บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ประเมินการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในครึ่งหลังของปีนี้น่าจะชะลอตัว ส่งผลให้ผลประกอบการครึ่งปีหลังของ KTC ไม่ดีเท่ากับครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งปีนี้ KTC ยังเชื่อว่าจะมีผลประกอบการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ตามแผน หลังจากยึดกลยุทธ์เน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพ
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า การล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดจะกระทบกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผลการดำเนินงานของ KTC ในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าในครึ่งปีแรก โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ลดลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ด้อยลงไป ทำให้ยังต้องมีความเข้มงวดในการกันสำรองหนี้อยู่ และก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงกำไรในครึ่งปีแรกที่จะไม่สูงเท่ากับครึ่งปีหลัง แต่ก็เชื่อว่าภาพรวมทั้งปีจะยังสูงกว่าที่ผ่านมาได้
“ในช่วงโควิดระลอก 1 และ 2 เราเห็นภาพการผิดนัดชำระหนี้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะติดขัดเรื่องการเดินทางหรืออื่นๆ บ้าง แต่ในครั้งนี้เราเห็นได้ว่าเกิดจากความเดือดร้อนจริงๆ เห็นกลุ่มที่ไม่คิดว่าจะเห็นเข้ามาขอเข้าโครงการพักชำระหนี้ เริ่มจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับเป็นสัญญาณเตือน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาก็มีความเข้มงวดในการพิจารณาออกบัตร ตรงนี้ทำให้ยังต้องมีการกันสำรองฯ เพื่อเตรียมพร้อมไว้ก่อน ประกอบกับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนสูง ทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะไม่ดีเท่าครึ่งปีแรก แต่ก็ยังสามารถทำ New High ได้อยู่ จะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี”
ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังพบว่าน่าจะแย่กว่าครึ่งปีแรก และคาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเพื่อช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไปสู่การจ้างงานและกำลังซื้อของภาคประชาชน
“ถ้าไม่มีมาตรการที่ถูกต้องออกมา เศรษฐกิจจะไปต่อไม่ได้ ซึ่งจะกระทบไปในวงกว้างมาก ทั้งการจ้างงาน แล้วก็มาถึงธุรกิจอย่างเราด้วย ดังนั้น จึงมั่นใจว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมา แต่จะลงไปเซกเตอร์ที่ถูกต้องหรือไม่ก็ต้องรอดู แม้เราจะเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะดูดีกว่าไตรมาส 2 ปีที่แล้ว แต่มองไปข้างหน้ายังไม่เห็นแนวโน้มในทางบวก”
ด้านพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต KTC กล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้เห็นภาพการชะลอตัวของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ชัดเจน โดยลดลงประมาณ 10% หมวดที่กระทบหนักๆ ก็จะเป็นกลุ่มร้านอาหาร ขณะที่กลุ่มสุขภาพ ประกัน ยังดี กลุ่มค้าปลีกกระทบบ้างเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ไปบ้างแล้ว
สำหรับแนวโน้มยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในไตรมาส 3 ประเมินว่ายังไม่เห็นสัญญาณบวก ส่วนไตรมาส 4 ซึ่งปกติจะเป็น High Season ของธุรกิจ ก็ยังไม่สามารถมั่นใจว่าจะเห็นยอดการเติบโตในปีนี้ โดยต้องดูความแน่นอนของสถานการณ์ ทั้งการควบคุมโรค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบกัน ทั้งนี้ KTC เคยตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในปีนี้ที่ 8% และปรับลดเป้าหมายลงมาเป็น 5%
อย่างไรก็ตาม KTC ได้หารือกับพันธมิตรเพื่อปรับกลยุทธให้เข้ากับสถานการณ์ที่ลูกค้าอาจจะมีการเลือกจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แม้จะเป็นช่วง High Season
ชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน KTC ให้ข้อมูลความคืบหน้าเรื่องการดำเนินธุรกิจของบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่งว่า ปัจจุบันได้เริ่มกลับมาทดลองทำธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นธุรกิจเช่าซื้อรถ รวมถึงร่วมกับธนาคารกรุงไทยในการหาลูกค้ารายใหญ่ ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้เสียของเคทีบีลีสซิ่งนั้น จากจำนวนรวม 2,200 ล้านบาท ได้มีการสำรองฯ ไว้เต็มจำนวนแล้ว คาดว่าจะตัดหนี้สูญได้ 800 ล้านบาทในไตรมาสนี้
ทั้งนี้ KTC รายงานผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิ 3,313.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,790.29 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 10,798 ล้านบาท ลดลง 2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีค่าใช้จ่ายรวม 6,612 ล้านบาท ลดลง 12.9%
ขณะที่ 5 เดือนแรก ปี 2564 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทเพิ่มขึ้นที่ 5.4% ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 2.2%