×

ผู้ชนะเลิศ The Change Makers แชร์ไอเดียกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชี้ความกล้าคิดนอกกรอบของคนรุ่นใหม่สำคัญต่ออนาคตประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
14.08.2021
  • LOADING...
The Change Makers

วันนี้ (14 สิงหาคม) ผู้ชนะเลิศของโครงการ The Change Makers โครงการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่โดยพรรคเพื่อไทย จำนวน 6 ทีม 6 ไอเดีย ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยนักการเมืองและคณะกรรมการมากประสบการณ์ ร่วมนำเสนอไอเดียและแลกเปลี่ยนแนวคิดกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ Tony Woodsome ซึ่งถือเป็นผู้นำประเทศที่สร้างนโยบายเปลี่ยนชีวิตให้กับคนไทยหลายล้านคน ด้วยแนวคิดขจัดความจนด้วยเศรษฐกิจกินได้ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับโลก ในธีม ‘1 นายกฯ รุ่นเก๋า vs. 6 ไอเดียคนรุ่นใหม่’ ผ่านระบบ Zoom แต่ละกลุ่มร่วมแสดงความคิดเห็นกับ ดร.ทักษิณ กลุ่มละ 17 นาที ถ่ายทอดสดผ่าน Clubhouse ของกลุ่ม CARE และ Facebook Live, YouTube เพจ THINK คิด เพื่อ ไทย, กลุ่ม CARE และ Voice TV โดยผู้ชนะทั้ง 6 ทีม ได้นำเสนอไอเดียที่สามารถพัฒนาเป็นนโยบายสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต 

 

สำหรับ 6 ไอเดียที่ชนะเลิศ ได้แก่ 

 

  1. อาชีวะ New Gen – ปฏิรูปการศึกษา ปูทางสู่อาชีวะสู่โลกอนาคต

 

  1. ถั่วล้านไร่ – พืชเศรษฐกิจตัวใหม่แก้ความจนของเกษตรกร

 

  1. ราชการคลิกเดียว – รับบริการของรัฐได้ผ่านแพลตฟอร์มเดียว

 

  1. ตลาดช่างฝีมือ – ช่างฝีมือไทยสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

 

  1. Smart City Smart Life – ยกระดับชีวิตชาวเชียงใหม่ เข้าสู่สังคม New Normal

 

  1. ค้าบริการถูกกฎหมาย – เพื่อสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียม

 

ดร.ทักษิณ ได้แลกเปลี่ยนความคิดในนโยบายต่างๆ กับผู้ชนะทั้ง 6 กลุ่ม เช่น ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 คือ กลุ่มอาชีวะ New Gen – ปฏิรูปการศึกษา ปูทางสู่อาชีวะสู่โลกอนาคต โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้นำเสนอแนวทางการปรับการศึกษาทวิภาคีแบบใหม่ (Dual Education) หรือการศึกษาสายอาชีพ จากเดิมที่เน้นในห้องเรียนครึ่งหนึ่งและเน้นการปฏิบัติครึ่งหนึ่ง และไม่รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ S-Curve หรืออุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มาเป็นการแบ่งเวลาการเรียนในห้องเรียนร่วมกับการเรียนภาคปฏิบัติกับบริษัทเอกชน ผู้เรียนจะได้รับเงินเดือนจากการทำงานกับบริษัทด้วย โดยภาครัฐสามารถเรียกเก็บภาษีจากการผลิตและจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นได้ ส่วนบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการนำรายจ่ายจากเงินเดือนที่ว่าจ้างนักเรียนไปลดหย่อนภาษีรายจ่าย และยังได้จ้างแรงงานในราคาเป็นธรรม

 

โดย ดร.ทักษิณ ได้กล่าวชื่นชมแนวคิดนี้พร้อมระบุว่า เมื่อสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ริเริ่มการศึกษาภาควิชาชีพ เนื่องจากไม่ต้องการนำใบปริญญามาแปะค่าการประกอบอาชีพ ซึ่งสวนทางกับการจ้างงานในตลาดโลก ระบบการศึกษานี้จะเปิดโอกาสให้เด็กมีความก้าวหน้าและมีโอกาสไปทำงานยังต่างประเทศได้ 

 

นอกจากนี้ ดร.ทักษิณ ได้ตอบคำถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยอย่างรวดเร็วและได้ผล (Quick Win) ว่าต้องเน้นการศึกษา 2 ประเภท เน้นอาชีวะ เพื่อให้คนทำงานมีทฤษฎีบ้างเพื่อต่อยอดในอนาคต ส่วนภาครัฐจะต้องให้ทุนการศึกษาในกลุ่มสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมมากขึ้น จบมาแล้วมีงานทำและตอบสนองความต้องการของตลาดโลก 

 

ผู้ชนะเลิศอันดับ 4 กลุ่มตลาดช่างฝีมือ – ช่างฝีมือไทยสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก เป็นนโยบายพัฒนาช่างฝีมือไทยไปเป็นช่างฝีมือของแบรนด์ระดับโลก จากนั้นนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาสินค้าไทยให้จำหน่ายตอบสนองความต้องการของโลกได้ โดยมีหลักการคือ ‘ค้นหา พัฒนา สาธิต’ มีโครงสร้างฐานข้อมูลสินค้า ช่างฝีมือและระบบการขายครบวงจร มีเป้าหมายคือ รายได้ อุตสาหกรรมงานฝีมือ และช่างฝีมือไทยจะต้องถูกพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น 

 

ดร.ทักษิณ กล่าวว่า แนวคิดนี้คิดเป็นองค์รวมได้ดี เพราะขณะนี้ความต้องการสินค้าของโลก เป็นแบบ Mass Customization ผลิตเยอะแต่ตรงใจลูกค้า หากนำเอาโครงการนี้ไปพัฒนาต่อยอด มีโอกาสที่สินค้าไทยจะมีแบรนด์สินค้าหรูเทียบเท่ากับแบรนด์ต่างประเทศ โดยอย่าหลงความเป็นไทย แต่ต้องไม่ลืมความเป็นไทย หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลควรนำทีมนี้เป็นที่ปรึกษากระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ 

 

ทั้งนี้ในช่วงท้าย ดร.ทักษิณ ยังได้มอบหนังสือ The Business Reinvention of Japan ให้ผู้ชนะเลิศ เป็นหนังสือเกี่ยวกับการสูญเสียเวลา 10 ปีถึง 2 ครั้งของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้นำเอาสิ่งที่เสียไปมาศึกษาและพัฒนาประเทศผ่าน 2 กระบวนการ ได้แก่ 1. ปรับตำแหน่งทางกลยุทธ์ใหม่ (Strategic Repositioning) โดยใช้นวัตกรรมเป็นหลัก และ 2. ปรับกระบวนการทำงานใหม่ ( Organization Renewal) หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คนในรัฐบาลและภาคธุรกิจเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย โดยหากการแพร่ระบาดของโควิดจบลง แล้วประเทศไทยไม่รื้อและสร้างโครงสร้างใหม่ คือจบสิ้น เพราะถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะฟื้นฟูประเทศแล้ว 

 

คณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการคิดเพื่อไทย กล่าวขอบคุณทีมผู้ชนะที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความทุ่มเท และตั้งใจ จนสามารถผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้ายได้ และหวังว่าประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการจะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสนำสิ่งที่ได้รับจากโครงการไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม ประเทศ และโลก ได้ไม่มากก็น้อย 

 

สำหรับโครงการ The Change Makers ได้เปิดตัวตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นรูปแบบนวัตกรรมทางการเมืองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมลงพื้นที่จริง มีการสร้างสรรค์นโยบายและผลงานให้เป็นรูปธรรม เข้าไปรับฟังปัญหาจากประชาชน จนไปถึงการสร้างต้นแบบของนโยบาย เพื่อที่จะได้นำนโยบายเหล่านี้ไปต่อยอดเกิดเป็นนโยบายจริงในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X