เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (16 สิงหาคม 2564) บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ได้รายงานกำไรสุทธิ 2Q64 ทำสถิติสูงสุดที่ 1.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจากกำไรสุทธิ 279 ล้านบาทใน 2Q63 และกำไรสุทธิ 324 ล้านบาทใน 1Q64 ดีกว่าที่ SCBS และตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 630-700 ล้านบาท โดยมีสาเหตุมาจากรายได้และ EBITDA Margin ที่แข็งแกร่ง เพราะรายได้จากการให้บริการเกี่ยวกับโควิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยรายได้ 2Q64 เพิ่มขึ้นสองเท่า YoY และเพิ่มขึ้น 86%QoQ สู่ระดับ 1.1 พันล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น บริการ RT-PCR เพื่อตรวจคัดกรองโควิด และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (บริการ IPD) โดยมีสาเหตุมาจากความรุนแรงของการระบาดระลอก 3 ของโควิดในประเทศไทย แต่ BCH ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขรายได้
เมื่อแยกตามประเภทบริการ รายได้จากบริการผู้ป่วยที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง (83% ของรายได้) เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 170%YoY และ 137%QoQ สำหรับบริการประกันสังคม (SC, 17% ของรายได้) รายได้ลดลง 4%YoY และ 9%QoQ เนื่องจากผู้ป่วยได้เลื่อนการเข้ารับการรักษาโรคที่ไม่ร้ายแรงออกไป โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดด้าน EBITDA Margin อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 42.1% ใน 2Q64 เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 29.9% ใน 2Q63 และ 29.8% ใน 1Q64
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (17 สิงหาคม 2564) ราคาหุ้น BCH ปรับตัวลงเล็กน้อย 0.42%DoD สู่ระดับ 23.80 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวขึ้น 7.28 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.48%DoD สู่ระดับ 1,538.52 จุด (ข้อมูล ณ เวลา 12.30 น.)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดแนวโน้มกำไรของ BCH จะแข็งแกร่งต่อเนื่องใน 3Q64 (เพิ่มขึ้น YoY และทรงตัว QoQ) โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการรักษาโรคโควิดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ในเดือนกรกฎาคม BCH ได้เพิ่มจำนวนเตียงโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโควิดสู่ระดับ 1,694 เตียง (เพิ่มขึ้น 54% จากเดือนมิถุนายน) และเพิ่มจำนวนเตียงให้บริการใน Hospitel สู่ 12,520 เตียง (เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก ~3,400 เตียงในเดือนมิถุนายน) เมื่ออิงกับมุมมองที่ว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้นและอัตราการฉีดวัคซีนโควิดจะสูงขึ้น
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าแนวโน้มกำไรของ BCH จะกลับคืนสู่ระดับปกติใน 4Q64 และกำไรจะปรับลดลง 47%YoY ในปี 2565 หลังจากเติบโตมากถึง 156%YoY ในปี 2564 นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจ ซึ่งหากยืดเยื้ออาจทำให้ผู้ป่วยเลื่อนการเข้ารับการรักษาโรคที่ไม่ร้ายแรงออกไป และทำให้จำนวนผู้ป่วยในระบบประกันสังคมลดลง นอกจากนี้ยังต้องติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิดทางเลือก