×

ประเสริฐ เพื่อไทยเปิดเอกสารกลางสภาฯ ‘ค่าส่วนต่าง 2 พันล้าน’ ซื้อ Sinovac ได้จากข้าราชการ กล่าวหา ‘นายกฯ-อนุทิน’ ตั้งใจโกง

โดย THE STANDARD TEAM
31.08.2021
  • LOADING...
ประเสริฐ จันทรรวงทอง

วันนี้ (31 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา ประเสริฐ จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ่วงด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าไร้ความสามารถในการบริหารจัดการประเทศช่วงสถานการณ์โควิด ตั้งแต่ความล้มเหลวในการจัดบริการสายด่วนช่วยเหลือ การเลื่อนฉีดวัคซีนปูพรมทั้งประเทศ จนกลายเป็นผู้นำกลืนน้ำลายตัวเอง และยังมีความล้มเหลวจากการบริหารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และในนามคณะกรรมการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ขาดซึ่งความรู้ ภูมิปัญญาการบริหาร มีผลประโยชน์ พฤติการณ์ค้าความตายที่กระทบภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ตั้งแต่วาทกรรม มองโควิดคือโรคหวัดโรคหนึ่ง หรือแม้แต่มองบุคลากรการแพทย์ที่ติดเชื้อเพราะไม่ระวังตัวเอง ความล้มเหลวการฉีดวัคซีนไตรมาสที่สามที่อ้างว่าจะมีวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตเองจำนวนเพียงพอกับประชาชน และพบว่าจากการที่รัฐบาลตั้งเป้าภายในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม จะมีวัคซีน 26 ล้านโดส แต่ข้อมูล ณ วันนี้มีเพียง 13.8 ล้านโดส หรือ 53% เท่านั้น 

 

นอกจากนี้ ประเสริฐยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวการควบคุมโรคระบาดที่มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายอื่นๆ นับตั้งแต่การเกิดคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินีเมื่อเดือนมีนาคม 2563 คลัสเตอร์แรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ถึงมิถุนายน 2564 และคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เมื่อเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2564 โดยไม่มีการแก้ปัญหา มีเพียงแต่การย้ายผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ ซึ่งเป็นหลานชายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ความล้มเหลวทั้ง 4 คลัสเตอร์เป็นต้นตอของการระบาดของโรคโควิด เพราะการไม่กวดขันกำชับของ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา 

 

ขณะเดียวกัน ประเสริฐกล่าวว่า ยังล้มเหลวในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนผิดพลาด โดยรัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนเพียง 50% ของประชากร ทั้งที่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% เพราะมัวแต่คอยวัคซีนหลักคือ AstraZeneca โดยไม่มีการสำรองวัคซีนทางเลือกไว้ ขณะที่การจัดซื้อวัคซีน Sinovac ก็มีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 โดยไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านจากหน่วยงานอื่น ซึ่งไม่ทราบว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ไปจนถึงการไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX  ตั้งแต่ต้น ทำให้คนไทยเสียโอกาสล่าช้ากว่าในอาเซียน โดยมีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่รู้เห็นเป็นใจกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการกำหนดให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะเพื่อสามารถผลิตและขายส่งออกไปทั่วโลก แทนที่จะคำนึงถึงชีวิตประชาชนไทยมาก่อน และ พล.อ. ประยุทธ์ ยังปฏิเสธข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าวัคซีนทางเลือกตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงวันนี้ 

 

“สิ่งที่น่าเสียใจมากที่สุดที่คนไทยยอมรับไม่ได้เลย คือการค้าความตายหากินบนความตายของประชาชนด้วยการจัดซื้อวัคซีนคุณภาพต่ำแต่มีราคาแพง เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน โดยซื้อวัคซีนเพียงรายเดียว ผูกขาดตัดตอนขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำให้วัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนเส้นใหญ่” ประเสริฐกล่าว

 

ประเสริฐยังได้อภิปรายเปิดหลักฐานจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทนต่อการกระทำของ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทินไม่ไหว โดยได้มอบข้อมูลการจัดซื้อวัคซีน Sinovac ที่แสดงให้เห็นถึงแผนการนำเข้า ราคาซื้อต่อโดส และราคาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งการจัดซื้อครั้งที่ 1 มีแผนการนำเข้า 2 ล้านโดส นำเข้าได้จริง 1.9 ล้านโดส ราคาตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส, จัดซื้อครั้งที่ 2 ราคาตามที่ ครม. อนุมัติ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส, จัดซื้อครั้งที่ 3 ราคาตามที่ ครม. อนุมัติ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 14 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส, จัดซื้อครั้งที่ 4 ราคาตามที่ ครม. อนุมัติ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 9.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส และจัดซื้อครั้งที่ 5 ราคาตามที่ ครม. อนุมัติ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส จากข้อมูลทั้งหมดพบว่า ราคาตามที่ ครม. อนุมัติในการจัดซื้อทั้ง 5 ครั้ง คือ 331,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 10,846,680,000 บาท ส่วนราคาที่จัดซื้อจริงคือ 267,364,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 8,748,150,080 บาท ทำให้เกิดส่วนต่างในการจัดซื้อทั้งสิ้น 2,098,529,920 บาท 

 

ประเสริฐยังเปิดเผยหลักฐานการจัดซื้อวัคซีน Sinovac จากบันทึกการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะ กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่ระบุว่า มีการจัดซื้อวัคซีน Sinovac 5 ครั้ง พบว่าราคาที่ ครม. อนุมัติทั้ง 5 ครั้ง คือ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส แต่ราคาซื้อจริงครั้งที่ 2-5 ราคาลดลงตามลำดับตรงกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ให้มา ตนจึงอยากถามถึงเงินส่วนต่างว่าหายไปไหน

 

นอกจากนี้ ประเสริฐยังกล่าวถึงการทำสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ว่าเป็นการทำสัญญาที่ผูกขาด ตัดตอน ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำให้รัฐเสียเปรียบ แรกเริ่มการผลิตวัคซีน AstraZeneca เป็นความร่วมมือระหว่าง SCG กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ที่แปลกคือรัฐมีโรงงานผลิตวัคซีนที่ทันสมัย แต่ทำไมไม่มอบให้โรงงานแห่งนี้ที่รัฐเป็นเจ้าของผลิต ตนไม่เข้าใจ นอกจากนี้ตนยังมีหลักฐานว่า พล.อ. ประยุทธ์ กระทำการมิบังควร แอบอ้างพาดพิงสถาบันฯ ในการจัดซื้อวัคซีนด้วย 

 

ประเสริฐกล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการวัคซีน AstraZeneca ประการแรก รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว ไม่ยอมบริหารความเสี่ยง ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก็ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่า ควรจะมีการสั่งซื้อวัคซีนในหลายทางเลือกให้กับประชาชน

 

ประการที่สอง สัญญาซื้อขายเสียเปรียบบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร เพราะต้องสั่งซื้อล่วงหน้า และต้องจ่าย 60% ของมูลค่าการสั่งซื้อ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาทก่อนด้วย และในสัญญายังระบุอีกว่าหากผลิตไม่ได้ก็ต้องสูญเงินจำนวนดังกล่าว 

 

ประเสริฐกล่าวต่อว่า การผลิตวัคซีน AstraZeneca ทุก 3 ล้านโดสนั้น 1 ล้านโดสแบ่งให้ประเทศไทย และ 2 ล้านโดสนำไปฉีดให้ต่างประเทศ ถามว่าทำสัญญาอย่างนี้ได้อย่างไร ทำสัญญาอย่างนี้คนไทยถึงไม่ได้ฉีดวัคซีนสักที คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่สามารถผลิตเองในประเทศ น้อยกว่าคนต่างประเทศ ท่านทำสัญญาอย่างนี้ได้อย่างไร ท่านต้องให้ประชาชนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนที่เพียงพอก่อน ค่อยเอาไปจัดสรรให้คนต่างประเทศ

 

ประเสริฐกล่าวอีกว่า ประการที่สาม ความสับสนในการทำสัญญาระหว่างบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ากับทางการไทย ตามเอกสารในวันที่ 25 มิถุนายน ที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเขียนถึงอนุทิน ระบุว่า การกำหนดการผลิตวัคซีนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับวัคซีนประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับผลิตผลของสารที่ใช้ในการผลิตวัคซีน และท้ายจดหมายยังระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณการว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย มีความต้องการวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือน และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแนะนำให้ไทยเข้าร่วมโครงการ COVAX เนื่องจากโครงการนี้มีวัคซีน AstraZeneca อยู่ด้วย แต่อนุทินได้ทำเอกสารตอบกลับวันที่ 30 มิถุนายน ถึงบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ว่าไทยคาดว่าจะได้รับวัคซีนมากกว่า 1 ใน 3 ของการจัดส่งจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หรืออย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนสำหรับการใช้ในประเทศ

 

“ผมดูเอกสารการโต้ตอบแล้ว เกิดความสับสนว่า กระทรวงสาธารณสุขสั่งวัคซีนไม่พอเพียง หรือบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าส่งของไม่ครบตามสัญญา สงสัยว่าปัญหาวัคซีนขาดแคลนเกิดจากฝ่ายไหนกันแน่ ทุกวันนี้ประชาชนจึงไม่เชื่อใจรัฐบาล นี่คือการบริหารการทำสัญญาที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน” ประเสริฐกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X