×

ย้อนรอยหุ้นซิ่ง ‘7UP’ ในวันที่ดิ่งฟลอร์ เผยราคาช่วงพีกพุ่งกว่า 740% จากช่วงต้นปี ก่อนถูกตลาดหลักทรัพย์จับขังบัญชีแคชบาลานซ์

04.08.2021
  • LOADING...
7up-stocks-market

ราคาหุ้น บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ 7UP วันนี้ (4 สิงหาคม) ร่วงติดฟลอร์ โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ 1.78 บาท ลดลง 0.76 บาท หรือ 29.92% มูลค่าการซื้อขายติด Top 5 ในกระดาน SET ที่ 2,053,36 ล้านบาท 

 

7UP ถูกขายทิ้งจนร่วงติดฟลอร์ทันทีที่เปิดการซื้อขาย เนื่องจากเย็นวานนี้ (3 สิงหาคม) ตลาดหลักทรัพย์ประกาศขยายเวลาห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อขายด้วยเงินสด (แคชบาลานซ์) ระดับ 2 ในหลักทรัพย์ 7UP และ 7UP-W4 ไปจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2564 จากที่ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ประกาศให้หุ้น 7UP ติดแคชบาลานซ์ระดับ 2 ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2564

 

เข้าข่ายมาตรการกำกับ 4 รอบ ในช่วง 5 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หุ้น 7UP ถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน ตลาดหลักทรัพย์เริ่มนำมาตรการนี้มาใช้กับหุ้น 7UP และ 7UP-W4 ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2564 ขณะนั้นยังโดนเพียงแค่ระดับ 1 คือ ต้องใช้เกณฑ์แคชบาลานซ์ในการซื้อขาย โดยให้มีผลถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2564

 

ต่อมาไม่นาน ตลาดหลักทรัพย์ประกาศให้ หุ้น 7UP และ 7UP-W4 เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับที่ 1 คือ แคชบาลานซ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน – 23 กรกฎาคม 2564

 

กระทั่งในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ตลาดหลักทรัพย์ ได้ขึ้นเตือน Trading Alert หุ้น 7UP เนื่องจากหลักทรัพย์มีระดับราคาและปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงก่อนหน้า 

 

ซึ่ง 7UP ชี้แจงในวันเดียวกันว่าบริษัทไม่มีพัฒนาการใดๆ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงไม่ทราบถึงสาเหตุอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย และไม่มีสารสนเทศอื่นที่ต้องการชี้แจง 

 

และในวันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ได้ยกระดับมาตรการควบคุมการซื้อขาย โดยประกาศให้หลักทรัพย์ 7UP และ 7UP-W4 เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับ 2 คือ ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และแคชบาลานซ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2564

 

จนล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ประกาศขยายเวลาห้ามคำนวณวงเงินซื้อขายและแคชบาลานซ์ระดับ 2 คือ ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และแคชบาลานซ์ในหลักทรัพย์ 7UP และ 7UP-W4 มีผลตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม – 24 สิงหาคม 2564

 

ถ้าย้อนดูราคาหุ้น 7UP จะไม่แปลกใจเลยที่ถูกตลาดหลักทรัพย์จับขังใส่มาตรการกำกับการซื้อขาย เพราะแม้หุ้น 7UP จะโดนมาตรการควบคุมดูแล แต่ยังเคลื่อนไหวได้อย่างร้อนแรง 

 

ราคาปิดสูงสุดพุ่ง 704.65% เทียบต้นปี 

ราคาหุ้น 7UP ช่วงไตรมาส 1/64 ซื้อขายที่ราว 0.4 -0.5 บาท พอเข้าสู่ช่วงต้นไตรมาส 2/64 ราคาหุ้นเริ่มขยับเข้าใกล้ 1 บาท และจบไตรมาส 2/64 ที่ราคา 1.91 บาท จากนั้นราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง และทำราคาปิดสูงสุดที่ 3.46 บาท ในวันที่ 27 กรกฎาคม หากเทียบราคาเมื่อต้นปีและราคาปิดสูงสุด พบว่าหุ้น 7UP เพิ่มขึ้นกว่า 704%

 

แต่หลังจากนั้นราคาก็ไหลดิ่งลงมาต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดวันนี้ (4 สิงหาคม) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.78 บาท หรือลดลงมาแล้วจากราคาสูงสุด (ณ วันที่ 27 กรกฎาคม) ราว 48.5%

 

หวังธุรกิจน้ำประปาและบำบัดน้ำเป็นเรือธงดัน

สำหรับพัฒนาการสำคัญเชิงธุรกิจ 7UP เคยประกาศแผนธุรกิจปี 2564 บริษัทวางเป้าหมายได้รวมที่ 2,000-2,200 ล้านบาท เติบโตราว 50% จากปีก่อนหน้า หลักๆ มาจากธุรกิจน้ำประปาและธุรกิจบำบัดน้ำขาย ซึ่ง 7UP มองว่า 2 ธุรกิจนี้มีอนาคตเติบโตได้อีกมาก เพราะมีกำไรขั้นต้นสูงถึง 50-60% ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ยังคงสร้างรายได้และกำไรต่อเนื่อง 

 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนขายบางกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญออก ซึ่งจะบันทึกเป็นรายได้ และนำเงินที่ได้มาขยายธุรกิจด้านน้ำเพิ่มขึ้นอีก และโดยปี 2564 ตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสมให้หมด เพื่อกลับมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ 

 

7UP แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนว่า คณะกรรมการได้มีมติให้เข้าซื้อหุ้นบริษัท โกลด์ ชอร์ส (GS) จาก บมจ. บางกอกเดค-คอน หรือ BKD จำนวน 2,551,976 หุ้น หรือ 40% มูลค่า 550 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขทำรายการให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564   

 

GS ดำเนินธุรกิจพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านการประปา และได้รับสัมปทานประกอบกิจการประปาเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยจำหน่ายน้ำประปาในบางส่วนของจังหวัดภูเก็ตและพังงา

 

และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 7UP แจ้งการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อย 2 แห่ง ประกอบด้วย 

 

  1. จำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท เอ็ม โซลูชั่น จำกัด (MSO) ที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารทุกชนิด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ 7UP ถือหุ้นอยู่ 99.99% ให้กับบริษัท เอส. ดับเบิ้ลยู. เอ็น. อินเตอร์เทรด จำกัด มูลค่า 90 ล้านบาท 

 

  1. จำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส จำกัด (IFP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ MSO ที่ทำธุรกิจขายส่งโทรศัพท์และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมให้กับ วิทพงษ์ อยู่สุข มูลค่า 40 ล้านบาท 

 

โดย 7UP จะได้รับเงินสดเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่จะมาพัฒนาโครงการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจด้านสาธารณูปโภค

 

ไตรมาส 1 ปีนี้ กำไรโตสวนรายได้

ในส่วนของผลการดำเนินงาน ไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้รวม 187.87 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 ที่มีรายได้รวม 365.42 ล้านบาท แต่บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/64 จำนวน 103.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 ที่มีกำไรสุทธิ 37.83 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/64 บริษัทยังมีขาดทุนสะสมอยู่ -103.55 ล้านบาท 

 

ส่วนผลประกอบการรายปีพบว่ารายได้รวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2561 มีรายได้รวม 791.20 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,142.07 ล้านบาท ในปี 2652 และ 1,365.02 ล้านบาทในปี 2563

 

ขณะที่ปี 2561 บริษัทขาดทุนสุทธิ 79.53 ล้านบาท และพลิกมีกำไรสุทธิ 86.61 ล้านบาทในปี 2562 และปี 2563 มีกำไรสุทธิ 117.44 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ 7UP เดิมชื่อ บมจ.เฟอร์รั่ม หรือ FER โดยดำเนินการเปลี่ยนชื่อและโครงสร้างธุรกิจในเดือนเมษายน 2561 ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มทรัพยากรหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค

 

7 UP มีธุรกิจหลัก 5 ธุรกิจ ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจสถานีบริการแก๊สและน้ำมัน 2. กลุ่มธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และ Internet of Things (IoT) 3. กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน 4. กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค 5. กลุ่มธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม

 

หากเทียบความเคลื่อนไหวราคาหุ้นที่สะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนแล้ว ดูเหมือน 7UP ยังต้องสร้างการเติบโตทางธุรกิจและสร้างปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อให้ผลประกอบการสอดรับกับราคาหุ้นที่วิ่งไปไกลมาก 

 

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่น่าจับตามองของ 7UP ก็คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยล่าสุด (ณ 26 มีนาคม 2564) พบว่าสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท พาหนะ อินเวสเตอร์ และ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นที่รู้จักในวงการตลาดหุ้น มักถูกคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

 

โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก (ณ 26 มีนาคม 2564) มีดังนี้ 

  1. บริษัท พาหนะ อินเวสเตอร์ จำกัด 18.52%
  2. พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง 9.94%
  3. รชต พุ่มพันธุ์ม่วง 4.99%
  4. วิโรจน์ นูคำดี 4.25%
  5. Jerdnapang Thamchuanviriya 2.61%

 

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก (ณ 6 มกราคม 2564) มีดังนี้

  1. ADVANCE CAPITAL PARTNERS PTE.,LTD. 14.01%
  2. รชต พุ่มพันธุ์ม่วง 5.38%
  3. วิโรจน์ นูคำดี 4.37%
  4. บริษัท พาหนะ อินเวสเตอร์ จำกัด 3.89%
  5. พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง 2.66%

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising