ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/2564 โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 2,534 ล้านบาท ลดลง 18.1% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ที่มีกำไร 3,094 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิดที่ระบาดเป็นวงกว้าง และสร้างแรงกดดันต่อรายได้มากขึ้น
ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/64 ว่า ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.359 ล้านล้านบาท ชะลอลง 2.5% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นไปตามแผนของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง รวมถึงการชำระคืนหนี้ของลูกค้าบรรษัทธุรกิจ
ด้านเงินฝากมียอดคงค้างที่ 1.324 ล้านล้านบาท ชะลอลง 3.6% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นผลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากภายหลังการรวมกิจการ โดยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำและแทนที่ด้วยเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น บัญชี ttb all free และบัญชี ttb no fixed ซึ่งยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับภาวะสินเชื่อชะลอตัว
โดยธนาคารสามารถรักษาส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ในไตรมาส 2 ให้ทรงตัวได้ที่ 2.98% ใกล้เคียงกับ 3.00% ในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวอยู่ที่ 12,782 ล้านบาท หรือลดลง 0.7% จากไตรมาสก่อน
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,118 ล้านบาท ลดลง 21.5% จากไตรมาส 1/2564 สาเหตุหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้ารายย่อยที่ลดลงหลังการระบาดระลอก 3 นำไปสู่การยกระดับมาตรการคุมเข้มต่างๆ สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะด้าน Trade Finance มีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนตามกิจกรรมนำเข้า-ส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,402 ล้านบาท ลดลง 6.6% จากไตรมาสก่อน และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 46.4% ทั้งนี้ จากรายได้และค่าใช้จ่ายข้างต้นส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,502 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อน และยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงที่ 5,491 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีกำไรสุทธิ 2,534 ล้านบาท ลดลง 8.9% จากไตรมาสที่แล้ว
ขณะที่ความเพียงพอของเงินกองทุน ณ สิ้นไตรมาส 2/64 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) ของธนาคารทรงอยู่ที่ 19.6% และ 15.5% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง ปิติมองว่า สถานการณ์โควิดจะยังมีผลกระทบกับเศรษฐกิจต่อไป โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปมากกว่า 7.5 แสนราย ปัจจุบันยอดสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมความช่วยเหลือมีสัดส่วนประมาณ 14% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ดี ยอดหนี้เสียและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารมียอดหนี้เสียอยู่ที่ 43,543 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 43,400 ล้านบาทในไตรมาสก่อน แต่เนื่องจากสินเชื่อชะลอลง สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมจึงขยับจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.89% ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย