จากความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์แฮร์คัตหนี้ โดยล่าสุด รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ให้ข้อมูลว่า ธปท. อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการจูงใจเพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าธนาคารในการลดภาระหนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิดค่อนข้างรุนแรงและยืดเยื้อ จึงอยากให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า ทั้งการ ‘แฮร์คัต’ หรือการขอลดยอดหนี้ลง ควบคู่กับลดอัตราดอกเบี้ย ลดยอดเงินชำระแต่ละงวด ขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้สามารถจ่ายได้น้อยลงจนกว่าธุรกิจหรือรายได้จะดีขึ้นก็ค่อยขยับยอดชำระหนี้ รวมถึงขยายเวลาการพักหนี้ และยืดเวลาการชำระหนี้
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองเป็น ‘ลบ’ ต่อกลุ่มธนาคารจากประเด็นดังกล่าว เพราะการแฮร์คัตจะส่งผลเสียต่อทุกบรรทัดของงบธนาคาร เนื่องจากเป็นการตัดบัญชีลูกหนี้ออกไปทั้งก้อน
อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยมองว่าธนาคารทำกันปกติอยู่แล้วแต่ไม่มาก และในรายละเอียดรอบนี้ทาง ธปท. ไม่ได้มีการบังคับใช้ แต่เป็นการขอความร่วมมือกับทุกธนาคารมากกว่า ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะเลี่ยงไปทำเรื่องการปรับโครงสร้างมากกว่า แต่มองว่าหากสรรพากรมีการลดภาษีเท่ากับมูลหนี้ที่จะแฮร์คัต ก็มีโอกาสที่ทุกธนาคารจะมีการเร่งทำแฮร์คัตเพิ่มขึ้นมากได้ โดยยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจาก ธปท. อีกครั้ง
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที คาด SCB และ KBANK ได้ Sentiment เชิงลบจากประเด็นนี้มากที่สุด โดยยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารที่ ‘มากกว่าตลาด’ โดยจากประเด็นนี้ หากพิจารณาจากโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ (Debt Relief Program) ของแต่ละธนาคารในงวดไตรมาส 2/64 จะเห็นได้ว่า SCB จะเป็นธนาคารได้ Sentiment เชิงลบจากประเด็นนี้มากที่สุด เพราะมีสัดส่วน Debt Relief (Fig 2) สูงที่สุดในกลุ่มที่ 16% ของสินเชื่อรวม
รองลงมาเป็น KBANK ที่ 14% ของสินเชื่อรวม ขณะที่มองว่า TISCO จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะมีสัดส่วน Debt Relief น้อยที่สุดในกลุ่มที่ 3% ของสินเชื่อรวม จึงยังคงคำแนะนำ ‘ซื้อ’ TISCO และราคาเป้าหมายที่ 105 บาท
ด้านฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยยังต้องติดตามรายละเอียดอย่างเป็นทางการต่อไป โดยช่วงที่ผ่านมากลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากแนวทางของ ธปท. เช่น TISCO ภายใต้โครงการคืนรถจบหนี้, SCB ที่เริ่มการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ ทาง SCB คาดแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้ แนะนำคงน้ำหนักกลุ่มธนาคาร ‘เท่าตลาด’ ประเด็นข่าวข้างต้นมองว่าเป็นปัจจัยรบกวนหุ้นในกลุ่ม อย่างไรก็ดี SETBANK ซื้อขายบริเวณ PBV ที่ 0.6 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 12 ปี ตอบรับความเสี่ยงด้านงบดุลพอควร เลือก Top Picks ตามเดิม TISCO ราคาเป้าหมาย 102 บาท, SCB ราคาเป้าหมาย 115 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมาย 145 บาท
สำหรับ BBL ให้ราคาเป้าหมาย 135 บาท โดยมีประเด็นเพิ่มเติมจากกลุ่มฯ คือการที่ BBL-F ถูกถอดออกจาก MSCI Global Standard (มีผล 31 สิงหาคม 2564) เป็นไปตามที่ตลาดคาดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี การออกจาก MSCI ไม่มีผลต่อปัจจัยพื้นฐานของ BBL