×

‘หอการค้า’ เผยต่างชาติ 70% มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ ด้าน ‘พาณิชย์’ ชี้ล็อกดาวน์ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. ดิ่งเหลือ 36.7

10.08.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย (Foreign Business Confidence Index: FBCI) และผลสำรวจความเห็นดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาส 2/64 ซึ่งทำการสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 35 ประเทศ จำนวน 70 ราย ในระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2564 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติโดยรวมอยู่ที่ระดับ 27.7 ลดลงจาก 33.2 ในไตรมาสก่อนหน้า 

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 28.5 ลดลงจาก 34.8 ในไตรมาสก่อนหน้าและดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ 26.8 ลดลงจาก 34.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีทุกตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่แย่ของนักธุรกิจต่างชาติ

 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจต่างชาติถึงปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พบว่า อันดับแรกคือวัคซีนที่ไม่เพียงพอ (42.68%) รองลงมาคือ การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังควบคุมไม่ได้ (13.41%) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (12.20%) และการว่างงานจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ (10.98%)

 

ขณะที่การสำรวจความเห็นถึงปัญหาทางธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเผชิญอยู่ พบว่า อันดับแรกคือ คำสั่งซื้อที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่ซบเซา (23.54%) รองลงมาคือ ธุรกิจขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา (18.31%) และ ผู้บริหารและพนักงานเข้าไม่ถึงวัคซีน (12.33%)

 

นอกจากนี้การสำรวจความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติในครั้งนี้ยังพบด้วยว่า 70% มีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตติดลบ 42.50% มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมโควิดของภาครัฐน้อย และ 35.70% ไม่เชื่อมั่นเลย 57% มองว่ามาตรการของรัฐบาลในเวลานี้ไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาและ 27% ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงใด โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าอย่างเร็วที่สุดคือไตรมาสแรกของปีหน้า

 

สแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปในขณะนี้ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นหากไทยสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดลุกลามไปสู่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกได้ โอกาสที่การส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ดีจะมีสูง

 

สำหรับมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อไทยในขณะนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว สะท้อนได้จากยอดการยื่นขอรับสิทธิ BOI จากต่างชาติในปีนี้ที่เติบโตถึง 200% อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำให้เวลานี้คือการฉีดวัคซีน

 

“วัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องเร่งฉีดให้ได้เยอะที่สุดและเร็วที่สุด ถ้าทำได้การท่องเที่ยวและส่งออกของไทยจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ การเปิด Phuket Sandbox ของไทยในตอนนี้ก็เป็นเรื่องดี ช่วยให้นักธุรกิจอยากบินมาเจรจาการค้ากันมากขึ้น เพราะไม่ต้องกักตัวในโรงแรม” สแตนลีย์ กล่าว

 

ด้าน ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังมีความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐได้มีการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) งดออกจากบ้านในเวลา 21.00-04.00 น. และขอให้งดภารกิจที่ต้องออกเดินทางนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น 

 

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.7 เทียบกับระดับ 42.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต 

 

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 34.4 มาอยู่ที่ระดับ 29.8 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับลดลงจากระดับ 48.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.3 หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ มีสัดส่วนการลดลงมากที่สุด จากระดับ 44.7 มาอยู่ที่ระดับ 36.8 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง เช่น ยางพารา ทุเรียน และมังคุด เป็นต้น รองลงมาคือ ภาคเหนือ ปรับตัวลดลงจากระดับ 41.1 มาอยู่ที่ระดับ 34.7 กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 41.6 มาอยู่ที่ระดับ 35.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 38.7 และภาคกลาง จากระดับ 41.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.1 

 

เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่าปรับลดลงทุกกลุ่มอาชีพเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา ปรับลดลงจากระดับ 43.0 มาอยู่ที่ระดับ 33.1 เนื่องจากมีความกังวลต่อการประกอบอาชีพในอนาคตหลังจากจบการศึกษา ประกอบกับครอบครัวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด รองลงมาคือกลุ่มพนักงานเอกชน ปรับลดลงจากระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 35.2 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 48.6 มาอยู่ที่ระดับ 42.8 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 36.3 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 43.7 มาอยู่ที่ระดับ 38.1 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 39.7 มาอยู่ที่ระดับ 34.2 และ กลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 36.6 มาอยู่ที่ระดับ 32.2 และยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดมากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising