×

ไทยเข้าใกล้ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ แล้วหรือยัง? เป้าหมายที่ยังห่างไกลความจริง

24.08.2021
  • LOADING...
ภูมิคุ้มกันหมู่

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • หลายคนน่าจะได้เห็นอินโฟกราฟิกสื่อสารเรื่องการฉีดวัคซีน 9 ภาพของเพจไทยรู้สู้โควิด เมื่อวานนี้แล้ว (23 สิงหาคม) แต่ถ้าใครยังไม่เห็นก็น่าเสียดายที่ทางเพจได้ลบโพสต์นี้ออกไปแล้ว ถ้าหากมองในแง่ดีอินโฟกราฟิกนี้ทำให้เรากลับมาพูดถึงเรื่อง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ กันอีกครั้ง
  • ปัจจุบันไม่มีสายพันธุ์ดั้งเดิมระบาดอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายได้สูงมาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าสายพันธุ์นี้มีค่า R0 ประมาณ 5 ไม่เกิน 10 ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการควรจะเป็นอย่างน้อย 80% แต่คำนวณแบบกรณีที่เลวร้ายที่สุดเผื่อไว้คือ 90% หรือ 9 ใน 10 คนควรจะได้รับการฉีดวัคซีน
  • ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 30% และครบ 2 เข็ม 10% (โดยประมาณ) ไม่ว่าจะมองที่เข็มเดียวหรือ 2 เข็มก็ยังไม่น่าจะพูดได้ว่า ‘เข้าใกล้’ แผน 50 ล้านคน (75%) แต่อย่างใด

“ไทยฉีดวัคซีนเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคน ตามแผน” หลายคนน่าจะได้เห็นอินโฟกราฟิกสื่อสารเรื่องการฉีดวัคซีน 9 ภาพของเพจไทยรู้สู้โควิด เมื่อวานนี้แล้ว (23 สิงหาคม) แต่ถ้าใครยังไม่เห็นก็น่าเสียดายที่ทางเพจได้ลบโพสต์นี้ออกไปแล้วโดยไม่ได้ชี้แจงอะไรเพิ่มเติม ถ้าหากมองในแง่ดีอย่าง ศบค. ต้องการให้อินโฟกราฟิกนี้ทำให้เรากลับมาพูดถึงเรื่อง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ กันอีกครั้ง

 

 

โดยคำนี้เป็นคำที่ได้ยินมาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดของโควิด เพราะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าโรคระบาดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านน่าจะพูดตรงกันว่าสิ่งที่จะสามารถหยุดการระบาดได้คือ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd immunity) ซึ่งเป็นระดับภูมิคุ้มกันของประชากร ถ้าหากประชากรมีภูมิคุ้มกันมากจนถึงระดับหนึ่งแล้วก็จะสามารถปกป้องคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไม่ให้ได้รับเชื้อได้

 

ภูมิคุ้มกันนี้จะเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ 1. การติดเชื้อตามธรรมชาติ และ 2. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน หากเป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง เช่น อีสุกอีใส กระทรวงสาธารณสุขก็คงจะปล่อยให้เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่โควิดเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงจึงเป็นที่มาของยอดการจองวัคซีน 65 ล้านโดสตอนแรก หรือต่อมาจองเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ซึ่งคำนวณจากระดับภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการนั่นเอง

 

#ที่มาของระดับภูมิคุ้มกันหมู่

สูตรของภูมิคุ้มกันหมู่คือ 1 – 1/R0 โดย R0 (Basic reproductive number) เป็นตัวเลขที่บอกถึงความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น ไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมมีค่า R0 ประมาณ 2-3 หมายความว่าผู้ติดเชื้อ 1 รายจะสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับคนอื่นได้อีก 2-3 ราย ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงแรกจึงควรมีค่าอยู่ระหว่าง 50-66.7% หรือประมาณ 50 ล้านคนอย่างที่อินโฟกราฟิกบอก

 

แต่ปัจจุบันไม่มีสายพันธุ์ดั้งเดิมระบาดอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายได้สูงมาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าสายพันธุ์นี้มีค่า R0 ประมาณ 5 ไม่เกิน 10 ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการควรจะเป็นอย่างน้อย 80% แต่คำนวณแบบกรณีที่เลวร้ายที่สุดเผื่อไว้คือ 90% หรือ 9 ใน 10 คนควรจะได้รับการฉีดวัคซีน

 

เท่านี้อาจยังไม่พอ หากนำประสิทธิผลของวัคซีนมาคำนวณด้วย ภูมิคุ้มกันหมู่จะเท่ากับ (1 – 1/R0)/E โดยที่ E เป็นประสิทธิผลวัคซีนในการป้องกัน ‘การแพร่เชื้อ’ ซึ่งถ้าแทนค่าด้วยประสิทธิผล 80% ในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน Pfizer จากภูมิคุ้มกันหมู่ 80-90% จะเพิ่มขึ้นเป็น 100-112.5% ดังนั้นนอกจากทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

#ไทยเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่แล้วหรือยัง

สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนจนถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน 2564 ซึ่งตอนนั้นมีผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 40% และครบ 2 เข็มเพียง 25% เท่านั้น แต่ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วมากกว่า 50% สถานการณ์ปัจจุบันต่างจากตอนที่สายพันธุ์อัลฟาระบาดอย่างสิ้นเชิง 

 

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 30% และครบ 2 เข็ม 10% (โดยประมาณ) ไม่ว่าจะมองที่เข็มเดียวหรือ 2 เข็มก็ยังไม่น่าจะพูดได้ว่า ‘เข้าใกล้’ แผน 50 ล้านคน (75%) แต่อย่างใด ยกเว้นจะพูดว่าถ้าสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอก็จะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนภายในสิ้นปี ส่วนระดับภูมิคุ้มกันหมู่น่าจะยิ่งไกลออกไปอีกจนเอื้อมไม่ถึงในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ อาจมองในระดับที่เล็กลงมาได้ เช่น จังหวัด ชุมชน โรงเรียน (ถ้าจะเปิดเมืองหรือเปิดให้นักเรียนไปโรงเรียน) หรือมองในระดับกลุ่มประชากร เช่น ผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างที่ภูเก็ตมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว 92% และครบ 2 เข็ม 75% ในขณะที่ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนแล้ว 80% แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 50-100 ราย

 

#วัคซีนที่จะนับเป็นภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการสิงคโปร์ประกาศว่าจะไม่นับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac เป็นยอดผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ด้วยเหตุผลว่าไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันอาการรุนแรงจากสายพันธุ์เดลตา ถึงแม้ทางการจะอนุญาตให้ประชาชนฉีดวัคซีนนี้ที่คลินิกเอกชนก็ตาม โดยจะนับแต่ผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna เท่านั้น

 

 

วัคซีน Sinovac เข้ามาเป็นวัคซีนขัดตาทัพในประเทศไทย ทั้งใช้เป็นวัคซีน 2 เข็มตั้งแต่ต้นปี และเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ในสูตรไขว้ตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ถึงแม้วัคซีนนี้จะได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก แต่ประสิทธิผลจากการใช้จริงในต่างประเทศต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่น และเริ่มมีผลการศึกษาในประเทศมากขึ้นว่าภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน 2 เข็มต่ำกว่ากว่าการฉีดวัคซีนสูตรอื่น

 

เมื่อพูดถึงภูมิคุ้มกันหมู่จึงมีผู้สงสัยว่าจะนับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีทางเลือกไม่มากนักจึงยังต้องนับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มต่อ และกรมควบคุมโรคกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ประชาชนกลุ่มนี้ โดยคาดว่าจะฉีดเป็นวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer ให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อนในช่วงปลายปีนี้เมื่อวัคซีนเข้ามามากพอ

 

#เมื่อภูมิคุ้มกันหมู่ยังคงห่างไกล

จากเดิมที่เราเคยคาดว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และทำให้เราเอาชนะไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ขณะเดียวกันไวรัสก็กลายพันธุ์จนกระทั่งวัคซีนบางชนิดที่เคย ‘กันติด’ ป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ลดลงมาเหลือ ‘กันป่วยกันหนัก’ ป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต รวมทั้งระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ลดลง ความหวังจึงพุ่งไปที่วัคซีนเข็มที่ 3 หรือวัคซีนรุ่นที่ 2 ในปีหน้า

 

ระหว่างนี้จึงอาจลดความคาดหวังจากภูมิคุ้มกันหมู่เป็น ‘ความครอบคลุมของวัคซีน’ ที่ป้องกันกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคนี้ไปก่อน หากกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดใดได้รับวัคซีนมากกว่า 80-90% (ศบค. ควรประกาศเป้าหมายเป็นความครอบคลุม 100%) จังหวัดนั้นจะสามารถเปิดเมืองได้อย่างปลอดภัย เพราะถึงแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยหนักจะไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข

 

ทว่าปัญหาในปัจจุบันนี้คงไม่ใช่ ‘Fake news ด้อยค่าวัคซีนยี่ห้อใดๆ’ เพราะการพูดถึงวัคซีนอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การด้อยค่า และประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลในอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่การจัดหาวัคซีนเข้ามาไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งหากมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลและครอบคลุมมากเท่าไรก็จะเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้นเท่านั้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X