หากพูดถึง ‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’ ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เราเชื่อว่าหลายคนย่อมรู้จักและเคยนั่งมาแล้วอย่างแน่นอน
แต่รู้หรือไม่ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนรถไฟฟ้าที่ใช้ระบบรถล้อยางแบบไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย เป็นฝีมือของคนไทยภายใต้ ‘บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR’ และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางระบบขับเคลื่อนของรถไฟฟ้าเกือบทุกสายหลักของไทย
จากบริษัทที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการวางระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กให้กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สู่บริษัทสัญชาติไทยที่ออกแบบติดตั้งงานระบบเดินรถไฟฟ้าทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ เราจึงอยากชวนมาทำความรู้จักกัน
ก่อตั้งด้วยทีมวิศวกรที่เชื่อว่า ‘เทคโนโลยี’ คือสิ่งที่จะกำหนดชีวิตในอนาคต
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เอเอ็มอาร์ เอเซีย ก่อตั้งขึ้นมาด้วยทีมวิศวกรประมาณ 40 คนที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชัน
“เมื่อรู้สึกตัวก็ไร้สายเสียแล้ว เป็นคำพูดเล่นๆ ที่เห็นได้จริงในทุกวันนี้” มารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR กล่าว “เราเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ถือกำเนิดขึ้นคือสิ่งที่จะกำหนดชีวิตในอนาคต ส่งผลให้เราเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งหน้าที่ของเราคือนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้อย่างเหมาะสมและแทรกซึมอยู่รอบตัวของคนไทย”
มารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR
เอเอ็มอาร์ เอเซีย เริ่มต้นก้าวแรกด้วยการดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชัน (System Integrator: SI) ก่อนขยับไปสู่โซลูชันระบบคมนาคมขนส่ง (Transportation Solution: TS) โครงการแรกคือการออกแบบติดตั้งระบบโครงข่ายสื่อสารหลัก (Backbone Network) สำหรับโครงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
หลังจากนั้นก็ได้ติดตั้งโครงข่ายระบบสื่อสารและระบบไฟฟ้าสำหรับโครงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้กับสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวนรวม 27 สถานี และเปลี่ยนชุดระบบอาณัติสัญญาณในรถไฟฟ้า 24 ขบวน
การวางระบบโครงข่ายสื่อสารเคเบิลใยแก้วสำหรับรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ตลอดจนการวางระบบโครงข่ายระบบอาณัติสัญญาณให้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง สถานีตลาดบางใหญ่-สถานีบางซื่อ ไปจนถึงออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบ E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายใต้ สถานีแบริ่ง-สถานีเคหะฯ จำนวนรวม 9 สถานี และสายเหนือ สถานีหมอชิต-สถานีคูคต จำนวนรวม 16 สถานี และระบบศูนย์ซ่อมบำรุงจำนวน 2 แห่ง
และยังมีโครงการรถไฟทางคู่ (ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) จำนวน 17 สถานี ระยะทางรวมประมาณ 106 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เอเอ็มอาร์ เอเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
“จุดเด่นของเราคือเป็นทีมวิศวกรที่ทำงานโดยคนไทย ซึ่งได้สะสมความรู้ตลอด 20 ปี จนพัฒนาจากงานออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชันไปสู่ระบบเดินรถรถไฟฟ้าที่มีความซับซ้อนสูง ซึ่งทำให้เห็นว่าคนไทยทำได้ และเรามีมาตรฐานเทียบเท่าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’ ผลงานมาสเตอร์พีซ
จากการเป็นผู้ร่วมออกแบบเอเอ็มอาร์ เอเซีย ก็ได้สั่งสมฝีมือจนในที่สุดปี 2559 บริษัทได้ลงนามสัญญาจ้างงานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) แบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 (ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน)
นี่ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่บริษัทสัญชาติไทยออกแบบติดตั้งและบริหารงานระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ และระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง นับเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรอง (Feeder Line) โครงการนำร่องที่ใช้ระบบรถล้อยางแบบไร้คนขับ (Automatic People Mover: APM) แบบเดียวกับที่ใช้ในสนามบินชั้นนำทั่วโลกเป็นขบวนแรกในประเทศไทย
“15 ปีที่แล้วเราถูกทำให้เข้าใจว่ารถไฟฟ้าเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย ต้องเป็นบริษัทต่างชาติเท่านั้นที่สามารถออกแบบได้ ส่วนคนไทยเป็นผู้ทำงาน
“แต่จากการเข้าไปประมูลงานออกแบบและบูรณาการระบบจนทำให้รถไฟฟ้าสามารถวิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากสถานีตากสินไปสู่สถานีวงเวียนใหญ่ แม้เป็น 2 สถานีเล็กๆ แต่นี่เป็นโครงการที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท และกลายเป็นตัวจุดประกายให้เราเห็นว่าเราทำได้ สิ่งที่ยากและน่ากลัวได้ถูกทลายด้วยฝีมือคนไทยแล้ว”
โดยนอกจากระบบรถไฟฟ้าต่างๆ แล้ว เอเอ็มอาร์ เอเซียยังเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้ง และพัฒนาอุปกรณ์รวมไปถึงซอฟต์แวร์สำหรับระบบทำนายน้ำท่วม เตือนภัย และเฝ้าระวังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สะแกกรัง วังเจ้า ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และยังเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบควบคุมและบริหารจัดการน้ำท่วมให้กับกรุงเทพมหานครอีกด้วย
อีกก้าวสู่ ‘บริษัทมหาชน’
ในวันที่ 2 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ‘เอเอ็มอาร์ เอเซีย’ กำลังจะก้าวสู่การเป็น ‘บริษัทมหาชน’ อย่างเต็มภาคภูมิด้วยการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมารุตอธิบายว่า การที่บริษัทจะสามารถทำงานในอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ของประเทศไทย โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์อย่าง ‘รถไฟฟ้า’ ที่ลงทุนหลักแสนล้าน และระบบไอทีที่มีการลงทุนเป็นหมื่นๆ ล้านต่อปี การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องสำคัญมากของเอเอ็มอาร์ เอเซีย
“ความสำเร็จของเมกะโปรเจกต์จะประกอบไปด้วย 3 เรื่องหลักๆ คือ คุณภาพของการทำงาน ความรู้ และฐานะการเงินของผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาเราอาจจะรับงานหลักพันล้านได้ แต่ถ้าขยายตัวเองให้ใหญ่ขึ้น รับงานระดับหลายพันล้าน 2-3 โครงการในเวลาเดียวกันเราจำเป็นที่ต้องมีเงินทุนที่มากกว่านี้ แม้ที่ผ่านมาฐานะทางการเงินของเราจะไม่มีปัญหาอะไรเลยก็ตาม”
ตามแผนเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะถูกนำไปใช้สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งสายรอง (Feeder Line) และการพัฒนา EV Charging Station ซึ่งที่ผ่านมาเอเอ็มอาร์ เอเซียได้เข้าไปเป็นผู้ออกแบบติดตั้งที่ชาร์จแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งมีแผนขยายจากจุดเล็กๆ ไปสู่ระดับประเทศ คาดว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้าคนไทยจะได้มีโอกาสเห็น EV Charging Station สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบโดยเอเอ็มอาร์ เอเซีย
นอกจากนี้จะใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโนโลยี ซึ่งมารุตย้ำว่า การวิจัยและการพัฒนา (Research and Development) หรือ R&D เป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในการสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด และลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น เอเอ็มอาร์ เอเซีย จึงต้องเตรียมคน ความรู้ผ่านทาง R&D เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต
ขณะเดียวกันแผนการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า เอเอ็มอาร์ เอเซียจะเดินหน้าขยายการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่ง รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และยังมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% หรือปีละประมาณ 150 ล้านบาท ขยับเพิ่มเป็น 20-30% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
“ในอนาคตเราอยากเป็นบริษัทคนไทยที่อยู่แนวหน้าในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชัน (SI) โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน” มารุตกล่าวทิ้งท้าย