×

กพช. เคาะกรอบแผนพลังงานชาติ ตั้งเป้าลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065-2070 หวังดึงต่างชาติลงทุนไทย

05.08.2021
  • LOADING...
กพช.
  • ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2564 ในวันนี้ ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานได้เห็นชอบกรอบการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (รวม 5 แผนพลังงาน) โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ที่สอดรับกับทิศทางของสังคมโลก

 

  • โดยจะมีรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 เพื่อนำความเห็นมาประกอบการจัดทำแผน 5 แผนหลัก และรวมเป็นแผนพลังงานชาติ หลังจากนั้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพลังงานชาติ ก่อนนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยคาดว่าจะเสร็จในปี 2565

 

  • ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ได้ตามเป้า และเพิ่มโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดภายในช่วงเวลา 1-10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) กพช. จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการระยะเร่งด่วน ดังนี้ 

 

  • 1. จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ Neutral-Carbon Economy ได้ในระยะยาว ครอบคลุมการขับเคลื่อนพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน

 

  • 2. พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) ตามความเหมาะสม อาทิ ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มีการผูกพันเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าที่จำเป็น และสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในระยะยาว การคำนึงถึงต้นทุนและความก้าวหน้าเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ทั้งนี้ให้นำหลักการวางแผนเชิงความน่าจะเป็นโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) มาใช้เป็นเกณฑ์ แทนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งไม่สามารถวิเคราะห์ผลจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้น

 

  • 3. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ

 

  • ขณะเดียวกันที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (ใหม่) โดยโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

  • 1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย 1. ราคาเฉลี่ยก๊าซอ่าวไทย (Gulf Gas) 2. ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ 3. ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (Zone 1)

 

  • 2. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ปตท. ขายในกลุ่ม Old Supply ประกอบด้วย 1. ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยก (รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล) ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ณ ชายแดน และก๊าซ LNG (รวมค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ) (Pool Gas) 2. ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) 3. ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 2-4) (โรงไฟฟ้าน้ำพอง ราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซให้เป็นไปตามที่ ปตท. รับซื้อจากผู้รับสัมปทานค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 5))
  • 3. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ New Shipper ขายไฟฟ้าเข้าระบบใน Regulated Market ประกอบด้วย 1. ราคา LNG 2. ค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ 3. ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และ 4. ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 3)

นอกจากนี้ กพช. ยังได้เห็นชอบการนำเข้า Liquefied Natural Gas (LNG) ที่ไม่กระทบต่อ Take or Pay สำหรับ ปี 2564 -2566 เท่ากับ 0.48 1.74 และ 3.02 ล้านตันต่อปีตามลำดับ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณาทบทวน หากพบว่าปริมาณความสามารถในการนำเข้า LNG มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าว และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรปริมาณการนำเข้า LNG ตามโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติ ในระยะที่ 2 คือ Regulated Market และ Partially Regulated Market สำหรับ New Demand และกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของ Shipper รวมทั้งกำกับดูแลต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising