หุ้น บมจ.เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA) เริ่มกลับมาโดดเด่นและอยู่ในจอเรดาร์ของนักลงทุนหลายคนที่ชอบความตื่นเต้นหวือหวาอีกครั้ง ซึ่งการปรับตัวขึ้นมาของหุ้น AJA ในรอบนี้ มาพร้อมกับ ‘ข่าวลือ’ ที่ถูกปั้นออกมา (อีกครั้ง) ว่ากำลังมีกลุ่มทุนใหม่ให้ความสนใจเข้าลงทุน
ข่าวลือที่ว่านี้เป็นเพียงแค่กลลวงหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้หุ้น AJA พุ่งทะยานอย่างร้อนแรงร่วม 100% ภายในเวลาแค่ 4 วันทำการ จากระดับ 0.36 บาท มายืนเหนือระดับ 0.70 บาท ณ วันที่ 6 กันยายน 2564 ก่อนจะค่อยๆ ย่อตัวลง ล่าสุด หุ้น AJA ปิดตลาดภาคเช้าของวันนี้ (9 กันยายน) ที่ระดับ 0.67 บาท
ความร้อนแรงของหุ้น AJA ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องจับหุ้นตัวนี้เข้ามาอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ทันที หลังเข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ได้แค่วันเดียว กล่าวคือ นอกจากผู้ลงทุนที่จะซื้อหุ้น AJA ต้องวางเงินสดล่วงหน้า (Cash Balance) แล้ว ห้ามนำหุ้น AJA คำนวณวงเงินซื้อขายด้วย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2564
ในเวลาต่อมา AJA ได้ชี้แจงต่อกระแสข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านการรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทไม่ได้มีพัฒนาการใดๆ ในระยะเวลาอันใกล้ เช่น การเพิ่มทุน การร่วมทุน และไม่ทราบถึงสาเหตุอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้น
ฟังจากข้อชี้แจงของ AJA แล้ว อาจสรุปได้ว่า กระแสข่าวลือที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงก่อนหน้านี้คงเป็นเพียงความพยายามในการปั้นแต่งเพื่อหวังผลกำไรจากราคาหุ้นของผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร ดังนั้นนักลงทุนเองก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้
มาถึงตรงนี้บางคนอาจมีคำถามว่า แล้ว AJA คือใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และทำธุรกิจอะไร ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH จะพาไปทำความรู้จักกัน
AJA เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ภายใต้ชื่อ บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ (AJD) ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA) โดยประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องเล่นวีซีดี ดีวีดี และชุดโฮมเธียเตอร์ ก่อนขยายขอบเขตธุรกิจ เพิ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน ฯลฯ
หุ้น AJA เป็นหุ้นที่เคยร้อนแรงในอดีต ทั้งยังเคยถูกทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการลงโทษทางแพ่ง โดยสั่งปรับเป็นเงินรวมกว่า 1.7 พันล้านบาท ปัจจุบันคดีความยังคงค้างคาอยู่ในศาล ส่วนราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นมาในรอบนี้ แม้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่ด้วยพื้นฐานของตัวบริษัทแล้ว นักวิเคราะห์แนะนำให้ ‘หลีกเลี่ยง’ การลงทุน ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว
วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า ความเคลื่อนไหวของหุ้น AJA ที่กลับมาร้อนแรงในรอบนี้ นักลงทุนควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดว่าบริษัทจะมีดีลใหม่ๆ เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าบริษัทยังมีความเสี่ยงสูง จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนสุทธิต่อเนื่องหลายปี และถือเป็นหุ้นที่ขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับ สวนทางกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรง
นอกจากนี้ AJA ยังเป็นหุ้นที่มีประวัติการสร้างราคาในอดีต และเป็นหุ้นที่ถูกตรวจสอบโดยทางการ ดังนั้นนักลงทุนเองก็ควรต้องระมัดระวังในการลงทุน
“หุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่เล่นกันเป็นรอบๆ เช่น เมื่อมีกระแสข่าว ราคาหุ้นก็จะปรับตัวสูงขึ้นร้อนแรง หลังจากนั้นข่าวก็จะเงียบหาย โดยบริษัทไม่ได้มีพัฒนาการใดๆ ซึ่งราคาหุ้นที่ขึ้นมารอบนี้ก็ดูเหมือนจะมีอะไรแปลกๆ หุ้นสไตล์แบบนี้มักจะมีประเด็นลากให้ราคาสูงขึ้น เมื่อจบรอบราคาก็จะลดลง แล้วค่อยหาประเด็นมาดึงขึ้นรอบใหม่”
เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับกรรมการและผู้บริหาร AJA โดยขณะนั้นชื่อ บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ (AJD) ด้วยการกล่าวโทษ อมร มีมะโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมพวก 40 ราย ในคดีสร้างราคาหุ้น AJD โดย ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ชำระค่าปรับรวมกันกว่า 1,727 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน 3 ปี
ต่อมาปรากฏว่าอมรพร้อมพวก 40 ราย เพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ก.ล.ต. จึงส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการดำเนินการกล่าวโทษบุคคลทั้ง 40 รายต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย รวม 2,303 ล้านบาท พร้อมกับส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน
ด้าน ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น AJA ที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากการเก็งกำไรโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ อีกทั้งยังมีนักลงทุนบางกลุ่มเข้ามาซื้อในลักษณะลากหุ้นขึ้น ดังนั้นนักลงทุนทั่วไปจึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุน หรือหากต้องการเก็งกำไรระยะสั้นควรมีกลยุทธ์ในการตัดขาดทุนทันทีกรณีที่การลงทุนผิดทางจากที่คาดการณ์ไว้
“หุ้นตัวนี้ไม่มีพื้นฐาน บริษัทขาดทุนมาตลอด ค่า P/E ไม่มีมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงตอนนี้ คนที่เข้ามาเล่นแค่ต้องการเก็งกำไร เพราะธุรกิจที่ทำก็ไม่ได้โดดเด่น จึงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย”
ผลการดำเนินงาน 4 ปีย้อนหลัง (2560-2563) ของ AJA ขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยขาดทุนสุทธิที่ 409.77 ล้านบาท, 186.91 ล้านบาท, 370.24 ล้านบาท และ 132.08 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 38.67 ล้านบาท
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า หุ้น AJA ติด Cash Balance สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ การลงทุนในหุ้นตัวนี้จึงมีความเสี่ยงสูง รวมทั้งยังไม่มีปัจจัยที่จะหนุนให้ธุรกิจของบริษัทพลิกฟื้นเพื่อกลับมาเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นตัวนี้