ลองจินตนาการถึงการซื้อหุ้นและได้กำไร 10,000% ว่าควรจะต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน คำตอบของหลายคนอาจจะไม่ได้เชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 1 ปีครึ่ง
กำไร 10,000% หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ การได้กำไรถึง 100 เท่า
หากใช้เงินลงทุน 1 แสนบาท เงินลงทุนก้อนนั้นจะกลายเป็น 10 ล้านบาท
หากใช้เงินลงทุน 1 ล้านบาท เงินลงทุนก้อนนั้นก็จะกลายเป็น 100 ล้านบาท
ช่วง 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา หุ้นของ บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) คือหุ้น 10,000% ที่ว่านี้ จากราคาหุ้นที่เคยอยู่บริเวณ 0.60-0.70 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2563 พุ่งขึ้นไปสูงสุดถึง 67 บาท ในระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม 2564
แน่นอนว่าสำหรับใครก็ตามที่ถือหุ้นมาตั้งแต่ต้นที่ก่อนที่หุ้นจะพุ่งขึ้นร้อนแรงย่อมได้กำไรมหาศาล แต่การเข้าซื้อในระดับราคาที่สูงขึ้นมาก ต้องเรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป เพราะการจะคาดหวังผลตอบแทนสูงในระดับเท่ากับที่ผ่านมา จำเป็นจะต้องอาศัยทั้งเงินทุนที่มากขึ้นและพื้นฐานที่ดีขึ้น เพื่อให้ราคาที่ปรับขึ้นสามารถยืนอยู่ได้
สำหรับพื้นฐานของ JTS เป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2549 ผ่านการขายหุ้น IPO ในราคา 3.20 บาท จากข้อมูลเบื้องต้น ธุรกิจหลักของ JTS คือการจัดหา ออกแบบ ติดตั้ง และทดสอบระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (Total ICT Solution)
ในแง่กำไรที่ผ่านมา ช่วง 4 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2560-2563) บริษัทยังสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง มีสะดุดหดตัวในปี 2562 แต่ภาพรวมกำไรยังเติบโตขึ้นจาก 12.5 ล้านบาทในปี 2560 มาเป็น 44.1 ล้านบาทในปี 2563 ขณะที่ไตรมาส 1 ของปี 2564 บริษัททำกำไรได้ 10.2 ล้านบาท
ส่วนราคาหุ้น JTS เคยมีจุดสูงสุดเดิมที่ 3.26 บาท ตั้งแต่ช่วงเข้าตลาดเดือนแรก ก่อนที่ราคาจะขยับขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งในอีก 14 ปีถัดมา คือเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาแตะ 3.62 บาท
หลังจากที่ราคาหุ้น JTS เริ่มขยับทำจุดสูงสุดอีกครั้ง บริษัทเริ่มมีความเคลื่อนไหวในแง่ธุรกิจอีกครั้ง คือการลงนามในสัญญา ‘Strategic Collaboration Agreement’ กับ KT Corporation จากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อดำเนินธุรกิจ Hyperscale Data Center และ Cloud Service ซึ่ง JTS เคยชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการเปิดตลาดคลาวด์โซลูชันอย่างครบวงจรในประเทศไทย เพื่อต่อยอดการให้บริการอื่นๆ ซึ่งรวมถึงดาต้าเซ็นเตอร์ การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ และการให้บริการวงจรเช่าระหว่างประเทศ (IPLC)
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าวดูเหมือนจะยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น เพราะจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สอบถามบริษัทถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาแรงอย่างต่อเนื่อง
JTS แจ้งว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุนใน Hyperscale Data Center, Cloud & AI และ ICT & Security Solution ร่วมกับพันธมิตรจากเกาหลีใต้ นอกจากนี้บริษัทมีความสนใจและศึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดทางด้านการเงินจากเครื่องมือทางการเงินและเทคโนโลยีดังกล่าวได้ โดยการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ ดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูล
ในมุมของโครงสร้าง การถือหุ้นเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน หลังจากที่ พิชญ์ โพธารามิก ได้รายงานการขายหุ้น JTS ที่ถืออยู่ 19.88% ออกมาในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564
ประเด็นที่น่าสนใจคือ หากนักลงทุนลองไล่ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ JTS จะไม่ปรากฏชื่อ พิชญ์ โพธารามิก อยู่เลย เพราะการถือหุ้นดังกล่าวถือผ่านชื่อของบุคคลอื่น ได้แก่ เกริกไกร ไตรบัญญัติกุล ในสัดส่วน 15.14% และ โสรัชย์ อัศวะประภา สัดส่วน 4.95%
ซึ่งหุ้นที่ถือผ่านเกริกไกรถูกขายออกไป 5.09% ให้กับ ภูวพิตร ศุภมิตร์โชติมา ในราคาสูงสุด 2.25 บาท นอกจากนี้ในช่วงเดือนเมษายนและมิถุนายนที่ผ่านมายังปรากฏชื่อของ พร้อมศิริ สหบุญธรรม และ ลลนา ธาราสุข เข้าซื้อหุ้น JTS เพิ่มเติมในราคาสูงสุด 17.54 บาท และ 20.50 บาท ทำให้ทั้ง 2 รายถือหุ้น JTS เพิ่มขึ้นเป็นรายละ 5.02% ซึ่งทั้ง 2 ราย เป็นผู้ที่เคยถูก ก.ล.ต. ปรับเงินฐานสร้างราคาหุ้น MONO เมื่อปี 2558 ร่วมกับ พิชญ์ โพธารามิก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ราคาหุ้น JTS เริ่มพุ่งขึ้นมาเมื่อกลางปี 2563 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 500% หุ้น JTS ยังไม่ได้เป็นที่สนใจมากนัก สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายต่อวันที่มากสุดเพียง 11-13 ล้านหุ้น และกว่าที่หุ้น JTS จะเริ่มเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance ระดับ 1) ก็เกิดขึ้นเมื่อราคาทะลุขึ้นมาถึงระดับ 12.80 บาท เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นปริมาณการซื้อขายในหุ้น JTS ลดลงไปอย่างชัดเจน จากวันละ 5-10 ล้านหุ้น ลดลงไปเหลือไม่ถึง 1 ล้านหุ้นต่อวัน แต่หลังจากนั้นราคาหุ้น JTS ก็ยังคงขยับขึ้นมาต่อได้จนทะลุ 60 บาท
ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์เริ่มขยับหุ้น JTS ไปอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ซึ่งจะห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่ 20 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม 2564
โดยสรุปแล้วสตอรีของหุ้น JTS ในเวลานี้น่าจะอิงอยู่กับความร่วมมือกับพันธมิตรจากเกาหลีใต้ในการรุกธุรกิจคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเองก็ยังชี้แจงเพียงแค่ว่าอยู่ระหว่างการศึกษาเท่านั้น
แต่ราคาหุ้นปัจจุบันที่พุ่งทะลุ 60 บาท ทำให้ค่า P/E ที่อิงกับกำไรของบริษัท 12 เดือนก่อนหน้านี้พุ่งไปถึง 895 เท่า นั่นหมายความว่าบริษัทจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ช่วยให้กำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดดไล่ตาม P/E ที่สูงเสียดฟ้า เพราะหากยังคงทำกำไรได้ในระดับเดิมเช่นปีก่อนที่ทำได้ 44 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าบริษัทในระดับ 4 หมื่นล้านบาท ณ ตอนนี้ ก็อาจจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าใดนัก
มาถึงตรงนี้ นักลงทุนที่คิดจะกระโดดเข้าหุ้นตัวนี้ ณ เวลาปัจจุบัน อาจต้องคิดให้รอบคอบและตั้งคำถามกับตัวเองให้ดีว่าจุดเหมาะสมของหุ้น JTS อยู่ตรงไหน