มีอะไรซ่อนอยู่ในความเหงา?
‘นินจา’ เกี่ยวอะไรกับความรัก?
และ NFT Art เกี่ยวกับวง Mirrr ได้อย่างไร?
THE STANDARD POP สรุปเรื่องราวที่น่าสนใจ ชวนทุกคนอุ่นเครื่อง รอฟังและรับชม นินจา ผลงานล่าสุดของวง Mirrr ที่ไม่ได้มาแค่เพลง แต่มาพร้อมกับ Lyric Video ที่สร้างขึ้นจากงาน NFT Art ครั้งแรกของวง และค่าย What The Duck
- ถ้าดูจากผลงานก่อนหน้านี้อย่างเพลง นิโคติน หรือ ดอกไม้ไฟ มาบ้าง จะเห็นว่า Mirrr คือหนึ่งในวงดนตรีแห่งยุคสมัยใหม่ ที่มีจุดเด่นด้านการผสมผสานดนตรีแนวป๊อปและอาร์แอนด์บีกับเสียง Synthesizer จนกลายเป็นซาวด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาตลอด
- นินจา คือเพลงลำดับที่ 2 ต่อจาก ดอกไม้ไฟ ของวง Mirrr (ตั้งแต่ย้ายมาอยู่กับค่าย What The Duck) และเป็นเพลงแรกเปิดอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกในชีวิตของวง Mirrr
- โต-เลอทัศน์ เกตุสุข และ นาว-วิชชานนท์ ว่องวีรชัยเดชา ได้แรงบันดาลใจมาจากเกมที่เคยเล่นตอนเป็นเด็ก นำมาเปรียบเทียบกับ ‘นินจา’ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่พยายามทำทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะใจใครคนนั้นได้อยู่ดี
- Lyric Video เพลง นินจา ถูกสร้างขึ้นด้วย NFT Art หลายๆ ชิ้นงาน ที่มีจุดร่วมคือ ‘ความเดียวดายของผู้หญิงคนหนึ่ง’ มาร้อยเรียงกัน โดยได้ NFT Artist จาก Studio Visual Assembly มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานในคอนเซปต์ The Lonely Girl and The Watcher ที่บอกว่าในโลกที่กว้างใหญ่ เราไม่ได้เหงาหรือโดดเดี่ยวอยู่คนเดียว มีคนที่เฝ้ามองเราอยู่เสมอ เพียงแค่ไม่รู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน
- Studio Visual Assembly คือหนึ่งในสตูดิโอของบริษัท HUI ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘งานภาพ’ คอนเสิร์ตระดับประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The TOYS Loy on Mars, Fantopia, Potato Magic Hours Concert, D2B Infinity Concert, Bodyslam นับ 1 ถึง 7, Slot Machine – The Mothership, Whal & Dolph Online Market Concert ฯลฯ
- ภาพที่ใช้ประกอบบทความนี้ คือหนึ่งในตัวอย่างชิ้นงานที่ THE STANDARD POP ได้มาสปอยล์ให้ดูก่อนใคร เพื่ออุ่นเครื่องนับถอยหลังรอฟังเพลงและชมชิ้นงานทั้งหมดพร้อมกันวันนี้ (30 สิงหาคม 2564) เวลา 19.00 น.
- พร้อมกับวางขายชิ้นงานให้แฟนๆ ได้จับจองกันบน Opensea (ตลาดซื้อขายและแลกเปลี่ยน NFT ที่ใหญ่ที่สุด) ในเวลาเดียวกัน
- มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการค่าย What The Duck เล่าให้ THE STANDARD POP ฟังว่า หลังจากปล่อย Lyric Video เพลง นินจา ออกมาแล้ว เขามีแผนจะปล่อยภาพ ‘เด็กผู้หญิง’ ที่นั่งโดดเดี่ยวอยู่ในทุกๆ ฉากของวิดีโอ สร้างแคมเปญให้ศิลปิน NFT นำไปตีความในมุมของแต่ละคนและสร้างชิ้นงานของตัวเองขึ้นมา
- มอยอยากให้เพลง นินจา คือตัวอย่างการผสมผสานระหว่างวงการเพลงและ NFT Art ที่ครบวงจร สามารถนำโปรดักต์ที่เกิดขึ้นไปต่อยอดได้จริงๆ ไม่ใช่แค่เอาคำว่า NFT มาใช้โปรโมตแล้วจบลงแค่นั้น
- เพราะ NFT คือเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับวงการศิลปะยุคใหม่ ทางค่าย What The Duck อยู่ในช่วงเริ่มต้นศึกษาหาความเป็นไปได้ ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งจัดเวิร์กช็อปเรื่อง NFT Art ให้ศิลปินในค่าย ซึ่งมีหลายคนสนใจ อยู่ระหว่างทำการบ้านเพื่อสร้างงานที่ผสมผสานระหว่างเพลงและ NFT Art ออกมาในอนาคต
- วง Mirrr คือหนึ่งในศิลปินที่สนใจเรื่องนี้มากๆ ประกอบกับระหว่างการประชุมทำเพลง นินจา ทั้งทิศทางแนวดนตรีในอัลบั้มนี้ เดโมเพลงที่ออกมา ภาพลักษณ์ของวง การนำเสนอ ฯลฯ มีแนวโน้มเกี่ยวกับโลกในอนาคตทั้งหมด เช่น แอนิเมชัน, ไซเบอร์พังก์ และฟิวเจอริสติก ทุกคนเลยลงความเห็นตรงกันว่านี่คือจังหวะเหมาะสมที่สุดที่ What The Duck จะลองก้าวขาเข้ามาในโลก NFT Art
- มอยยืนยันว่า เขามอง NFT Art เป็น ‘โอกาสใหม่’ ที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของการทำเพลง เพราะฉะนั้นเพลง นินจา ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานการสร้าง ‘งานเพลง’ ออกมาให้ดีที่สุด หรืออย่างตอนเริ่มคิด Official Music Video ก็ยังไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับ NFT Art เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ
- NFT Art คือกิมมิกสนุกๆ ที่เอามาช่วยในการเล่าเรื่องให้เพลง นินจา มีความน่าสนใจมากขึ้น และมองหาความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดไปในอนาคตเท่านั้น
- และเขาแอบสปอยล์ให้ได้ฟังก่อนว่า Official Music Video เพลง นินจา ของวง Mirrr จะใช้เทคนิคพิเศษ ใช้ภาพวาดสร้าง ‘เมือง’ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะออกมาเป็นอย่างไร รอติดตามได้พร้อมกันวันที่ 13 กันยายนนี้
ติดตามความเคลื่อนไหว รอฟังและรับชม Lyric Video เพลง นินจา พร้อมกันได้ที่