×

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ยอดโควิดพุ่งหลักหมื่นและล็อกดาวน์อย่างเดียวยังไม่พอ

20.07.2021
  • LOADING...
วิกฤตโควิด 19

HIGHLIGHTS

  • ศบค. ประกาศมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งในแบบที่ไม่มีคำอธิบายหรือการถาม-ตอบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นประกาศที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมากที่สุดที่เคยประกาศมา
  • การสื่อสารที่ไม่เห็นอกเห็นใจนี้เป็นเพียงปัญหา ‘ปลายน้ำ’ เพราะ ‘ต้นน้ำ’ คือความชัดเจนของนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ซึ่งสังเกตจากการแถลงข่าวในวันจันทร์หลายเรื่อง เช่น การตั้งด่านตรวจและเพิ่มขั้นตอนเอกสารเพื่อสร้าง ‘ความไม่สะดวกมากมาย’ ในการเดินทาง ก็ยังไม่เรียบร้อย และยังเป็นแนวคิดที่สร้างความลำบากมากกว่าสร้างแรงจูงใจ
  • ประชาชนที่อาศัยอยู่รวมกันหลายคนต้องลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อภายในบ้าน ในขณะที่ภาครัฐจะต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก สนับสนุนการใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนแล้วแยกตัวที่บ้าน/ศูนย์พักคอยเร็วที่สุด

นอกจากการแถลงข่าวว่าจะยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ของรองโฆษก ศบค. เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 และการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงค่ำของวันเดียวกันแล้ว ศบค. ก็ทิ้งให้ประชาชนอ่านข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม ในราชกิจจานุเบกษาเอง (หลายคนน่าจะได้อ่านในช่วงเช้าวันอาทิตย์)

 

ไม่มีคำอธิบายหรือการถาม-ตอบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นประกาศที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมากที่สุดที่เคยประกาศมา จนกระทั่งช่วงกลางคืน เฟซบุ๊กของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ยืนยันว่า ศบค. เรียก ‘ล็อกดาวน์’ ห้ามออกจากบ้าน ยกเว้นกรณีจำเป็น รวมถึงนอกเวลา ‘เคอร์ฟิว’ ด้วย และรอบนี้ไม่มีคำว่า ‘ขอความร่วมมือ’

 

หลายคนอาจชินกับการประกาศของ ศบค. ในลักษณะนี้อยู่แล้ว เพราะครั้งก่อนก็สร้างความสับสนเรื่องการ ‘ล็อกเฉพาะจุด’ พร้อมกับการสั่งห้ามนั่งในร้านอาหารแบบกะทันหันมาแล้วรอบหนึ่ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ประกาศตอนกลางคืน (ที่บางคนเรียกลักหลับ) และยังให้เวลาเตรียมตัว 2 วัน อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่ไม่เห็นอกเห็นใจนี้เป็นเพียงปัญหา ‘ปลายน้ำ’

 

วิกฤตโควิด 19

 

ก่อนจะมาถึงจุดนี้

 

ถึงแม้จะไม่อยากประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ แต่สถานการณ์การระบาดของโควิดที่รุนแรงก็กดดันให้ ศบค. ต้องนำมาตรการนี้มาใช้ในความหมายของการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุด รวมถึงกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน (ที่ผ่านมา ศบค. เลี่ยงการใช้คำนี้มาตลอด จนกระทั่งรองโฆษก ศบค. ใช้คำนี้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม)

 

สถานการณ์รุนแรงคือจำนวนผู้ป่วยรายใหม่รายวันที่เพิ่มมากกว่า 1 หมื่นราย/วัน เส้นกราฟเพิ่มชันขึ้นอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่มากกว่า 1 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนักมากกว่า 3 พันคน เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข และยังมีผู้ป่วยอาการหนักที่รอเตียง รวมถึงเสียชีวิตที่บ้านด้วย

 

จึงมาถึงจุดที่ ศบค. ต้องประกาศล็อกดาวน์แบบ ‘งด’ ออกจากบ้านในรอบนี้ ซึ่งแม้แต่การระบาดระลอกแรกที่ใช้คำว่า ‘ล็อกดาวน์’ ก็ยังไม่เข้มข้นเท่านี้มาก่อน แต่จะคล้ายกับการล็อกดาวน์ที่อู่ฮั่นในช่วงแรกหรือในต่างประเทศในช่วงหลัง อาทิ สหราชอาณาจักรที่ให้อยู่แต่ในบ้าน (Stay Home) และปิดกิจกรรม/กิจการเฉพาะที่ไม่จำเป็นเช่นกัน

 

ทั้งที่ ศบค. สามารถควบคุมการระบาดระลอกแรกได้ จนจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เป็น ‘ศูนย์’ ส่วนระลอกที่ 2 (สมุทรสาคร) ถึงแม้จะเริ่มต้นขลุกขลักแต่ก็สามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้และสถานประกอบการยังสามารถเปิดดำเนินกิจการได้ ในขณะที่ระลอกที่ 3 (สถานบันเทิงย่านทองหล่อ-สายพันธุ์อัลฟา) ลากยาวมาถึงระลอกที่ 4 (แคมป์ก่อสร้าง-สายพันธุ์เดลตา และชายแดนภาคใต้-สายพันธุ์เบตา) เป็นระยะเวลา 3 เดือนกว่า ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในเร็วๆ นี้

 

ภาพที่สามารถอธิบายภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมดจนถึงปัจจุบันคือข้อมูลการแถลงข่าวประจำวันสไลด์หนึ่ง ที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของ ศบค. ที่แสดงไทม์ไลน์ตัวเลขผู้ติดเชื้อพร้อมมาตรการต่างๆ

 

 

ประการแรก ภาพนี้อาจทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวโน้มของผู้ติดเชื้อ เพราะผู้จัดทำย้ายจำนวนผู้ติดเชื้อจาก ‘การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก’ ไปสร้างเป็นกราฟแท่งสีไข่ไก่ด้านหลัง ทำให้กราฟเส้นสีแดง (ซึ่งควรเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ ‘ทั้งหมด’ เพราะกระตุ้นความสนใจมากกว่า) กลับมีความชันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น (แต่เห็นด้วยว่าควรแยกผู้ติดเชื้อในเรือนจำออก)

 

ประการต่อมา ซึ่งต่อเนื่องกันคือความชันของกราฟเส้นสีแดงที่ค่อนข้างคงที่ในช่วงแรก น่าจะเป็นผลมาจากการตรวจหาเชื้อจำกัด ทั้งเกณฑ์ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ความสามารถของห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล และปัญหา ‘ไม่ตรวจ เพราะเตียงเต็ม’ จากนโยบายที่กำหนดให้โรงพยาบาลต้องรับรักษาผู้ป่วยทุกรายที่ตรวจพบไว้ในโรงพยาบาล

 

ประการสุดท้าย ศบค. ประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 6 ฉบับ มีทั้งมาตรการเข้มข้นขึ้น (งดนั่งร้านอาหาร) และผ่อนคลายลง (นั่งในร้านได้ถึง 23.00 น. ในฉบับที่ 24 ซึ่งใกล้เคียงกับการประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน ของนายกฯ) แต่สังเกตว่าจังหวะของการผ่อนคลายมาตรการอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งแนวโน้มของเส้นสีแดงและผู้ติดเชื้อในชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ 

 

เมื่อไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจหาเชื้อ (เพิ่งอนุมัติชุดตรวจด้วยตัวเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) และอัตราการตรวจพบเชื้อ ทำให้เมื่อประกาศผ่อนคลายมาตรการในวันที่ 21 มิถุนายนแล้ว อีก 1 สัปดาห์ถัดมา ต้องกลับมาประกาศมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีกรอบ ถึงแม้จะพยายามสร้างสมดุลกับฝั่งเศรษฐกิจแต่ก็อาจทำให้น้ำหนักกับฝั่งสาธารณสุขน้อยเกินไป

 

จุดที่ต้องตัดสินใจล็อกดาวน์

 

มาตรการเข้มข้นขึ้นที่ว่าคือ ‘ล็อกเฉพาะจุด’ ปิดแคมป์ก่อสร้าง Bubble & Seal โรงงาน และงดนั่งร้านอาหาร แต่เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ครึ่ง จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังไม่ลดลง วันที่ 12 กรกฎาคม ศบค. จึงยกระดับมาตรการด้วยการประกาศเคอร์ฟิว การทำงานที่บ้าน (WFH) ห้ามรวมตัวกันเกิน 5 คน ปิดสถานที่เสี่ยง และเปิดสถานที่ที่จำเป็นถึง 20.00 น.

 

 

ผ่านไปอีก 1 สัปดาห์ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นหมื่นกว่าราย/วัน ซึ่งว่าตามหลักระบาดวิทยาแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 7 วัน หลังยกระดับมาตรการ เพราะได้รับเชื้อมาก่อนหน้านั้นแล้ว อีกทั้งถ้ามีการตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ นายกฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมว่า 

 

“หลังจากที่ผมได้ประกาศยกระดับการควบคุมสถานการณ์ใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวและจำกัดการเดินทาง ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ในวันนี้ผมได้เรียกประชุม ศบค. เป็นวาระพิเศษ โดยได้เชิญคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อทำการประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการปรับแผนการ

 

“ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงไม่ลดลง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และการหยุดการเคลื่อนตัวของประชาชนยังคงทำได้ไม่มากพอ ทำให้มีการประเมินว่าในระยะต่อไปหากยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น สถานการณ์อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก จนมีผลร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข 

 

นำมาซึ่งการประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉบับที่ 28 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ให้ประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (แดงเข้ม) ‘เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น’

 

เพื่อลดการเดินทางทั้งภายในและข้ามจังหวัด ซึ่งมีสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมกับ ศปก.ศบค. ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 กรกฎาคม ออกมาอธิบายว่าไม่ใช่การ ‘ขอความร่วมมือ’

 

ขยายเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ต่ออีก 14 วัน นับจากวันที่ 21 กรกฎาคม (เดิมนับจากวันที่ 12 กรกฎาคม) ภาครัฐต้อง WFH ‘ขั้นสูงสุดเต็มจำนวน’ หรือ 100% (เดิมใช้คำว่า ‘เต็มความสามารถที่จะทำได้’) ส่วนเอกชนต้อง WFH ‘ขั้นสูงสุด’ และจำกัดจำนวนผู้โดยสารขนส่งสาธารณะไม่เกิน 50% ภายในพื้นที่สีแดงเข้มและการเดินทางข้ามจังหวัดทั่วประเทศ

 

มาตรการเข้มข้นขึ้นถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นเต็มรูปแบบเหมือน ‘อู่ฮั่นโมเดล’ ที่ห้ามออกจากบ้านตลอดทั้งวัน แต่ ผอ.ศปก.ศบค. ก็พร้อมฟังกระทรวงสาธารณสุข หากประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ว่า หากแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่องใน 2 เดือน ก็มีแนวโน้มจะใช้มาตรการคล้ายเมืองอู่ฮั่น

 

สำหรับประเด็นเรื่องการสื่อสาร โฆษก ศบค. ออกมาอธิบายรายละเอียดของข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฉบับนี้อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (บังคับใช้วันอังคาร) ทั้งที่ควรอธิบายเร็วที่สุดในวันอาทิตย์ เพื่อจะได้เตรียมตัวล่วงหน้า และควรมีการถาม-ตอบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น ถ้าออกนอกบ้านตอนกลางวันจะมีความผิดหรือไม่ ร้านอาหารในห้างเปิดหรือไม่

 

การสื่อสารที่ไม่เห็นอกเห็นใจนี้เป็นเพียงปัญหา ‘ปลายน้ำ’ เพราะ ‘ต้นน้ำ’ คือความชัดเจนของนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ซึ่งสังเกตจากการแถลงข่าวในวันจันทร์หลายเรื่อง เช่น การตั้งด่านตรวจและเพิ่มขั้นตอนเอกสารเพื่อสร้าง ‘ความไม่สะดวกมากมาย’ ในการเดินทาง ก็ยังไม่เรียบร้อย และยังเป็นแนวคิดที่สร้างความลำบากมากกว่าสร้างแรงจูงใจ

 

ล็อกดาวน์อย่างเดียวไม่พอ

 

ตามหลักระบาดวิทยาแล้ว การล็อกดาวน์จะลดการเดินทางของประชาชน ทำให้ลดโอกาสในการสัมผัสกัน (O: Opportunity of Contact) ถ้าผู้ติดเชื้อแล้วมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการอยู่ที่บ้านก็จะไม่เกิดการแพร่ระบาดในชุมชน แต่อาจเกิดการแพร่เชื้อภายในบ้านได้หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย อาทิ ห้องพักขนาดเล็กที่ต้องอาศัยอยู่หลายคน

 

ดังนั้นในระหว่างล็อกดาวน์ทุกคนยังต้องเว้นระยะห่างภายในบ้าน ไม่คลุกคลีกันใกล้ชิด แยกรับประทานอาหาร ล้างมือบ่อยๆ เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก หากอาศัยร่วมกับผู้มีความเสี่ยง ควรสวมหน้ากากทั้ง 2 ฝ่าย การลดความเสี่ยงในแพร่เชื้อ (T: Transmission Probability) นี้จะสามารถลดการระบาดภายในบ้านได้

 

 

ส่วน ศบค. และแต่ละจังหวัดยังต้องค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบเร็วก็จะสามารถแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนได้เร็ว ทำให้ลดระยะเวลาในการแพร่เชื้อ (D: Duration of Transmission) และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งจะทำให้ลดประชากรที่สามารถติดเชื้อได้ (S: Susceptibility of Population)

 

ค่าที่บอกระดับการแพร่ระบาดคือ R (Reproductive Number) = D x O x T x S จึงควรลดทั้ง 4 ปัจจัยข้างต้น การล็อกดาวน์ถึงจะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและความมุ่งมั่นของภาครัฐ ทั้งการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ กระจายจุดฉีดวัคซีน/จุดคัดกรองเชิงรุก และการลงพื้นที่ของทีมเคลื่อนที่เร็ว (CCRT)

 

อย่างไรก็ตาม การคัดกรองเชิงรุกจะไม่มีประโยชน์หากไม่สามารถแยกตัวผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวที่บ้าน/ศูนย์พักคอย (HI/CI) ซึ่งต้องมีระบบลงทะเบียนและระบบส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลหากมีอาการแย่ลง ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือจับคู่คลินิกดูแลที่บ้าน/ชุมชน

 

  • บัตรทอง โทร. 1330 กด 14
  • ประกันสังคม โทร. 1506 กด 6

 

คลินิกจะวิดีโอคอลติดตามอาการวันละ 2 ครั้ง จัดหาอาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดไข้และวัดออกซิเจน หากต้องการกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัด โทร. 1330 กด 15 หรือหน่วยงานสาธารณสุขในภูมิลำเนาของท่าน นอกจากนี้ ‘สุขภาพจิต’ ยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก หากท่านหรือคนรู้จักต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้

 

โดยสรุปการระบาดระลอกใหม่ เมษายน 2564 (ระลอกที่ 3+4) ผ่านมาแล้ว 3 เดือนครึ่ง แต่เส้นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่การประกาศผ่อนคลายมาตรการช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงแม้จะมีการปรับมาตรการมาแล้ว 2 ครั้ง แต่เส้นกราฟยังชันขึ้นอีก ศบค. จึงตัดสินใจล็อกดาวน์จำกัดการเดินทางในช่วงกลางวันและเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืน

 

ประชาชนที่อาศัยอยู่รวมกันหลายคนต้องลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อภายในบ้าน ในขณะที่ภาครัฐจะต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก สนับสนุนการใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนแล้วแยกตัวที่บ้าน/ศูนย์พักคอยเร็วที่สุด ขอขอบคุณบุคลากรด่านหน้าและจิตอาสาทุกท่านล่วงหน้าครับ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising