SET Index ผันผวนมาตลอดทั้งปี ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิดที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว และสะดุดครั้งใหญ่ในเดือนมิถุนายน จากปัจจัยลบเรื่องการกลายพันธุ์ของโควิด และการจัดหาวัคซีนที่ดูเหมือนจะไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ได้ รวมทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศที่ทะลุหลัก 20,000 รายอยู่หลายวัน ซึ่งปัจจัยหลังสุดกดดันให้ SET Index ดิ่งลงราว 100 จุดในระยะเวลา 3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม)
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน พบว่ายังให้ผลตอบแทน +13.69% โดยล่าสุด (3 กันยายน) SET Index อยู่ที่ 1,650 จุด
อธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุน Fundamental VI เปิดเผยมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยว่า ดัชนี ณ ระดับ 1,650 จุด ซึ่งปรับขึ้นมาราว 200 จุดตั้งแต่ต้นปี เรียกได้ว่าเกินคาด
ย้อนกลับไปต้นเดือนสิงหาคมที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงเกิน 20,000 รายต่อวัน รวมทั้งจำนวนผู้เสียชาติอีกจำนวนมาก ณ ตอนนั้น มุมมองของนักลงทุนส่วนมากเต็มไปด้วยความกังวล ประกอบการการประชุมครั้งใหญ่ของ Fed ที่ Jackson Hole ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะกระทบต่อฟันด์โฟลวทั่วโลก
ณ เวลานั้น จุดชี้วัดในมุมมองนักลงทุนมี 2 เรื่องคือ
- สถานการณ์โควิดในประเทศ ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งสูงขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่รายวัน ขณะที่จำนวนวัคซีนดูเหมือนจะไม่เพียงพอ และไม่สามารถเร่งกระจายวัคซีนได้ตามแผน
- สถานการณ์ต่างประเทศ ซี่งมีอีเวนต์สำคัญคือการประชุมของ Fed ที่ Jackson Hole ที่จะเป็นตัวชี้วัดการทำ Tapering ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนย้ายกระแสเงินทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ในปลายเดือนสิงหาคม จุดชี้วัดทั้งสองคลี่คลายในทางที่ดี และทำให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จนมาทรงตัวในระดับ 1,650 จุดได้
อธิปให้มุมมองว่า สาเหตุที่มองว่าหุ้นไทยมาได้ไกลเกินคาด นั่นก็เพราะว่าในทางเศรษฐกิจจริง ความเสี่ยงและผลกระทบจากโควิดยังปรากฎออกมาไม่หมด โดยเฉพาะผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/64 ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าน่าจะปรับตัวลดลงทั้ง YoY และ MoM จากการปิดเมืองเป็นระยะเวลา 2 เดือนกว่า
อีกสาเหตุคือการปรับขึ้นของดัชนีครั้งนี้ค่อนข้างบิดเบี้ยว กล่าวคือ ดัชนีโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นได้เพราะหุ้นเพียงไม่กี่ตัว ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือหุ้น DELTA, MAKRO และ GULF ในขณะที่หุ้นอื่นๆ อีกมากที่ราคาไม่ได้ขยับขึ้น และอีกหลายหุ้นที่ราคากลับต่ำกว่าช่วงปี 2562 (Pre-COVID)
“ณ ดัชนี 1,650 จุด สูงกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีเป้าหมายปีนี้ที่ 1,635 จุดไปแล้ว แต่หากมองถึงสิ้นปี ก็เชื่อว่าหุ้นไทยจะมี Sentiment เชิงบวกมาเรื่อยๆ หากไม่มีการล็อกดาวน์อีกครั้ง ตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง และวัคซีนมาเพิ่มขึ้นจนสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง”
กลยุทธ์ที่ดีสำหรับนักลงทุนในตอนนี้คือเฟ้นหาหุ้นที่ราคายังต่ำ หรือหุ้น Laggard โดยวิธีหาหุ้น Laggard ในเบื้องต้นคือ เทียบราคาหุ้นตอนนี้กับช่วงปี 2562 ที่ทั้งโลกยังไม่ได้เข้าสู่วิกฤตการณ์โควิด หากราคาหุ้นตอนนี้ต่ำกว่าปี 2562 และเป็นหุ้นที่อยู่ในธุรกิจที่จะเติบโตพร้อมกับเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น ก็น่าสนใจ
อธิปกล่าวทิ้งท้ายว่า หากสถานการณ์ในประเทศไม่มีปัจจัยกดดันเพิ่ม เชื่อว่าหุ้นไทยจะกลับไปยืนที่ระดับ 1,800 จุดได้ในปี 2565
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investor ของไทย ให้มุมมองกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ดัชนีหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีน่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้แต่จะไม่มากนัก และไม่ใช่ลักษณะ Rally โดยหุ้นไทยปีนี้เริ่มต้นที่ดัชนีราว 1,450 จุด จนปัจจุบันที่ระดับ 1,650 จุด หรือปรับเพิ่มขึ้นมาราว 200 จุด ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่แย่ที่สุดในไตรมาส 3
โดยในช่วงปลายปีนี้นักลงทุนต่างมีความหวังว่าสถานการณ์การควบคุมโควิดในประเทศจะดีขึ้น และจะไม่มีการล็อกดาวน์อีกครั้ง สามารถเปิดประเทศได้ 100% ตามแผน และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้จริง
“ปัจจัยเรื่องโควิดในประเทศส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยโดยตรง ตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น นักลงทุนเริ่มมีความหวังว่าจะเป็นการฟื้นตัวที่แท้จริง จึงเข้าโหมด Risk on กันเพิ่มขึ้น ทำให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ในความเป็นจริงโควิดก็ยังไม่หายไปจากประเทศไทยและจากโลกนี้ ส่วนการกระจายวัคซีนก็ยังเป็นแผนงานที่ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ตลาดหุ้นมักจะสะท้อนภาพของความคาดหวังในอนาคตเสมอ”
ดร.นิเวศน์กล่าวว่า หากมองภาพยาวไปปี 2565 ประเมินว่าหุ้นไทยมีโอกาสจะกลับไปยืนที่ระดับ 1,800 จุดได้ ภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง กระจายวัคซีนได้เพียงพอจนสามารถสร้าง Herd Immunity ได้ และเปิดประเทศได้ 100% ตามแผน
โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคภายในประเทศที่ราคาหุ้นยัง Laggard อยู่ อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนจะเทียบค่า PE เพื่อดูความถูกหรือแพง ก็ควรเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่ได้เกิดโควิด
ขณะที่ วิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ นักลงทุนรายใหญ่ของไทย และเจ้าของเพจ พ่อสอนลูกลงทุน มีมุมมองต่อตลาดหุ้นในช่วงนี้และระยะกลางเป็นบวก เนื่องจากเชื่อว่าแรงกดดันจากสถานการณ์โควิดได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และจากนี้ไปสถานการณ์น่าจะดีขึ้นตามลำดับ
โดยหากเทียบกับสถานการณ์โควิดและความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย และโซนยุโรป-สหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นล้วนปรับเพิ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลแต่ละประเทศเริ่มควบคุมสถานการณ์โควิดได้ จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยก็น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน
ในฐานะนักลงทุนคนหนึ่งในตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าภาวะตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า ‘ตีห้า’ แล้ว หรือช่วงฟ้าเริ่มเปิด หลังจากตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์โควิดมาตั้งแต่ต้นปี 2563 บวกกับการเปิดเมืองเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้หุ้นไทยได้รับ Sentiment เชิงบวกมากยิ่งขึ้น
แม้จะเริ่มมองเห็นสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น แต่กลยุทธ์การลงทุนก็ยังเน้นเลือกหุ้นรายตัว โดยเฉพาะหุ้นที่ราคายังไม่สูงมาก และอยู่ในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก
“ที่ดัชนีขึ้นมาถึง 1,650 จุดรอบนี้ แน่นอนว่าหุ้นเด่นล้วนมีราคาที่ไปไกลมากแล้ว จากนี้ไปจะเป็นเวลาของหุ้นแถว 2 หรือหุ้น Laggard ที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตดี และได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ”
อย่างไรก็ตาม เสี่ยยักษ์ให้มุมมองเพิ่มว่า หากมองในเชิงปัจจัยพื้นฐานแล้วยอมรับว่าอาจจะไม่เห็นข่าวดีสักเท่าไร เนื่องจากกำไรในไตรมาส 3/64 จะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองค่อนข้างมาก จึงต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง