากต่อการลืมตาอ้าปากของพวกเขาโดยเฉพาะในยามนี้
ต่อให้สโมสรเล็กๆ เหล่านี้มาไม่ถึงรอบแบ่งกลุ่ม แต่แค่การได้เล่นรอบคัดเลือกก็ได้เงินรางวัลติดมือจำนวนหนึ่งแล้ว
ไม่นับความรู้สึกของแฟนบอลทีมเล็กๆ ที่จะมีโอกาสได้มีความสุขไปกับการเห็นทีมลงแข่งขันในรายการสโมสรยุโรป ได้เดินทางไปเชียร์ทีมในต่างแดน สิ่งเหล่านี้นั้นประเมินค่าไม่ได้
ดังนั้น ถึงจะเป็นถ้วยใบเล็กที่ทีมใหญ่ไม่มีใครอยากสนใจ แต่สำหรับสโมสรในระดับรองแล้วนี่คือโอกาสและเวทีสำหรับพวกเขาอย่างแท้จริง
ลองนึกภาพ มูรา สโมสรจากสโลวีเนียได้ไปเยือนสนามใหม่ของท็อตแนม ฮอตสเปอร์ หรือโบโดกลิมต์ ได้ต้อนรับการมาเยือนของโรมา ว่าจะน่าตื่นเต้นแค่ไหนสำหรับแฟนบอลทีมเหล่านี้
และมันอาจทำให้เราจดจำได้อีกครั้งว่า ฟุตบอลนั้นคือเกมสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะสโมสรยักษ์ใหญ่ที่รำ่รวยเท่านั้น
อ้างอิง:
- https://www.uefa.com/uefaeuropaconferenceleague/news/0264-10fe90612aa3-37b2bc77f89e-1000–europa-conference-league-explained/
- https://www.theguardian.com/football/2021/jul/18/uefas-conference-league-bohemians-new-saints-gets-thumbs-up-from-smaller-clubs
- https://www.theguardian.com/football/2021/jul/18/uefas-conference-league-bohemians-new-saints-gets-thumbs-up-from-smaller-clubs
- https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-9996857/Europa-Conference-League-Format-watch-Tottenham-knockout-dates-odds.html