×

‘นกแอร์’ ร่อนหนังสือถึงรัฐมนตรีคลัง ขอ ‘Soft Loan 1 พันล้านบาท’ หวังต่อลมหายใจให้ธุรกิจ ย้ำ! ไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย

04.08.2021
  • LOADING...
นกแอร์

วานนี้ (3 สิงหาคม) ดร.วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังคงทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและมิอาจคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ 

 

อีกทั้งการประกาศระงับการบินชั่วคราวในเส้นทางการบินภายในประเทศ เพื่อจำกัดการเดินทางของผู้โดยสารเข้า-ออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป การขยายระยะเวลาล็อกดาวน์อีก 14 วัน และเพิ่มขยายพื้นที่แดงเข้มเป็น 29 จังหวัด ตามคำสั่ง ศบค. และประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นำมาซึ่งความเสียหายอย่างแสนสาหัสต่อผู้ประกอบการในธุรกิจการบิน และอาจส่งผลให้สายการบินไม่สามารถดำเนินธุรกิจการบินต่อไป รวมถึงไม่สามารถรักษาสถานะการจ้างงานของพนักงานในบริษัท และอาจต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แม้กระทรวงการคลังได้ให้นโยบายแก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่ขณะนี้ ‘นกแอร์’ ซึ่งได้ร้องขอความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด 

 

“ในการนี้ บริษัทฯ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แบบปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับบริษัทฯ วงเงิน 1 พันล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 60 เดือน เริ่มชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป”

 

หรือพิจารณามาตรการสินเชื่ออื่นๆ เพื่อให้ทุกสายการบินสัญชาติไทยได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ไม่เพียงแค่สายการบินใดสายการบินหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ทุกสายการบินสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว

 

แม่ทัพนกแอร์ย้ำว่า สินเชื่อดังกล่าวจะช่วยให้นกแอร์ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สามารถเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยบริษัทจะปรับปรุงโครงสร้างราคาตั๋วโดยสารให้เหมาะสมกับต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มรายได้และขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ตลอดระยะเวลาของสินเชื่อ โดยไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย

 

ก่อนหน้านี้สมาคมสายการบินประเทศไทยได้ออกมาแถลงเพื่อ Soft Loan จากรัฐ ด้วยวงเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดวงเงินจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นไป 2.4 หมื่นล้านบาท ต่อมาช่วงต้นปี 2564 ได้ปรับลดลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการระบุว่า วงเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้รักษาการจ้างงานพนักงาน 20,000 กว่าคน

 

ล่าสุดเช้าวันนี้ (4 สิงหาคม) พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า สมาคมฯ ยังคงไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานจากรัฐบาลแต่อย่างใด 

 

“ทราบว่าผ่านความเห็นชอบในหลักการจากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้สอดคล้องกับธุรกิจสายการบิน ซึ่งต้องขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลช่วยเหลือในการพิจารณาเร่งรัดแก้ไขข้อกำหนดโดยเร็วที่สุดต่อไป”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X