เป็นที่จับตามมองมาสักระยะสำหรับหุ้น บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ 7UP โดยเฉพาะเรื่องความเคลื่อนไหวราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 6 วันทำการ และร่วงติดฟลอร์มาแล้ว 2 วันติดต่อกัน โดยล่าสุดในวันนี้ (5 สิงหาคม) ระหว่างวันราคาหุ้นไหลลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1.25 บาท ซึ่งเป็นฟลอร์ของวัน ก่อนจะรีบาวด์ในช่วงท้ายตลาดมาปิดที่ 1.59 บาท ลดลง 10.67%
THE STANDARD WEALTH สำรวจจุดเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของหุ้น 7UP ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ารายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตา โดยเฉพาะกลุ่ม ‘พุ่มพันธ์ม่วง’ ที่เข้าถือหุ้น 16%
ทั้งนี้ ถ้าย้อนไปดูวันปิดสมุดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 กลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วง (สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และ รชต พุ่มพันธุ์ม่วง) ถือหุ้นรวมกัน 14.93% เทียบกับช่วงก่อนหน้า คือ วันที่ 6 มกราคม 2564 ซึ่งขณะนั้นกลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วงถือหุ้นอยู่ราว 8.46% หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่ง
โดยผู้ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญคือ สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถือหุ้น 4.99% (ณ 26 มีนาคม) จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 2.66% ส่วนรชต พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 0.39%
นอกจากนี้ ในวันที่ 26 มีนาคม แบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) จากสำนักงาน ก.ล.ต. รายงานการได้มาซึ่งหลักทรัพย์ 7UP โดยสมยศได้มาจำนวน 10 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.20% ที่ราคาหุ้นละ 0.86 บาท คิดเป็นมูลค่าราว 8.6 ล้านบาท ส่งผลให้สมยศถือหุ้นใน 7UP เพิ่มเป็น 501 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 10.13%
ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม สมยศเพิ่งรายงานการได้มาซึ่งหลักทรัพย์ 7UP จำนวน 183.76 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.71% ที่ราคา 0.54 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 99.23 ล้านบาท
ขณะที่รชตได้รายงานในแบบ 246-2 เรื่องการได้มาซึ่งหลักทรัพย์ 7UP เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 จำนวน 47.45 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.9226% ที่ราคา 1.25 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 59.31 ล้านบาท ส่งผลให้รชตถือหุ้นเพิ่มเป็น 294.25 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 5.72%
จึงอนุมานได้ว่าปัจจุบันกลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วงถือหุ้นใน 7UP ราว 16.03%
ทั้งนี้ กลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่สำหรับ 7UP แต่อย่างใด โดยสมยศปรากฏในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 7UP ครั้งแรก เมื่อวันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 23 กันยายน 2563 โดยถือหุ้นอยู่ 2.42% ส่วนรชตปรากฏในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 7UP ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 โดยถือหุ้นอยู่ 10.07%
นั่นหมายความว่ารชตลงทุนใน 7UP ตั้งแต่ยังเป็นบริษัท FER เนื่องจาก 7UP เดิมคือ บมจ.เฟอร์รั่ม หรือ FER ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างธุรกิจในเดือนเมษายน 2561โดยปัจจุบันอยู่ในกลุ่มทรัพยากรหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และปัจจุบันรชตยังมีตำแหน่งเป็น ‘กรรมการ’ หรือ ‘บอร์ด’ ใน 7UP ด้วย
7UP มีธุรกิจหลัก 5 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจสถานีบริการแก๊สและน้ำมัน 2. ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และ Internet of Things (IoT) 3. ธุรกิจพลังงานทดแทน 4. ธุรกิจสาธารณูปโภค 5. ธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม
อ้างอิงจากรายงานประจำปี 2563 ของ 7UP ระบุถึงโครงสร้างรายได้ดังนี้
- ธุรกิจสถานีบริการแก๊สและน้ำมัน จำนวน 691.97 ล้านบาท คิดเป็น 48.38 % ของรายได้รวม
- ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและ IoT จำนวน 358.45 ล้านบาท คิดเป็น 25.06%
- ธุรกิจพลังงานทดแทน จำนวน 24.34 ล้านบาท คิดเป็น 1.70%
- ธุรกิจสาธารณูปโภค จำนวน 44.42 ล้านบาท คิดเป็น 3.10%
- รายได้อื่น จำนวน 311.19 คิดเป็น 21.76%
ปี 2564 7UP คาดหวังว่าธุรกิจน้ำประปาและธุรกิจบำบัดน้ำจะเป็นเรือธงสร้างรายได้หลัก เพราะสองธุรกิจนี้มีอนาคตเติบโตได้อีกมาก และมีกำไรขั้นต้นสูงถึง 50-60% ขณะเดียวกันได้วางเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ เติบโต 50% หรือมีรายได้รวม 2,000-2,200 ล้านบาท รวมทั้งมีแผนขายบางกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญออก ซึ่งจะบันทึกเป็นรายได้ และนำเงินที่ได้มาขยายธุรกิจด้านน้ำเพิ่มขึ้นอีก
โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 7UP จำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ 1. บริษัท เอ็ม โซลูชั่น จำกัด (MSO) ที่ทำธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารทุกชนิด มูลค่า 90 ล้านบาท และ 2. บริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส จำกัด (IFP) ซึ่งทำธุรกิจขายส่งโทรศัพท์และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม มูลค่า 40 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ได้มา 130 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่จะมาพัฒนาโครงการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านสาธารณูปโภค
นอกจากนี้ ยังได้เข้าลงทุนในบริษัท โกลด์ ชอร์ส (GS) จำนวน 2.55 ล้านหุ้น หรือ 40% คิดเป็นมูลค่า 550 ล้านบาท โดย GS ดำเนินธุรกิจพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านการประปา และได้รับสัมปทานประกอบกิจการประปาเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยจำหน่ายน้ำประปาในบางส่วนของจังหวัดภูเก็ตและพังงา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ทุ่มเงินซื้อหุ้น 7UP ต่อเนื่อง ล่าสุดถือแตะ 10% ท่ามกลางราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นมาเฉียด 90% ในเดือนนี้
- ย้อนรอยหุ้นซิ่ง ‘7UP’ ในวันที่ดิ่งฟลอร์ เผยราคาช่วงพีกพุ่งกว่า 740% จากช่วงต้นปี ก่อนถูกตลาดหลักทรัพย์จับขังบัญชีแคชบาลานซ์
- หุ้น ‘7UP’ ดิ่งอีกฟลอร์ นักวิเคราะห์ชี้สัญญาณเทคนิคอาจเห็น 1 บาท ส่วนปัจจัยพื้นฐานไม่ชัด ธุรกิจน้ำประปาซบเซารับพิษโควิด
อ้างอิง: