วันนี้ (16 สิงหาคม) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดแถลงข่าว ‘จุดยืนลดภาระทางการศึกษา’ เพื่อชี้แนวทางช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ, สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. และ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ร่วมชี้แจง
โดย ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณเป็นกรณีพิเศษเพื่อสนับสนุนเยียวยาและลดผลกระทบทางการศึกษาให้สถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง โดยอนุมัติงบประมาณเป็นวงเงิน 22,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักดังนี้
1. การจ่ายเงินเยียวยานักเรียนทุกคน คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินต่อนักเรียน/นักศึกษา 1 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้
2. ลดช่องว่างการเรียนและผลกระทบความรู้ที่ขาดหายไป โดยให้สถานศึกษายืดหยุ่นการใช้เงินงบประมาณตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณส่วนที่จำเป็นในสถานการณ์โควิด
3. ให้งบประมาณช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาเพื่อให้บุคลากรในโรงเรียนสามารถนำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ในจำนวนนี้รวมค่าพาหนะ การดูแลเข้าถึงนักเรียน และค่าอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนออนไลน์
โดยการกระจายเงินเยียวยานักเรียนนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้มอบเงินให้ ศธ. เพื่อให้นำไปแจกจ่ายยังผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาทุกคนอย่างเร่งด่วน และได้มีการตั้งเป้าหมายว่าทุกคนจะได้รับเงินภายใน 7 วันหลังเงินถึง ศธ. พร้อมกันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนการวัดผลให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เพื่อลดความตึงเครียดให้แก่ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง โดย ศธ. จะสนับสนุนให้การเรียนการสอนนั้นดำเนินการต่อไปได้
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) และ กสทช. ยังให้การสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตฟรีให้กับนักเรียน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ถึง 15 ตุลาคม 2564 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
ด้าน อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนบ้านเป็นสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงออกแบบการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพเด็กนักเรียนแต่ละคนดังนี้
กลุ่มที่ 1 บ้านไม่มีไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง จะจัดการเรียนการสอนแบบ On-hand เป็นชุดการเรียนไปให้ทำที่บ้าน
กลุ่มที่ 2 บ้านมีไฟฟ้า มีโทรทัศน์ แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ต จะศึกษาโดยระบบ On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV ซึ่งมีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มที่ 3 บ้านมีไฟฟ้าใช้ มีอินเทอร์เน็ต จะให้เรียนโดยใช้รูปแบบ Online และ On-demand
ขณะที่กลุ่มอาชีวศึกษา สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า จะเน้นเรื่องของสมรรถนะ นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาต้องมีการฝึกปฏิบัติ จึงจัดการเรียนรู้ใน 3 รูปแบบ คือ Online, On-site และแบบผสมผสาน จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่มีสมาร์ทโฟน 97% ส่วนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็เข้ามาเรียนแบบ On-site ในสถานศึกษาได้ ส่วนสถานการณ์บางจังหวัดที่เป็นสีแดงเข้ม ไม่สามารถเรียนแบบ On-site ได้ ก็ให้ปรับในเรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล โดยให้นำรายวิชาที่เป็นภาคทฤษฎีเข้ามาเรียนก่อน หลังจากนั้นในภาคเรียนหน้า หากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะใช้รูปแบบ On-site ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ และให้ครูลดการประเมินและการประกวดทั้งสิ้น เหลือแต่กระบวนการในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน การวิเคราะห์เนื้อหาที่จะมาสอนว่าเนื้อหาอาชีพที่ต้องรู้ ที่ควรรู้ ที่จะต้องเอามาดำเนินการก่อน
ด้าน ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. มีแนวทางช่วยเหลือประชาชนและนักเรียน ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบคือ
แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน เดือนละ 79 บาท สามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, Webex และ LINE Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่นๆ
แบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 84 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิ์ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ์