วานนี้ (28 กรกฎาคม) 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สืบเนื่องมาจากการเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และการโพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊กในเชิงข่มขู่สื่อและประชาชนเรื่องการรายงานข่าวปลอม (เฟกนิวส์) โดยมอบอำนาจให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สามารถดำเนินคดีกับสื่อมวลชนได้
โดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า
“จากนี้เป็นต้นไป องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีกิจกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลจะเข้าใจและตระหนักได้ว่า การพยายามจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมนำไปสู่ความล่มสลายของรัฐบาลในที่สุด”
จากกรณีที่เกิดขึ้น THE STANDARD ได้พูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการสื่อสารมวลชน และสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เสรีภาพสื่อคือสิทธิมนุษยชน เพื่อนำเสนอเสียงสะท้อนจากวงการสื่อสารมวลชนไว้ดังนี้
สันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าวช่อง 9 ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของการออกประกาศ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ของสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าด้วยมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ไม่ทราบว่าประกาศนี้จะครอบคลุมไปถึงการห้ามไม่ให้สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการตีความทางกฎหมาย ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์คือหัวใจของนักข่าวและสื่อมวลชนในการนำเสนอความจริง และเป็นเรื่องปกติในสภาวะวิกฤต อย่างเช่นประเด็นเรื่องวัคซีน AstraZeneca ก่อนหน้านี้ก็มาจากการพยายามปะติดปะต่อเรื่องโดยประชาชน แล้วนักข่าวเป็นผู้นำประเด็นมาขยายต่อจนท้ายสุดรัฐบาลก็ต้องออกมายอมรับถึงความผิดพลาด
สันติวิธีได้เพิ่มเติมถึงกรณีหากรัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพสื่อว่า สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่นำเสนอความจริงต่อไปถ้าข้อมูลนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่รัฐบาลต้องแก้ไข ต้องเน้นย้ำ และนำเสนอซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เพราะความจริงต้องนำเสนอได้ ไม่ใช่นำเสนอแต่ข่าวที่เป็นนโยบายของรัฐ ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนจะไม่ต่างอะไรกับนักประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล
ชยพล มาลานิยม ภาคีนักเรียนสื่อ ได้แสดงความเห็นว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังจัดลำดับความสำคัญไม่เป็น แทนที่จะรีบจัดการสถานการณ์โรคระบาดด้วยการนำเข้าวัคซีนคุณภาพ กลับมาปิดปากสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่มอบข้อมูลให้ประชาชน ทั้งที่ถ้าหากการบริหารจัดการของรัฐบาลนั้นโปร่งใส เชื่อถือได้ ประชาชนก็จะมั่นใจกับข้อมูลของรัฐ จนสื่อไม่ต้องออกมาดิ้นรน เนื่องจากในสภาวะวิกฤต รัฐบาลและหน่วยงานรัฐนำเสนอข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า และมีการปกปิดข้อมูล เป็นเหตุให้สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการแก้ไขความเข้าใจของประชาชนให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยและผลประโยชน์ของประชาชน เพราะนั่นคือจุดมุ่งหมายของสื่อมวลชนในการปกป้องสาธารณะประโยชน์ของประชาชน
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความเห็นในฐานะของนักสิทธิมนุษยชนว่า นายกรัฐมนตรีควรจะยุติการคุกคามสื่อในลักษณะของการใช้กลไกลทางกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากสื่อ รวมไปถึงการคุกคามประชาชนที่แสดงความเห็นโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่แท้จริงแล้วมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชน ต่างก็ไม่มีอำนาจในส่วนนี้
“นายกฯ ควรจะเพิ่มความอดทนอดกลั้นมากขึ้น ควรจะอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่ว่าออกมาแต่ละทีก็ใช้คำพูดที่ก้าวร้าวรุนแรง ใช้วาทกรรมที่มีแต่การคุกคาม การทำให้หวาดกลัว ทุกวันนี้เราก็อยู่กับความหวาดกลัวมากอยู่แล้ว”
อังคณายังกล่าวเพิ่มเติมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของสาธารณะว่าเป็นสิทธิต้องได้รับความคุ้มครอง และสื่อมวลชนถือเป็นเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หากสื่อถูกปิดปากเราจะกลับไปอยู่ในยุคเผด็จการเต็มรูปแบบ ที่มีการปิดโทรทัศน์ ปิดหนังสือพิมพ์ มีการโทษสื่อ และจำคุกสื่อ
ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่าการดำเนินงานเช่นนี้ของรัฐบาลเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตของประชาชนจากการเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และยังสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและเกร็งในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน สื่อพลเมือง รวมไปถึงการส่งต่อข้อมูลประสบการณ์ ความคิดเห็นของผู้มีชื่อเสียง ตลอดจนประชาชนทั่วไป เนื่องจากนิยามของข้อมูลที่อาจนำไปสู่การดำเนินคดีนั้นกว้างขวางและคลุมเครือ
หากภาครัฐมีความเข้าใจในสภาพปัญหาอย่างจริงจัง และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเพื่อรับประกันคุณภาพชีวิตของพลเมืองในภาวะวิกฤต จะพบว่า แนวทางการ ‘ต่อต้านเฟกนิวส์’ ด้วยการเฝ้าตรวจจับข้อมูลเท็จและดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จเป็นหลัก ไม่ใช่แนวทางการสื่อสารนโยบายสาธารณะที่จะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเป็นแนวทางเชิงรับ ต้องรอให้มี ‘ข่าวปลอม’ ก่อน แล้วจึงแก้ไข-จับ ซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่างตั้งแต่แรก
ดังนั้น แทนที่จะตามจับเนื้อหาที่เห็นว่าเป็นข้อมูลเท็จ รัฐต้องลดความวิตกกังวลของประชาชนด้วยการสื่อสารข้อเท็จจริง
ดร.พรรษาสิริ ระบุว่า บทบาทที่ควรจะเป็นของกระทรวงดีอีเอสคือการส่งเสริมนวัตกรรมทางดิจิทัลที่จะทำให้ประชาชนปลอดภัยจากผลกระทบและความเสี่ยงในมิติต่างๆ ในสถานการณ์ระบาด และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ซึ่งจากการรายงานข่าวที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากระทรวงไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้นัก แต่ผู้แสดงบทบาทนี้อย่างแข็งขันและต่อเนื่องกลับเป็น Start up และภาคประชาสังคม
“หากรัฐบาลบอกว่าระบอบการปกครองของไทยคือระบอบประชาธิปไตย นโยบายและข้อกำหนดข้างต้นก็ต้องถูกยกเลิก เพราะไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของประชาชนด้วยวิธีการอื่นๆ แต่หากจะยืนยันใช้แนวทางเหล่านี้ต่อไป ก็ชัดเจนว่าประเทศนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และสื่อมวลชนก็ต้องตระหนักว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่ประชาชนจะเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยเพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีกว่าเช่นกัน”
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา