เว็บไซต์ข่าวโกลบอล ไทม์สของทางการจีน รายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT) ได้มีคำขอร้องกึ่งคำสั่งส่งตรงถึงบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศ ให้ยุติยกเลิกการบล็อกลิงก์ในการเข้าถึงเว็บไซต์ของบริษัทคู่แข่งอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามล่าสุดของภาครัฐที่ต้องการจัดการกับพฤติกรรมการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในภาคอุตสากรรมอินเทอร์เน็ตในจีน
คำสั่งของทางกระทรวงมีขึ้นระหว่างการจัดประชุมแนวทางการกำกับบริหารกิจกรรมของบริษัทเทคโนโลยี เพื่อหารือถึงมาตรฐานในการให้บริการของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน โดยรายงานระบุว่า มีตัวแทนจากบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Alibaba, Tencent, ByteDance, Baidu และ Huawei เข้าร่วมรับฟังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง กระนั้นตัวแทนดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงความเห็นต่อการตัดสินใจของทางกระทรวง MIIT
กระนั้นการตัดสินใจครั้งนี้ของกระทรวงก็ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ ซึ่งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับมาตรฐานแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของจีนและจัดการปัญหาการผูกขาดภายในประเทศ โดย หลิวกัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของ Chinese Institute of New Generation Artificial Intelligence Development Strategies ซึ่งเป็นสถาบันพัฒนากลยุทธ์ปัญญาประดิษฐ์ของจีน กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนใช้กลยุทธ์เล็กๆ อย่างการบล็อกลิงก์เว็บไซต์คู่แข่ง ยกตัวอย่าง กรณีที่ Douyin แพลตฟอร์มแชร์วิดีโอในจีนของ ByteDance ยื่นฟ้อง Tencent ในกรุงปักกิ่ง เนื่องจาก Tencent บล็อกผู้ใช้งานไม่ให้แชร์เนื้อหาที่โพสต์บน WeChat และ QQ สื่อสังคมออนไลน์ของTencent กับทาง Douyin
ขณะที่ จางยี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถาบันวิจัย iiMedia มองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นภายในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีของจีน ซึ่งจะมีผลต่อการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของจีนสำหรับตลาดเทคโนโลยีโลกต่อไป
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทางสำนักงานทั่วไปของคณะกรรมาธิการคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน และสำนักงานทั่วไปของสภา ได้ออกหนังสือคู่มือการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพในการปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกการลงโทษและชดเชย โดยมีเป้าหมายหลักในการปฏิรูปแนวทางการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีน
ทั้งนี้หนึ่งในแนวทางสำคัญที่ทางสำนักงานเสนอคือ จัดตั้งดัชนีตลาดหุ้นสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Stock Index และพัฒนาการเทรดสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินโดยอิงจากสิทธิในทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหลายประการ รวมถึงสิทธิในการปล่อยมลพิษ สิทธิในน้ำ และสิทธิในการปล่อยคาร์บอน
หลายปีที่ผ่านมาจีนถือเป็นตลาดปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าประเมินคร่าวๆ เบื้องต้นสูงถึง 6,000 ล้านตัน เมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรปซึ่งมีอยู่ที่ราว 3,000 ล้านตัน ซึ่งทางการจีนตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060
ข้ามฟากมาที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนอย่าง Huawei โดย เอริก สวีจื้อจวิน (Eric Xu Zhiju) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เปิดเผยว่า ทาง Huawei Technologies กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบและอุปกรณ์รองรับเครือข่ายสัญญาณ 6G ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวอุปกรณ์ 6G ของ Huawei ภายในปีให้ได้
ซีอีโอของ Huawei Technologies รายนี้กล่าวว่า บริษัทเริ่มงานวิจัย 6G มาตั้งแต่ 2017 เพียงไม่นานหลังมีการเปิดตัวอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ
ความเห็นของประธานสวีแห่ง Huawei ที่ขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนการครบรอบ 1 ปีที่สหรัฐฯ มีคำสั่งแบนการจัดส่งชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยีจีน เมื่อวันที่ 15 กันยายนปี 2020
อ้างอิง: