เจ้าหน้าที่นิติเวชกำลังเก็บร่างผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งนอนเสียชีวิตภายในห้องฉุกเฉิน (ER) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เหตุการณ์นี้สะท้อนวิกฤตเตียงในโรงพยาบาลที่ยังคงเต็ม ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักเข้าทำการรักษาได้ จึงต้องนอนรออยู่ภายในห้องฉุกเฉินจนกระทั่งเสียชีวิต ร่างไร้วิญญาณจะถูกห่อสามชั้นตามมาตรฐานการแพทย์ และขนย้ายมาที่ ‘ห้องสุดท้าย’ หรือแผนกนิติเวชในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดที่เสียชีวิตอีกจำนวนมากที่ไม่มีข้อมูลเข้าระบบไปปรากฏในสถิติของ ศบค.
นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ยืนยันข้อมูลว่า สถิติผู้เสียชีวิตจากโควิดมีมากกว่าที่ปรากฏในสถิติของ ศบค. ปัญหาตอนนี้คือยังไม่มีเกณฑ์ปฏิบัติในการตรวจโควิดจากศพ ทำให้หลายโรงพยาบาลไม่สามารถเบิกค่าตรวจโควิดจากศพได้ โดยเฉพาะศพของผู้ที่เสียชีวิตที่บ้าน สิ่งที่ตามมาคือ ไม่มีการตรวจโควิดจากศพ แม้จะสงสัยว่าผู้เสียชีวิตรายนั้นมีโอกาสติดเชื้อสูงมาก หรือโรงพยาบาลบางแห่งใช้วิธีเอกซเรย์ปอดของศพ หากพบว่ามีการติดเชื้อในปอดจะไม่ผ่าศพ แต่ก็ไม่ได้ตรวจโควิด และไม่มีข้อมูลยืนยันไปแจ้งเข้าระบบ
นอกจากนี้ วิกฤตโควิดกระทบถึงผู้ป่วยโรคอื่นๆ หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวแต่ไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ ต้องเสียชีวิตที่บ้าน สะท้อนจากการออกชันสูตรศพเฉพาะของนิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ปกติจะออกไปชันสูตรเดือนละ 50-60 เคส แต่ในช่วงสถานการณ์โควิดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ต้องออกไปชันสูตรศพมากกว่า 100 เคส
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตทางอ้อมจากอาการโรคแทรกซ้อนหรือการฆ่าตัวตายจากผลกระทบทางจิตใจและปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งดัชนีหนึ่งที่วัดการเสียชีวิตรวมได้คือ ‘อัตราการตายส่วนเกิน’ (Excess Mortality) ซึ่งอัตราการตายของคนไทยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2564 เพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 12 และ 17.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประชากรกลุ่มผู้มีอายุ 65-74 ปี และอายุ 85 ปีขึ้นไป มีอัตราการตายส่วนเกินสูงถึงร้อยละ 22 และ 26 ตามลำดับในเดือนมิถุนายน