สถานการณ์เงินบาทในวันนี้ (1 กันยายน) กลับมาอ่อนค่าเป็นครั้งแรกหลังจากที่แข็งค่าต่อเนื่องมา 8 วันทำการ โดยเงินบาทปิดตลาดที่ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระหว่างวันเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงในกรอบ 32.10-32.39 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงซื้อขายในตลาด
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ในวันนี้ยังคงมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในตลาดบอนด์ไทย 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นตัวสั้นถึง 9.9 พันล้านบาท สะท้อนถึงการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน เนื่องจากต่างชาติมองว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นจากข่าวดีเรื่องการคลายล็อกดาวน์ ขณะเดียวกัน ความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คลี่คลายลง ก็ทำให้มีเงินไหลเข้ามาหาผลตอบแทนในตลาด Emerging Market มากขึ้นด้วย
“ยังประเมินค่อนข้างยากว่าเวฟนี้จะยาวนานหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะเข้ามาแค่ชั่วคราว ต่างชาติมองว่าปัจจัยพื้นฐานของเรายังดี แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรเราอาจต่ำกว่าประเทศอื่น แต่ Real Return เรายังดีกว่าหลายประเทศในกลุ่ม EM จากเงินเฟ้อที่ต่ำ แต่ก็เป็นไปได้ที่นักลงทุนจะเข้ามาพักเงินในบอนด์สั้นก่อน เพื่อรอจังหวะลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า” อริยากล่าว
รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การเข้ามาของเงินทุนต่างชาติในช่วงนี้เป็นผลมาจากการส่งสัญญาณของ Fed ว่าจะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ตลาดเกิดภาวะ Risk on ประกอบกับต่างชาติมองว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นจากข่าวดีเรื่องการเปิดเมืองของไทย ทำให้ใช้จังหวะเข้ามาเก็งกำไร
“เมื่อมีแรงซื้อดอลลาร์เข้ามา กลุ่มผู้ส่งออกก็จะชิงขาย เป็นการชิงจังหวะกันระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ทำให้ระหว่างวันเงินบาทสวิงขึ้น-ลงแรง โดยเชื่อว่าในช่วงนี้การสวิงขึ้น-ลงระหว่างวันที่ 20 สตางค์ของเงินบาทจะเป็นเรื่องปกติ เราจึงมองกรอบค่าเงินบาทในเดือนนี้ค่อนข้างกว้าง ฝั่งแข็งค่าอาจมีโอกาสไปแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้ ส่วนฝั่งอ่อนค่าก็มีโอกาสหลุดไปถึง 32.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่การคลายล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไปของไทย จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง” รุ่งกล่าว
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทในช่วงนี้ยังคงมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัว และรัฐบาลได้ประกาศทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่า การตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว (อัตราการตรวจพบเชื้อ หรือ Positive Rate ยังสูงกว่า 20% ซึ่งมากกว่าที่ WHO แนะนำไว้ว่าไม่ควรเกิน 5%) ทำให้มองว่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของโควิดที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง ซึ่งอาจจะต้องจับตาแนวโน้มการระบาดในระยะ 3-4 สัปดาห์ หลังจากสัปดาห์แรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ จนอาจกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ได้หรือไม่
“เงินบาทยังมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าได้บ้างจากความเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่ ทว่ากว่าจะถึงจุดดังกล่าว เงินบาทก็สามารถแข็งค่าได้ถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับหลักต่อไป หากยังมีโฟลวการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาหนุนค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น” พูนกล่าว