เกิดอะไรขึ้น:
วันนี้ (10 กันยายน) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้รายงานปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT ในเดือนสิงหาคม โดยปริมาณจราจรบนทางด่วนลดลง 5.4%MoM และ 47.5%YoY สู่ 594,000 เที่ยวต่อวัน เนื่องจากเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสูงที่สุด และมีมาตรการล็อกดาวน์ สำหรับช่วง 8M64 ปริมาณจราจรบนทางด่วนลดลง 20%YoY
ขณะที่จำนวนผู้โดยสาร MRT ลดลง 19%MoM และ 78%YoY สู่ 62,400 เที่ยวต่อวัน โดยได้รับปัจจัยกดดันเช่นเดียวกันกับปริมาณจราจรบนทางด่วน สำหรับช่วง 8M64 จำนวนผู้โดย MRT สารลดลง 41.4%YoY
กระทบอย่างไร:
วันนี้ราคาหุ้น BEM ปรับตัวขึ้น 1.20%DoD สู่ระดับ 8.40 บาท สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ปรับตัวขึ้น 6.23 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.38%DoD สู่ระดับ 1,635.35 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS เชื่อว่าปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT ที่อ่อนแอในเดือนสิงหาคมเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และเราไม่คิดว่าจะเห็นการตอบรับเชิงลบหลังจากประกาศตัวเลขดังกล่าว ทั้งนี้ SCBS คาดว่าปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT จะฟื้นตัวปานกลางในเดือนกันยายน เนื่องจากประชาชนยังทำงานที่บ้านและโรงเรียนปิด และคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ด้านแนวโน้มกำไร 3Q64 ของ BEM SCBS คาดว่าจะลดลงทั้ง QoQ และ YoY เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์มีผลบังคบใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทำให้แนวโน้มปริมาณการจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT จะลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวใน 4Q64 เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง และเปิดโอกาสให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาว SCBS ยังคงคาดว่าแนวโน้มธุรกิจทางด่วนจะเติบโตอย่างจำกัด เนื่องจากบริษัทไม่มีแผนขยายการลงทุนในทางด่วนสายใหม่ และปริมาณการจราบนทางด่วนอยู่ในจุดที่อิ่มตัวแล้ว สำหรับ MRT แนวโน้มธุรกิจยังอยู่ในช่วงเติบโตโดยได้ปัจจัยหนุนจากการขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยให้จำนวนผู้โดยสารโดยรวมในระบบรถไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ SCBS เชื่อว่าประชาชนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปโดยหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจของ BEM ที่ต้องติดตามคือเทรนด์การทำงานที่บ้าน ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณการจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT ในระยะยาว