ด้วยการปล่อยซิงเกิลเปิดตัวอย่าง พายุหมุน The Yers กลับมากับอัลบั้มอะคูสติกที่ชื่อว่า CRY (คลาย) ที่เป็นเหมือนความเศร้าที่เริ่มคลี่คลายด้วยเนื้อหาและบรรยากาศของดนตรี ฟังที่มาและการประกอบร่างของอัลบั้มพิเศษนี้ ต่อด้วยเรื่องสนุกสนานที่ได้จากการทัวร์ ตบท้ายด้วย Eargasm Combo เล่นสด 3 เพลงคัฟเวอร์ที่เป็นดั่งเพลงตัวแทนจากแนวเพลงที่อู๋ The Yers ชื่นชอบ
พูดถึงอัลบั้มใหม่ล่าสุด CRY (คลาย)
มาจากที่อู๋อยากพักจากการทำเพลงบ้าง แต่ปรากฏว่าเบรกไปสักพักก็มีวัตถุดิบในการแต่งเพลงที่น่าสนใจ เลยอยากทำเพลง แต่ไม่อยากทำอัลบั้มเต็ม พอคุยกับเพื่อนในวงก็คิดว่าตรงกลางระหว่างการพักกับอัลบั้มเต็มคืออัลบั้มอะคูสติก ก็คิดว่าน่าจะง่าย แต่มันไม่ง่ายเลย
วงอัดกันเองทั้งอัลบั้ม เลยต้องเรียนรู้เรื่องการเล่นการอัด การไมค์กิ้ง (ตั้งไมค์สำหรับอัด) ใหม่เกือบทั้งหมด และแม้จะเป็นอัลบั้มอะคูสติก แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งเครื่องดนตรีหนักๆ อย่างกลองไป เพียงแค่ลดรายละเอียดและลูกเล่นลงเท่านั้น แต่โบ๊ทต้องเปลี่ยนจากเบสไฟฟ้ามาเป็นเบสโปร่ง เลยต้องเรียนรู้การเล่นใหม่เกือบทั้งหมด
ตอนแรกก็คิดว่าจะเอาเพลงเก่ามาเปลี่ยนเป็นเวอร์ชันอะคูสติก แต่ปรากฏว่าแต่งเพลงเพิ่มใหม่ได้เรื่อยๆ ประกอบกับรู้สึกไม่ดีที่จะออกอัลบั้มแล้วเอาเพลงเก่ามาทำใหม่ มันดูเป็นเบสิกของการออกอัลบั้มอะคูสติกไปหน่อย ตอนนี้ก็ได้เพลงใหม่มากกว่าเพลงเก่าที่เอามาทำใหม่
ตอนนี้คุยกับที่ค่ายว่าจะมีสองแบบ แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้ไหม คือถ้าได้ดิจิทัลดาวน์โหลดจะมี 9 เพลง แต่ถ้าซื้อซีดีจะได้ 11 เพลง แต่ยังไม่รับปาก
บอกตรงนี้ที่แรกในประเทศเลยว่าอัลบั้มนี้ชื่อ CRY (คลาย) เพื่อสื่อว่าเนื้อเพลงยังคงร้องไห้ หรือ cry แต่ดนตรีเป็นอะคูสติกที่คลี่คลาย ผ่อนคลาย เกิดจากอยากให้ชื่ออัลบั้มมีตัว Y เพราะมีมาตลอดทุกอัลบั้ม
และสิ่งที่ผ่านมาในช่วงที่ทำอัลบั้มของอู๋คือการร้องไห้ ไม่มีใครรู้ ทั้งเพื่อน แฟน ครอบครัว ช่วงที่ทำอัลบั้มนี้อู๋เครียดมากๆ แรงบันดาลใจก็คือน้ำตาของอู๋นี่แหละ และยังเป็นอัลบั้มที่เป็นเพลงร้องไห้ทั้งอัลบั้ม เลยใช้คำว่า cry เสียเลย
การอัดอัลบั้ม CRY
เป็นอัลบั้มที่อัดกันเองที่บ้านอู๋ ทำกันเองหมด ทั้งเล่น วางไมค์ เรียงแทร็ก ตัดต่อ สลับกันเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ โบ๊ทเองก็ต้องไปทำการบ้านด้วยการดู Incubus Unplugged เพื่อหาวิธีการเล่นใหม่ๆ แรกๆ ก็ไม่ค่อยชินเท่าไร ปรับซาวด์ หาวิธีจ่อไมค์เอง
อัลบั้มนี้ทำงานแตกต่างจากสองชุดแรก ที่อู๋ทำเดโมไว้พร้อมมากๆ แต่อัลบั้มนี้เดโมค่อนข้างคร่าวๆ ให้สมาชิกแต่ละคนไปคิดไลน์เครื่องดนตรีกันเอง ต้องไปลองกันเองหน้าห้องอัดเกือบทุกชิ้น
ห้องอัดที่บ้านอู๋เองก็ไม่ใช่ห้องอัดมืออาชีพขนาดนั้น ไม่ได้เก็บเสียง 100% แต่อู๋เองก็ตั้งใจให้บรรยากาศของเพลงออกมาเป็นโล-ไฟ (Lo-Fi) อยู่เบาๆ ฉะนั้น เสียง reverb ห้อง เสียงไก่ เสียงหมา เก็บหมด แต่ถ้าเป็นเสียงรถ เสียงคนคุยกันจะไม่เอา เอาแค่เสียงบรรยากาศที่ไม่รบกวนมาก พอให้ได้อารมณ์
พอเพลง พายุหมุน ปล่อยออกไปแล้วได้ยอดวิวถึงล้าน ก็สะใจเหมือนกันว่าเราทำกันในห้องนอนเรานี่เอง
แล้วก็เป็นความตั้งใจที่อยากทำคอนเสิร์ตอะคูสติก อยากเล่นดนตรีเงียบๆ คนตั้งใจฟัง อยากมีสักโชว์ที่เป็นแบบนั้น และก่อนจะมีคอนเสิร์ตก็ต้องมีอัลบั้มอะคูสติกก่อน อีกหน่อยอาจจะได้ดู
ซีนดนตรีของประเทศไทย
สิ่งหนึ่งที่ได้จากการทัวร์คือได้เห็นว่าประเทศไทยมันมีซีนดนตรีเป็นของแต่ละภาค แต่ละจังหวัดจริงๆ อย่างของ The Yers จะได้แฟนเพลงแถวกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคอีสานซะเยอะ แต่ตอนไปทัวร์ภาคใต้นี่ค่อนข้างยาก เพลงที่ชาวใต้ฟังจะค่อนข้างร็อกและหนัก เคยไปนั่งร้านกินข้าวกันที่ภาคใต้ก็ได้ยินเพลย์ลิสต์ดนตรีในร้าน ก็เห็นเลยว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ลาบานูนนี่คือ The Beatles ของที่นี่เลย หรือวงพัทลุง
เคยไปเล่นโรงเหล้าแสงจันทร์ โดนขอเพลงมา โอ้โห เป็นเพลงที่ไม่รู้จักเลย เล่นไม่ได้ แต่พอกลับมาเสิร์ชชื่อเพลงชื่อวงดูที่โรงแรม ยอดวิวเป็นร้อยล้าน! ซึ่งเป็นวงของภาคใต้จริงๆ เปิดโลกมาก
Eargasm Combo
เพลงที่ 1 เป็นเพลงชาติของคนที่ชอบแนวชูเกซ (Shoegaze) เป็นเพลงที่หวานที่สุด เพราะที่สุด ป๊อปที่สุดของแวดวงชูเกซ และยังมาจากวงที่เป็นวงบุกเบิกและโด่งดังที่สุดในแนวเพลงนี้ด้วย ถ้าใครชอบหนังเรื่อง Lost in Translation (2003) ไปญี่ปุ่นต้องเปิดเพลงนี้กลางชิบูย่า
เพลงที่ 2 เป็นเพลงชาติของสโตเนอร์ร็อก (Stoner rock) เป็นวงอันดับต้นๆ ไล่เลี่ยกัน The Cure เป็นวงที่อู๋ชอบมาก เป็นเพลงที่ป๊อปที่สุดของสโตเนอร์ร็อก เป็นเพลงที่คนคิดว่า The Yers ก๊อบมา แต่เปล่า กูก๊อบอีกเพลงหนึ่ง
เพลงที่ 3 เป็นเพลงที่ป๊อปที่สุดของแนวโพสต์พังก์ (Post Punk) ยุค 70s เป็นเพลงที่ฟังง่ายที่สุด บรรเลงโดยวงดนตรีที่เป็นโด่งดังและมีชื่อเสียง ทั้งยังเป็นวงที่บุกเบิกแนวโพสต์พังก์ด้วย
Eargasm Combo Song list
- Sometimes – My Bloody Valentine
- No one Knows – Queens of the Stone Age
- Love Will Tear Us Apart – Joy Division
Credits
The Host แพท บุญสินสุข
The Guest ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์
พนิต มนทการติวงค์
นิธิศ วารายานนท์
ถิรรัฐ ภู่ม่วง
Show Creator แพท บุญสินสุข
Show Producer นทธัญ แสงไชย
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Photos ovkk, winterman
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Music Westonemusic.com
- ถ้าเรื่องประสบการณ์โดนบูมในห้องน้ำของคุณอู๋ยังเฮฮากันไม่พอ ลองไปฟังเรื่องราวระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตของวง Mild ดูว่าจะป่วงขนาดไหน
- ถ้ายังไม่ฟินพอกับแค่เอพิโสดนี้ เรายังมี Multiple Eargasms อีก 12 ตอนให้คุณเข้าไปลองฟัง
- หรือถ้าอยากลองฟังพอดแคสต์รายการอื่นๆ ของเราอีก 6 รายการก็เชิญที่นี่