AstraZeneca + Pfizer เป็นวัคซีนไขว้สูตรใหม่ที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคมนี้ เพราะจะมีการนำเข้าวัคซีน Pfizer ประมาณเดือนละ 10 ล้านโดสจนถึงสิ้นปี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบสูตรการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งมีทั้งหมด 3 สูตร ดังนี้
- Sinovac + AstraZeneca ห่าง 3-4 สัปดาห์
- AstraZeneca + Pfizer ห่าง 4-12 สัปดาห์
- Sinovac 2 เข็ม กระตุ้นด้วย AstraZeneca ห่าง 4 สัปดาห์
บางคนได้ยินข่าวนี้อาจรู้สึกว่า ‘วัคซีนไขว้อีกแล้ว’ ‘ทำไมต้องฉีดวัคซีนไขว้ด้วย’ หรือ ‘มีงานวิจัยรองรับหรือไม่’ แต่ข่าวนี้ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะวัคซีนไขว้สูตร AstraZeneca + Pfizer ที่เพิ่งอนุมัตินี้มีผลการวิจัยในต่างประเทศรองรับ และหลายประเทศให้การยอมรับ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาด้วย บทความนี้จะมาเจาะลึกว่าวัคซีนสูตรนี้เป็นอย่างไร
ทำไมต้องไขว้ AstraZeneca + Pfizer
วัคซีนไขว้ (Heterologous prime-boost vaccination) หรือวัคซีน Mix & Match คือการฉีดวัคซีนต่างชนิดกันระหว่างวัคซีนเข็มที่ 1 (Primimg) และวัคซีนเข็มที่ 2 (Boosting) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยก่อนหน้านี้มีการวิจัยในโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค มาลาเรีย ถึงแม้ว่าจะวิจัยในระดับสัตว์ทดลอง ต่อมาในระยะหลังเริ่มมีการวิจัยวัคในโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และอีโบลาในระดับมนุษย์
สำหรับโควิด ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุผลด้านไวรัสหรือภูมิคุ้มกัน แต่มาจาก 2 สาเหตุคือ หลายประเทศในยุโรปมีความกังวลต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำและหลอดเลือดอุดตันภายหลังได้รับวัคซีน (VITT) ซึ่งผลข้างเคียงรุนแรงของวัคซีน AstraZeneca ถึงแม้จะพบยากก็ตาม และอีกสาเหตุคือ บางประเทศประสบปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีน จึงอนุมัติการฉีดวัคซีนไขว้และการวิจัยไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ วัคซีนโควิดแบ่งตามเทคโนโลยีการผลิตเป็น 4 ชนิดหลัก ได้แก่ ชนิดสารพันธุกรรม (messenger RNA: mRNA) ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) ชนิดที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) และชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ดังนั้น วัคซีนไขว้สูตรใหม่นี้เป็นการฉีดวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ + ชนิดสารพันธุกรรม
ผลการวิจัยสูตรไขว้ในต่างประเทศ
งานวิจัยหลักของวัคซีนไขว้ชื่อว่า Com-Cov (Comparing COVID-19 Vaccine Schedule Combination) ในสหราชอาณาจักร เป็นการศึกษาเชิงทดลองเปรียบเทียบการฉีดวัคซีน 4 สูตร ระหว่างการฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer 2 เข็มตามปกติ และการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยฉีด AstraZeneca หรือ Pfizer ก่อน ในอาสาสมัครอายุ 50 ปีขึ้นไป เริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ผลการวิจัยเบื้องต้นที่เผยแพร่ออกมาในขณะนี้เป็นการศึกษาด้านภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย โดยการศึกษาด้านภูมิคุ้มกัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ระดับภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนาม (Anti-spike IgG) หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ครบ 28 วัน ซึ่งคล้ายกับที่หลายคนไปเจาะเลือดตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย และ 2. การตอบสนองของเม็ดเลือกขาวชนิด T (T cell response)
ค่าเฉลี่ยเรขาคณิตของระดับภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามของสูตร AstraZeneca + Pfizer เท่ากับ 12,906 ELU/mL เทียบกับสูตร AstraZeneca ปกติ 1,392 ELU/mL หรือคิดเป็น 9.2 เท่า ในขณะที่สูตร Pfizer + AstraZeneca กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่าสูตร Pfizer ปกติ (ค่าเฉลี่ยเรขาคณิตของระดับภูมิคุ้มกันเท่ากับ 7,133 เทียบกับ 14,080 ELU/mL หรือคิดเป็น 0.51 เท่า)
ส่วนการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิด T ซึ่งมีบทบาทสำคัญในภูมิคุ้มกันระยะยาว สูตร AstraZeneca + Pfizer มีการตอบสนองสูงที่สุดเท่ากับ 185 SFC/106 PBMCs เปรีบเทียบกับ 50, 80 และ 99 SFC/106 PBMCs ของสูตร AstraZeneca ปกติ, Pfizer ปกติ และ Pfizer + AstraZeneca ตามลำดับ ผลการศึกษาทั้ง 2 ส่วนจึงแสดงให้เห็นว่าสูตร AstraZeneca + Pfizer สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
ภาพที่ 1 ผลการศึกษาด้านภูมิคุ้มกัน ภาพบนเป็นระดับภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนาม ส่วนภาพล่างเป็นการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิด T กราฟเส้นสีเหลืองเข้มคือสูตร AstraZeneca + Pfizer เปรียบเทียบกับกราฟเส้นสีเหลืองอ่อนคือสูตร AstraZeneca ปกติ ส่วนสีเขียวคือสูตร Pfizer ปกติ
การศึกษาด้านความปลอดภัย หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในสูตรไขว้ พบว่ามีผลข้างเคียงมากกว่า เมื่อเทียบกับสูตรปกติของแต่ละชนิด ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดเมื่อย และปวดกล้ามเนื้อ แต่ไม่มีอาการรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาล และส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังการฉีดวัคซีน และเมื่อติดตามผลข้างเคียงต่อจนถึง 1 เดือน ไม่พบความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม
นอกจากนี้ยังมีอีกงานวิจัยชื่อ CombiVacS ในสเปน เป็นการศึกษาเชิงทดลอง แบ่งผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca 1 เข็มเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกได้รับวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 2 ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้รับวัคซีน เมื่อเดือนเมษายน 2564 พบว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามเพิ่มขึ้นจาก 71.5 เป็น 7,756.7 BAU/mL หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลา 14 วัน แต่มีข้อจำกัดตรงที่ไม่มีสูตรปกติเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนสูตรไขว้นี้ยังมีน้อย ข้อมูลเบื้องต้นจากงานวิจัยในเดนมาร์ก เป็นการศึกษาเชิงสังเกตในประชากร 5,542,079 คน (97.6% ของประชากรในเดนมาร์ก) มีผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ 136,551 คน พบว่าวัคซีนสูตรไขว้มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ 88% และไม่พบอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโควิด แต่ในขณะนั้นสายพันธุ์อัลฟายังเป็นสายพันธุ์หลัก
วัคซีนไขว้ในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็มีการฉีดวัคซีนไขว้ แต่เป็นสูตร Sinovac + AstraZeneca ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบการให้วัคซีนโควิดสลับชนิด โดยระบุว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม แต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า
ในเวลานั้นมีงานวิจัยในประเทศของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลการศึกษาเบื้องต้นหลังการฉีดวัคซีน 1 เดือน พบว่า การฉีดวัคซีนไขว้ Sinovac + AstraZeneca มีระดับภูมิต้านทานเท่ากับ 814.7 U/mL เทียบกับสูตร Sinovac ปกติ 96.9 U/mL หรือคิดเป็น 8 เท่า และใกล้เคียงกับสูตร AstraZeneca ปกติ 929.1 U/mL (หน่วย U/mL เป็นการวัดระดับภูมิคุ้มกันรวม)
ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นในการวิจัยความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการคือ 1. การฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ด้วยวัคซีนต่างชนิดกัน (Heterologous vaccination study) และ 2. การฉีดกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 ในผู้ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม (Booster study)
ผลการศึกษาในโครงการแรกพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนาม (Anti-RBD IgG) หลังการฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์ของสูตร Sinovac + AstraZeneca เท่ากับ 1,355 BAU/mL เทียบกับสูตร Sinovac ปกติ และ AstraZeneca ปกติเท่ากับ 229.8 และ 424.6 BAU/mL ตามลำดับ ทั้งนี้ สังเกตว่าแต่ละงานวิจัยตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันที่ระยะเวลาต่างกันและเป็นคนละหน่วยกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบข้ามงานวิจัยได้
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยคลินิกฯ ยังรวมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ระดับ 50% (PRNT50) เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ดังภาพที่ 2 ซึ่งหลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านสื่อมาก่อนหน้านี้ การฉีดวัคซีนสูตร Sinovac + AstraZeneca (กราฟแท่งสีส้ม) มีระดับภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับสูตร AstraZeneca ปกติ (กราฟแท่งสีเหลือง) แต่จำนวนกลุ่มตัวอย่างยังน้อย
ภาพที่ 2 ผลการตรวจภูมิต่อต้านไวรัสที่มีชีวิตจำเพาะต่อสายพันธุ์เดลตา
จะเห็นว่าการวิจัยวัคซีนสูตรไขว้ในประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นการศึกษาจาก ‘วัคซีนที่มี’ หรือที่กระทรวงสาธารณสุขจัดหามาได้ สะท้อนปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพียงแต่ประเทศเหล่านั้นมีวัคซีน Pfizer ซึ่งมีข้อมูลด้านประสิทธิผลมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีน Pfizer เข้ามามากขึ้น จึงเป็นข่าวดีที่จะนำมาใช้เป็นวัคซีนไขว้สูตรใหม่
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยอมรับวัคซีนไขว้สูตรนี้ เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ แคนาดา และอย่างน้อย 15 ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมถึงสหราชอาณาจักร โดยสรุปวัคซีนไขว้สูตร AstraZeneca + Pfizer ที่จะเริ่มใช้ในประเทศไทยในเดือนตุลาคมนี้มีผลการวิจัยในต่างประเทศรองรับ และต่างประเทศให้การยอมรับ แต่ยังต้องมีการติดตามประสิทธิผลของวัคซีนต่อในอนาคต
อ้างอิง:
- Partial COVID-19 vaccination, vaccination following SARS-CoV-2 infection and heterologous vaccination schedule: summary of evidence https://www.ecdc.europa.eu/sites/default/files/documents/Partial%20COVID%20vaccination%20and%20heterologous%20vacc%20schedule%20-%2022%20July%202021.pdf
- Interim statement on heterologous priming for COVID-19 vaccines https://www.who.int/news/item/10-08-2021-interim-statement-on-heterologous-priming-for-covid-19-vaccines
- Safety and Immunogenicity Report from the Com-COV Study – a Single-Blind Randomised Non-Inferiority Trial Comparing Heterologous And Homologous Prime-Boost Schedules with An Adenoviral Vectored and mRNA COVID-19 Vaccine https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=3874014
- Heterologous prime-boost COVID-19 vaccination: initial reactogenicity data https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01115-6/fulltext
- Immunogenicity and reactogenicity of BNT162b2 booster in ChAdOx1-S-primed participants (CombiVacS): a multicentre, open-label, randomised, controlled, phase 2 trial https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01420-3/fulltext
- Vaccine effectiveness when combining the ChAdOx1 vaccine as the first dose with an mRNA COVID-19 vaccine as the second dose https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.26.21261130v1
- โควิด-19 วัคซีน การให้วัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุดในทรัพยากรที่จำกัด การสลับวัคซีน https://web.facebook.com/photo/?fbid=5946803135362254&set=pcb.5946793172029917
- ผลการวิจัยเบื้องต้นในการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 https://web.facebook.com/sicresofficial/photos/pcb.356766639320196/357389182591275
- เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า พบภูมิคุ้มกันสูงกว่าสูตรปกติ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/955642
- S.Korea to mix-and-match COVID-19 vaccine doses for 760,000 people https://www.reuters.com/world/middle-east/countries-weigh-mix-match-covid-19-vaccines-2021-05-24/
- Vietnam to mix doses of Pfizer, AstraZeneca vaccines https://www.bangkokpost.com/world/2148087/vietnam-to-mix-doses-of-pfizer-astrazeneca-vaccines
- Recommendations on the use of COVID-19 vaccines https://www.canada.ca/en/public-health/services/immunization/national-advisory-committee-on-immunization-naci/recommendations-use-covid-19-vaccines.html
- COVID-19 vaccination programme Information for healthcare practitioners https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/1009174/COVID-19_vaccination_programme_guidance_for_healthcare_workers_6_August_2021_v3.10.pdf