×

เจาะลึกยอดตายโควิดระลอกล่าสุด ยอดลดลงจริงไหม ไม่ฉีดวัคซีนมีโอกาสตายเยอะกว่าจริงหรือไม่

14.09.2021
  • LOADING...
ยอดตายโควิด

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่รายวันมีข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ความล่าช้าในการรายงาน (Reporting Lag) ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตตามวันที่รายงาน (Reported Date) อาจแกว่งตัวเพิ่มขึ้น-ลดลงมาก และไม่สะท้อนสถานการณ์จริง เช่น ผู้เสียชีวิตวันที่ 7 กันยายน แต่เพิ่งรายงานเป็นผู้เสียชีวิตรายใหม่ในวันที่ 14 กันยายน เพราะต้องมีการตรวจหาเชื้อหรือการชันสูตรก่อน
  • เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เคยมีกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเกิน 300 ราย กรมควบคุมโรคชี้แจงว่า บางจังหวัดมีการรายงานผู้เสียชีวิตสะสม เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล และบางรายเสียชีวิตก่อนที่จะทราบว่าติดเชื้อ จึงทำให้ต้องทบยอดผู้เสียชีวิตมาในวันนั้น ดังนั้นในการประเมินสถานการณ์จึงควรวิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตตามตามวันที่เสียชีวิต (Death Date)
  • การสรุปข้อมูลทางสถิติให้เข้าใจง่ายเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป แต่จะต้องตรงไปตรงมา และอาจอธิบายหลักวิชาการเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจและความไว้ใจให้กับการสื่อสารของ ศบค. เอง

“สถิติชี้ คนไม่ฉีดวัคซีนมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนฉีดวัคซีน” ผมสะดุดกับข้อสรุปของอินโฟกราฟิกเรื่องการได้รับวัคซีนและจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ถึงแม้ประโยคนี้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนยอมรับ เพราะงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า วัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันการเสียชีวิต แต่ ‘สถิติ’ ที่อินโฟกราฟิกอ้างถึงกลับไม่สามารถสรุปเช่นนั้นได้

 

ปกติแล้วอินโฟกราฟิกของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จะนำมาจากการแถลงข่าวของ ศบค. ผมจึงเข้าไปอ่านโพสต์รวมสไลด์แถลงสถานการณ์โควิดจาก ศบค. ประจำวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 พบว่า มีการนำเสนอเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมด 7 สไลด์ มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นที่ประชาชนทั่วไปควรทราบ แต่จะต้องแปลผลตามหลักวิชาการไปพร้อมกัน

 

ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าจริงหรือไม่

 

ภาพที่ 1 อินโฟกราฟิกผู้เสียชีวิตจากโควิด และประวัติการได้รับวัคซีน

 

ถ้าเลื่อนนิ้วผ่านอย่างรวดเร็ว อินโฟกราฟิกที่ผมพูดถึงก็น่าจะสรุปได้อย่างที่พาดหัวว่า ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน เพราะกราฟแท่งสีแดงของผู้ที่ ‘ไม่ได้ฉีดวัคซีน’ ยาวที่สุด คิดเป็น 64.6% รองลงมาเป็น ‘ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน’ (ตรวจสอบในระบบหมอพร้อมแล้วไม่พบการประวัติการฉีดวัคซีน) คิดเป็น 20.2% รวมเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนทั้งหมด 84.8%

 

ซึ่งมากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว (15.2%) อย่างชัดเจน แต่สังเกตว่าอินโฟกราฟิกนี้กล่าวถึงเฉพาะผู้เสียชีวิตเท่านั้น ดังนั้นร้อยละที่นำมาเปรียบเทียบนี้จึงเป็นเพียง ‘สัดส่วน’ ของผู้ที่ได้/ไม่ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้เสียชีวิตเท่านั้น (ถ้าอ่านสไลด์ต้นฉบับในภาพที่ 2 น่าจะเข้าใจมากขึ้น) ในขณะที่ ‘อัตราการเสียชีวิต’ จะต้องกล่าวถึงผู้ที่ได้/ไม่ได้ฉีดวัคซีนทั้งหมด ซึ่งจะรวมผู้ที่ไม่เสียชีวิตด้วย

 

เช่น ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จำนวนผู้เสียชีวิต…ราย จากผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนทั้งหมด… คน คิดเป็น X% และผู้ที่ได้ฉีดวัคซีน จำนวนผู้เสียชีวิต…ราย จากผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนทั้งหมด…คน คิดเป็น Y% จากนั้นถึงจะนำอัตรการการเสียชีวิต X และ Y มาเปรียบเทียบกันได้ หรือถ้าจะเปรียบเทียบ ‘อัตราการป่วย-เสียชีวิต’ ก็จะต้องกล่าวถึงผู้ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งจะรวมผู้ที่ไม่เสียชีวิตด้วยเช่นกัน

 

ในทางวิชาการ การวิเคราะห์ข้อมูลในกลุ่มผู้เสียชีวิตเพียงกลุ่มเดียวถือเป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Study) คือพรรณนาลักษณะของผู้เสียชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งสมมติฐานและการศึกษาเชิงวิเคราะห์ (Analytic Study) โดยมีกลุ่มเปรียบเทียบ เช่น เปรียบเทียบประวัติการฉีดวัคซีนระหว่างผู้เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต หรือเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างผู้ที่ได้และไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

ดังนั้นพาดหัวที่เหมาะสมคือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือในช่วงเวลาเดียวกันนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ อังกฤษ ก็เผยแพร่การวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตในลักษณะเดียวกันนี้ แต่สำนักข่าว The Guardian พาดหัวข่าวว่า “ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วคิดเป็น 1.2 % ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด” (เทียบกับของไทย 0.8%) ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของวัคซีนมากกว่า

 

ภาพที่ 2 สไลด์ผู้เสียชีวิตจากโควิด และประวัติการได้รับวัคซีน

ในคอลัมน์ขวาสุดของตารางระบุว่า ‘จำนวนผู้ป่วยเสียชีวิต (%)’ 

แสดงว่าเป็นสัดส่วนในกลุ่มผู้เสียชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถสรุปเป็น ‘อัตราการเสียชีวิต’ ได้

 

ในภาพที่ 2 ยังมีสถิติอีกชุดหนึ่งคือกราฟแท่งด้านล่าง แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตจำแนกตามกลุ่มอายุและประวัติการฉีดวัคซีน สังเกตว่า กลุ่มอายุ 60-69 ปีและ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ยังมีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเกินครึ่ง (น่าจะเกิน 3 ใน 4 ส่วน) แสดงว่า การฉีดวัคซีนที่ผ่านมายังเข้าไม่ถึงกลุ่มเสี่ยง จนทำให้กลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อแล้วเสียชีวิตในที่สุด

 

ผู้เสียชีวิตในไทยเป็นคนกลุ่มไหน

ในการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 (วันที่ 1 เมษายน – 9 กันยายน 2564) มีผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมด 13,637 ราย กองระบาดวิทยาวิเคราะห์ลักษณะของผู้เสียชีวิตแสดงในภาพที่ 3 พบว่า อายุมัธยฐาน 67 ปี (ค่ามัธยฐานได้จากการเรียงข้อมูลจากน้อยที่สุดไปมากที่สุด แล้วหาค่าที่อยู่ตรงกลางคือ 67 ปี แสดงว่าเกินครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ) อายุน้อยที่สุด 12 วัน และอายุมากที่สุด 109 ปี ผู้ชายมีสัดส่วนมากกว่าผู้หญิง 

 

โรคประจำตัวที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ความดันโลหิตสูง (HT) รองลงมาเป็นเบาหวาน (DM) เบาหวานร่วมกับความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง (DLP) และไตวายเรื้อรัง (CKD) เห็นอย่างนี้แล้วหลายคนอาจสรุปว่า ‘ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต’ หรือสงสัยว่าทำไมถึงไม่จัดผู้มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน

 

กรณีนี้จะเหมือนกับเรื่องการไม่ได้รับฉีดวัคซีน ถึงแม้จะพบโรคความดันโลหิตสูงเป็นสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มผู้เสียชีวิต แต่เนื่องจากไม่มีการเปรียบเทียบสัดส่วนโรคนี้ในผู้ติดเชื้อที่หายกลับบ้าน (อาจพบมากที่สุดเหมือนกันก็ได้ เพราะความชุกของโรคความดันโลหิตสูงในประชากรทั่วไปมากถึง 25%) จึงยังไม่สามารถสรุปเช่นนี้ได้ และต้องศึกษาเชิงวิเคราะห์เพื่อทดสอบสมมติฐานต่อ

 

ภาพที่ 3 ลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้เสียชีวิตด้วยโควิด

 

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด (77.4% แต่จะสรุปว่าต่างจังหวัดเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตก็ไม่ได้อีกเช่นกัน) ส่วนใหญ่เสียชีวิตในโรงพยาบาล (95.29%) แต่มี 361 ราย (2.65%) ที่เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ในผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้พบว่า มีอายุมัธยฐาน 67 ปี อายุน้อยที่สุด 2 ปี และอายุมากที่สุด 100 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ 113 ราย (31.3%) และตรวจพบเชื้อหลังจากเสียชีวิต 56 ราย (15.5%) ดังภาพที่ 4

 

ภาพที่ 4 ลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล

 

จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดลดลงจริงหรือไม่

การรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่รายวันมีข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ความล่าช้าในการรายงาน (Reporting Lag) ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตตามวันที่รายงาน (Reported Date) อาจแกว่งตัวเพิ่มขึ้น-ลดลงมาก และไม่สะท้อนสถานการณ์จริง เช่น ผู้เสียชีวิตวันที่ 7 กันยายน แต่เพิ่งรายงานเป็นผู้เสียชีวิตรายใหม่ในวันที่ 14 กันยายน เพราะต้องมีการตรวจหาเชื้อหรือการชันสูตรก่อน

 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เคยมีกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเกิน 300 ราย กรมควบคุมโรคชี้แจงว่า บางจังหวัดมีการรายงานผู้เสียชีวิตสะสม เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล และบางรายเสียชีวิตก่อนที่จะทราบว่าติดเชื้อ จึงทำให้ต้องทบยอดผู้เสียชีวิตมาในวันนั้น ดังนั้นในการประเมินสถานการณ์จึงควรวิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตตามวันที่เสียชีวิต (Death Date) ดังภาพที่ 5

 

ภาพที่ 5 แนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิต จำแนกตามวันที่เสียชีวิต

 

กองระบาดวิทยาวิเคราะห์แยกเป็น 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ (สีน้ำเงิน) ปริมณฑล (สีส้ม) และจังหวัดอื่น (สีเหลือง) จะเห็นว่าสถานการณ์ในทุกพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยจำนวนผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ส่วนต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจนสูงกว่ากรุงเทพฯ และถึงจุดสูงสุดประมาณกลางเดือนสิงหาคม และลดลงช้ากว่า

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเดือนกันยายนยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะกรมควบคุมโรคอาจยังไม่ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ตามธรรมชาติของการดำเนินโรค ผู้ที่มีอาการรุนแรงมักจะเสียชีวิตหลังการติดเชื้อ 2-3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการหรือตรวจพบว่าติดเชื้อ เพราะฉะนั้นจำนวนผู้เสียชีวิตในสัปดาห์นี้จึงสะท้อนสถานการณ์การระบาดเมื่อครึ่งเดือนที่แล้ว

 

อัตราป่วยเสียชีวิตสัมพันธ์กับความครอบคลุมของวัคซีนหรือไม่

สไลด์สุดท้ายที่ ศบค. เผยแพร่คือ อัตราป่วยเสียชีวิตและความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในทุกกลุ่มอายุตามร้อยละการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ดังภาพที่ 6 จะเห็นว่าตั้งแต่สัปดาห์ที่ 25 (วันที่ 20-26 มิถุนายน) เป็นต้นมา กราฟของอัตราป่วยเสียชีวิต (สีน้ำเงิน) เริ่มลดลง แสดงว่าผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงลดลง สวนทางกับกราฟความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน (สีส้ม) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี 

 

แต่ต้องแปลผลอย่างระมัดระวัง เพราะมีหมายเหตุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตช่วงสัปดาห์ที่ 30-36 (ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม) ยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากระยะเวลาติดเชื้อถึงเสียชีวิตพบได้สูงสุดถึง 100 วัน และเนื่องจากเป็นการศึกษาระดับประชากร (Ecological Study) ไม่ได้ใช้ข้อมูลระดับบุคคล จึงสรุปได้เพียงว่า มี ‘ความสัมพันธ์’ (Correlation) กันเท่านั้น แต่ไม่สามารถสรุป ‘ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ’ (Causality) ได้

 

ภาพที่ 6 อัตราป่วยตายและความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน

 

กองระบาดวิทยาวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำสไลด์ตามหลักวิชาการภายใต้ข้อจำกัดของระบบข้อมูลและมีข้อจำกัดในการแปลผล ผู้ที่นำผลการวิเคราะห์นี้ไปเผยแพร่ต่อต้องระมัดระวัง การสรุปข้อมูลทางสถิติให้เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป แต่จะต้องตรงไปตรงมาและอาจอธิบายหลักวิชาการเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจและความไว้ใจให้กับการสื่อสารของ ศบค. เอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X