การที่กองทัพสหรัฐฯ ส่งโดรนยิงจรวดสกัดคาร์บอมบ์ใกล้สนามบินคาบูล อาจเกิดจากความผิดพลาดของหน่วยข่าวกรอง หลังรายงานการสืบสวนเชิงลึกพบว่า ชายผู้ตกเป็นเป้าสังหารในเหตุการณ์โจมตีดังกล่าวทำงานให้กับองค์กรเอ็นจีโอ และอาจไม่ได้ครอบครองระเบิดอย่างที่เพนตากอนกล่าวอ้าง
หนึ่งในการโจมตีครั้งสุดท้ายของสหรัฐฯ ในการทำสงคราม 20 ปีในอัฟกานิสถาน ถูกท้าทายโดยสื่อชั้นนำของสหรัฐฯ อย่างหนังสือพิมพ์ The New York Times และ The Washington Post ที่ระบุว่าหลักฐานที่ได้จากรายงานการสืบสวนนั้น ไม่ตรงกับรายงานของกองทัพสหรัฐฯ ที่เชื่อว่า ชายคนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลามในอัฟกานิสถาน หรือกลุ่มไอซิส-เค (ISIS-K) และอาจมีระเบิดซุกซ่อนอยู่ในรถคันที่กองทัพสหรัฐฯ ยิงจรวดถล่ม
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม กองทัพสหรัฐฯ ได้เปิดฉากยิงจรวด Hellfire จากโดรน Reaper โจมตีรถยนต์คันหนึ่งที่เชื่อว่าบรรทุกระเบิดไว้เตรียมก่อเหตุคาร์บอมบ์อยู่ในนั้น ส่งผลให้ครอบครัวหนึ่งต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปถึง 10 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 6 คน ญาติของครอบครัวเผยกับ BBC
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กองทัพสหรัฐฯ อยู่ในภาวะเฝ้าระวังขั้นสูง เนื่องจากเมื่อ 3 วันก่อนหน้านั้น มือระเบิดฆ่าตัวตายได้ก่อเหตุสังหารพลเรือนมากกว่า 100 คน และทหารสหรัฐฯ 13 นายบริเวณนอกสนามบินคาบูล ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเร่งอพยพพลเรือนและเจ้าหน้าที่ออกจากอัฟกานิสถาน หลังจากที่กลุ่มตาลีบันได้บุกยึดครองเมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จ
The New York Times และ The Washington Post วิเคราะห์หลักฐานภาพถ่ายและวิดีโอ ตลอดจนสอบถามผู้เชี่ยวชาญและผู้เห็นเหตุการณ์ จนได้ข้อสรุปว่าไม่มีระเบิดในรถคันที่สหรัฐฯ ยิงจรวดโจมตี
กองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยว่าไม่ทราบตัวตนของชายที่ถูกสังหารก่อนที่จะเปิดฉากโจมตี แต่เชื่อว่าชายคนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอซิส-เค โดยในเวลานั้น พล.อ. มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วม เรียกปฏิบัติดังกล่าวว่า “การโจมตีโดยชอบธรรม”
The New York Times และ The Washington Post ยืนยันว่าชายที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของสหรัฐฯ คือ เอซมาไร อาห์มาดี วัย 43 ปี ซึ่งทำงานให้กับองค์กรเอ็นจีโอ Nutrition and Education International (NEI) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย และเขากำลังยื่นขอตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา
กองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยว่าทางกองทัพได้ติดตามรถเก๋งสีขาวคันหนึ่งซึ่งเชื่อว่าขับออกมาจากเซฟเฮาส์ของ IS และรถคันดังกล่าวได้หยุดจอดอย่างน่าสงสัยหลายครั้งเพื่อรับและส่งมอบของ โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าหนึ่งในของที่ชายคนดังกล่าวหยุดรับดูเหมือนจะเป็นของหนัก ซึ่งอาจเป็นวัตถุระเบิด
The New York Times ระบุในรายงานว่า ได้มีการวิเคราะห์ภาพวิดีโอวงจรปิดที่แสดงให้เห็นภาพในขณะที่อาห์มาดีกำลังขนแล็ปท็อปและถังเก็บน้ำ ซึ่งเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะบริเวณนั้นขาดแคลนน้ำ จากนั้นอาห์มาดีได้ขับรถกลับบ้าน โดยกองทัพสหรัฐฯ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมโดรนตัดสินใจยิงจรวดโจมตีหลังเห็นอาห์มาดีคุยกับชายอีกคนหนึ่ง แต่นอกจากอาห์มาดีแล้ว จรวดยังสังหารสมาชิกในครอบครัวที่มารวมตัวกันอยู่แถวนั้นด้วย ซึ่งรวมถึงเด็กน้อยอายุเพียง 2 ขวบ
สตีเวน ควอน ประธาน NEI เปิดเผยกับ THe Washington Post ว่า ทางองค์กรเป็นเจ้าของรถเก๋งโตโยต้าสีขาวคันที่ถูกโจมตี พร้อมทั้งปฏิเสธว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีการเชื่อมโยงใดๆ กับกลุ่ม IS “เรากำลังพยายามช่วยเหลือผู้คน แล้วเราจะมีระเบิดเอาไว้ฆ่าคนทำไม?” ควอนกล่าว
อย่างไรก็ดี เพนตากอนระบุว่า การระเบิดรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นหลังจากที่รถถูกจรวดโจมตีแสดงให้เห็นว่ามีระเบิดอยู่ในรถเก๋งจริง แต่ทั้ง The New York Times และ The Washington Post กล่าวว่าไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้
The Washington Post ส่งภาพในสถานที่เกิดเหตุให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ หนึ่งในนั้นกล่าวว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีระเบิดจำนวนมากอยู่ในรถ และกล่าวว่าไอน้ำมันเชื้อเพลิงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระเบิดครั้งที่สอง
ขณะที่ ไบรอัน แคสต์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญการประเมินหลังเกิดเหตุระเบิดกล่าวว่า การระเบิดครั้งที่สองอาจจะเกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ หรือเกี่ยวข้องกับแก๊สหรือน้ำมัน
ด้าน The New York Times อ้างการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ 3 คน ซึ่งชี้ว่าขาดหลักฐานการระเบิดในบริเวณใกล้เคียง โดยมีเพียงรอยบุบที่ประตูใกล้ๆ ไม่มีผนังปลิว ไม่มีสัญญาณว่ารถอีกคันในลานบ้านได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด และสวนผักในบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบ
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานฉบับสมบูรณ์หรือรายงานขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการโจมตีด้วยโดรน ขณะที่ จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน กล่าวถึงรายงานของสื่อมวลชนว่า กองบัญชาการกลางกองทัพสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการประเมินการโจมตีดังกล่าว และระบุด้วยว่า “ไม่มีกองทัพใดทำงานหนักไปกว่าที่เราทำเพื่อป้องกันการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนอีกแล้ว” AFP รายงาน
“ตามที่ พล.อ. มิลลีย์ ประธานเสนาธิการร่วมกล่าว การโจมตีเกิดจากข่าวกรองที่ดี และเรายังคงเชื่อว่าการโจมตีดังกล่าวป้องกันอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นที่สนามบินและต่อประชาชนของเรา” เคอร์บีกล่าว
ภาพ: Haroon Sabawoon / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: