วันนี้ (20 กรกฎาคม) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงผ่านศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการด้านสาธารณสุข 5 ข้อที่ต้องปฏิบัติระหว่างมาตรการล็อกดาวน์ช่วง 14 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้
- ขอให้ทุกคนงดออกจากบ้าน ลดการเคลื่อนที่ งดการเดินทาง เพื่อระงับการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ยกเว้นกรณีจำเป็น ได้แก่ เดินทางไปซื้ออาหาร เครื่องใช้จำเป็น, ซื้อยา ไปโรงพยาบาล พบแพทย์, ไปฉีดวัคซีนตามการนัดหมาย, ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข และปฏิบัติหน้าที่จำเป็นต่อสาธารณะตามมาตรการที่กำหนด เช่น ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร
- อยู่บ้านแบบป้องกันคนในบ้าน โดยเริ่มจากการเช็กความเสี่ยงของสมาชิกในบ้าน, พูดคุยกันห่างๆ สวมหน้ากากขณะพูด, แยกกันรับประทานอาหาร, ทำความสะอาดบริเวณที่จับร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได รีโมต และแยกที่นอน ดูโทรทัศน์ห่างกัน งดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด
- หากสงสัยว่าติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง ลงทะเบียนตรวจ ATK (Antigen Test Kit) โดย 4 จุดคัดกรองในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก่ 1. สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ 2. สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) 3. ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ 4. สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) หรือสถาบันธัญญารักษ์ และคลินิกอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้าน สำหรับจังหวัดอื่นให้ประสานกับจุดตรวจคัดกรองของจังหวัดนั้น
- หากตรวจ ATK ในขั้นต้นเป็นผลบวก ติดเชื้อ ไม่มีอาการ ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หายใจสะดวก ดมกลิ่นรับรสได้ ติดต่อทีมดูแล CCR โทร. 2330 สปสช. เพื่อรับคำแนะนำและจัดทีมดูแลประจำครอบครัว แต่ถ้ามีอาการร่วมด้วยให้รีบติดต่อไปทางเบอร์ดังกล่าว เพื่อรับการประเมินความเสี่ยงของสมาชิกในบ้าน ติดตามการวัดไข้ วัดค่าออกซิเจน และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร หรือประสานเพื่อส่งต่อเข้ารับการรักษา
- พากลุ่มเสี่ยง ผู้สูงวัย สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด โดยลงทะเบียนผ่านไทยร่วมใจ หรือร้านสะดวกซื้อ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหลังล็อกดาวน์จะควบคุมการระบาดมากน้อยเพียงใด คาดการณ์ว่าจะลดลงหรือไม่ ใช้เวลานานเพียงใด นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หากร่วมมือกันดำเนินการอยู่บ้าน ป้องกันคนในบ้าน สวมหน้ากากตลอดเวลาจะดี มาตรการล็อกดาวน์สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น คาดว่ายอดรายใหม่จะลดลง ประมาณ 1-2 เดือนจะลดลงชัดเจน มาตรการจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ที่ทุกคนช่วยกัน ถ้ายังออกจากบ้านแพร่เชื้อไปอีกบ้านหนึ่ง โอกาสได้ผลก็ลดลง ต้องยืดระยะออกไปอีก ส่วนลดลงเท่าไร เราอยากให้ลดจนเพียงพอขีดความสามารถทางการแพทย์ เตียงรองรับได้พอดี อย่าง กทม. ต้องต่ำกว่าพันราย เป็นตัวเลขที่น่าจะเหมาะสมมาก หรือถ้าต่ำกว่า 500 รายจะเห็นว่าล็อกดาวน์ได้ผลมากขึ้น อยู่ที่เราช่วยกันหยุดแพร่กระจายเชื้อ ลดการเดินทาง
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ในขณะนี้ การจะควบคุมสถานการณ์การระบาดต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน อยู่บ้านให้มากที่สุด Work from Home หากมีผู้สูงอายุที่บ้านให้รีบพาไปรับวัคซีน
ส่วนการปิดร้านอาหารภายในห้างสรรพสินค้า 14 วันนั้นจะมีการประเมินตามสถานการณ์ว่าจะเปิดได้หรือไม่ หากแนวโน้มดีขึ้นชัดเจนอาจมีการผ่อนคลายให้กลับมาเปิด อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารนอกห้างสรรพสินค้ายังเปิดได้ตามปกติโดยให้ขายกลับบ้านเท่านั้นถึงเวลา 20.00 น.