×

ทำไมมูลค่า ‘หุ้นแบงก์ไทย’ รั้งท้ายเมื่อเทียบกับต่างประเทศ: นัยต่อการปรับตัวของธนาคารไทยหลังโควิด

16.09.2021
  • LOADING...
Thai bank shares

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คงทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถึงความสำคัญของสถาบันการเงินไทย ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถเข้าถึงสภาพคล่องและลดภาระหนี้ที่มีอยู่ จนสามารถผ่านช่วงวิกฤตไปด้วยกันได้ ถึงแม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นที่กระทบต่อสถาบันการเงินเท่ากับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้พอสมควร 

 

การเปลี่ยนแปลงของธนาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศถือเป็นสถาบันการเงินหลักที่ภาคธุรกิจและประชาชนใช้พึ่งพาในการกู้ยืมสินเชื่อ โดยเป็นแหล่งเงินทุนอันดับแรก เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งที่มาของเงินทุนอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มีอัตราส่วนคิดเป็น 111% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) สูงเป็นอันดับ 1 โดยมีปริมาณมูลค่าสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคิดเป็น 108% เป็นลำดับรองลงมา ในขณะที่มูลค่าพันธบัตรรวมมีสัดส่วนน้อยที่สุด โดยคิดเป็น 89% ของ GDP 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในประเทศอื่นๆ จะพบว่า แต่ละประเทศมีรูปแบบการพึ่งพาแหล่งเงินทุนที่ต่างกันไป โดยประเทศไทยถือว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศเกาหลีใต้และมาเลเซีย เนื่องจากมีสัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์ในขนาดใกล้เคียงกัน แต่มาเลเซียมีการพึ่งพาตลาดพันธบัตรมากกว่าแหล่งเงินทุนอื่นๆ เล็กน้อย นอกจากนี้ข้อมูลจากต่างประเทศยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่บางประเทศไม่ได้อาศัยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เป็นแหล่งเงินทุนหลัก เช่น ประเทศฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ที่มีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์สูงที่สุด หรือประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าตลาดพันธบัตรสูงที่สุด

 

อย่างไรก็ดี แม้ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีความสำคัญต่อประเทศสูง เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจและการบริโภคในประเทศ แต่มูลค่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ จนทำให้มูลค่าการปรับตัวลดลงสูงกว่าในอดีต และถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่นๆ 

 

ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า อัตราส่วน Price to Book Value (P/BV) หรือราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยมีค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ 0.62 ซึ่งแสดงถึงมุมมองของนักลงทุนที่ให้ความคาดหวังถึงการเติบโตของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับ P/BV ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียจะพบว่า ประเทศไทยมีอัตราส่วน P/BV ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม (1.92) มาเลเซีย (0.94) ฟิลิปปินส์ (1.88) และสิงคโปร์ (1.16) รวมไปถึงกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ เกาหลีใต้ (1.21) และสหรัฐอเมริกา (1.29)

 

สาเหตุที่มูลค่าของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากผลประกอบการรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีการปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤต อันเป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลง และการตั้งสำรองที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินเชื่อที่มีคุณภาพด้อยลงด้วยเช่นกัน อันเป็นผลจากความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ที่ลดลงของลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อย

 

อย่างไรก็ดี มูลค่าของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปรับตัวลดลงถือว่ามีการปรับลดลงสูงเมื่อเปรียบเทียบความสามารถในทำกำไร เนื่องจากช่วงเวลาเดียวกันที่รายได้ของธนาคารมีการปรับตัวลดลง ธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีการปรับตัวในหลายด้าน ทั้งโครงสร้างการทำงาน การบริหารต้นทุน จนทำให้ภาพรวมอัตราส่วนกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ Return on Equity (ROE) ของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ที่มี P/BV สูงกว่าประเทศไทย

 

Thai bank shares

 

แน่นอนว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดในครั้งนี้ มีความรุนแรงสูงเป็นวงกว้างไปยังธุรกิจภาคบริการและแรงงานจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้มุมมองต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ 

 

ดังนั้นในอนาคตที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการปรับบทบาทจากการทำหน้าที่หลักเป็นผู้ให้สภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจและประชาชนผ่านการให้กู้ยืมสินเชื่อ ควรเพิ่มบทบาทของธนาคารในด้านการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตในครั้งนี้ แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ต้องช่วยเหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในยามที่ผู้ประกอบการมีความสามารถในการจ่ายหนี้ลดลง แต่ธนาคารพาณิชย์สามารถเพิ่มบทบาทของตนเอง เป็นผู้ประสานงานระหว่างธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เพื่อเสริมสร้างซัพพลายเชนให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนธุรกิจ SMEs ให้เข้าสู่ซัพพลายเชน ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสให้แก่ธุรกิจ SMEs แต่ยังทำให้การเติบโตของธุรกิจ SMEs มีความยั่งยืน (Sustainability) เพิ่มมากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

 

สำหรับลูกค้ารายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีบทบาทสำคัญในการให้กู้ยืมเพื่อใช้จ่ายเป็นหลัก สามารถปรับเพิ่มบทบาทของตนเองได้เช่นกัน โดยการดูแลและสนับสนุนชีวิตทางการเงิน (Financial Well-Being) ของลูกค้าให้ดีขึ้น เนื่องจากวิกฤตโควิดในครั้งนี้ส่งผลกระทบหนักต่อสถานะการเงินของประชาชนในวงกว้าง การเข้าไปสนับสนุนการใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมไปถึงการแนะนำการกู้ยืมที่เป็นประโยชน์ จะช่วยทำให้ลูกค้ารายย่อยได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของตนเองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถสนับสนุนด้านการลงทุนและการประกันภัย เพื่อเป็นการคุ้มครองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

กล่าวโดยสรุป ปัจจัยด้านการเงินและสภาพเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจอนาคต และธนาคารพาณิชย์ไทยในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของประเทศ ควรผลักดันบทบาทของธนาคารให้มีหน้าที่เพื่อสนับสนุนการเติบโตในภาคธุรกิจและความแข็งแกร่งให้กับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้ดีขึ้นต่อไป

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X