วิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกที่ 2 ในอินโดนีเซีย ทวีความรุนแรงจนทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของเอเชีย แซงหน้าอินเดีย ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ อะไรเป็นชนวนเหตุให้การแพร่ระบาดรุนแรงและรวดเร็วขนาดนี้ และทางการอินโดนีเซียรับมือกับวิกฤตครั้งใหม่นี้อย่างไร
จุดเริ่มการระบาดระลอกใหม่
ที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดในอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังสามารถควบคุมได้ โดยในการระบาดระลอกแรกนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดที่หลัก 10,000 คนต่อวัน เมื่อช่วงเดือนมกราคม ก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง กระทั่งในเดือนมิถุนายน สถานการณ์ระบาดกลับมารุนแรงขึ้นเป็นระลอกที่ 2 จำนวนผู้ติดเชื้อไต่ระดับถึง 10,000 คน และทะลุ 20,000 คนต่อวันในช่วงปลายเดือน จนทำให้ระบบสาธารณสุขเผชิญกับภาวะที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วยล้นในหลายพื้นที่ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อินเดีย ที่แพร่ระบาดได้รุนแรงและรวดเร็วกว่า
สถานการณ์ในอินโดนีเซียไปถึงจุดไหน
วิกฤตระบบสาธารณสุข
- การแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่ 2 ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญและสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศออกมาแสดงความกังวลว่าระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียอาจกำลังเข้าใกล้ภาวะล่มสลาย เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย บางแห่งต้องเปลี่ยนลานจอดรถเป็นห้องฉุกเฉินหรือโรงพยาบาลสนาม ออกซิเจนและยารักษาเริ่มขาดแคลน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ตัวเลขล่าสุด ช่วงวันที่ 1-17 กรกฎาคม มีรายงานแพทย์เสียชีวิตจากโควิด จำนวน 114 คน และนับตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้นในเดือนมีนาคม 2020 มีแพทย์เสียชีวิตจากโควิดแล้วรวม 545 คน ส่วนพยาบาล เภสัชกร และบุคลากรในแนวหน้า เสียชีวิตรวมกว่า 700 คน
ป่วยตายในบ้านจำนวนมาก
- ภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลส่งผลให้ประชาชนอินโดนีเซียมากมายที่ติดเชื้อต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน โดยรัฐบาล หน่วยงานอาสาสมัคร และหน่วยงานภาคประชาชน ต่างพยายามหาทางช่วย ทั้งจัดส่งยารักษาและให้คำแนะนำ แต่มีหลายคนอาการทรุดลงถึงขั้นให้ออกซิเจนกันในบ้าน และหลายครอบครัวเผชิญความสูญเสียที่น่าสลดใจ โดยไม่สามารถเข้าไปกอดศพร่ำลาผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพียงลำพัง
- รายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึง 15 กรกฎาคม มีผู้ป่วยโควิดที่กักตัวเองอยู่ในบ้านเสียชีวิตไปอย่างน้อย 620 คน ซึ่งนักระบาดวิทยาคาดว่าตัวเลขอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากสถานการณ์ระบาดยังไม่ถึงจุดสูงสุด
ศูนย์กลางการระบาดใหม่ของเอเชีย
- สถานการณ์แพร่ระบาดของอินโดนีเซียรุนแรงจนเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก โดยตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานข้ามหลัก 50,000 คนในวันเดียว แซงหน้าอินเดีย กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชีย
- อัตราการตรวจเชื้อที่ต่ำและประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อ ทำให้นักระบาดวิทยาเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงนั้นอาจสูงกว่านี้มาก และประเมินว่าอาจสูงถึงหลัก 100,000 คนต่อวัน ซึ่งในกรุงจาการ์ตามีรายงานผลสำรวจพบว่า จำนวนประชากรทั้งหมดราว 10.6 ล้านคน อาจมีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วเกือบครึ่ง ขณะที่คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบในตอนนี้ยังไม่ใช่จุดสูงสุด
มาตรการคุมการระบาดของรัฐ
- นับตั้งแต่วิกฤตแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 ทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะบางพื้นที่ที่พบกรณีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น เกาะชวา และเกาะบาหลี ที่ล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 2-20 กรกฎาคม
- ทางการประกาศห้ามนักเดินทางจากต่างประเทศที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข้าประเทศ ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและมีผลตรวจเชื้อเป็นลบ ให้กักตัว 8 วัน ขณะที่พลเรือนที่กลับมาจากต่างประเทศต้องกักตัวและมีผลตรวจเชื้อเป็นลบก่อนจะได้รับการฉีดวัคซีน ยกเว้นสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักการทูต ตลอดจนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่อินโดนีเซียทำข้อตกลงจับคู่เดินทาง เช่น สหรัฐฯ อาหรับเอมิเรตส์ จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
- ทางการในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดชวาตะวันตก ตัดสินใจเลื่อนหรือยกเลิกโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อโยกงบประมาณมาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด
การบริหารจัดการวัคซีน
- รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มต้นแผนการฉีดวัคซีนประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2021 โดยแบ่งแผนการฉีดวัคซีนเป็น 4 ระยะ ได้แก่
-
- ระยะแรก มุ่งเน้นที่บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่แนวหน้า
- ระยะสอง มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่พบปะหรือมีการติดต่อกับประชาชน เช่น ตำรวจ ทหาร ครู เจ้าหน้าที่เทศบาล
- ระยะสาม มุ่งเน้นไปที่กลุ่มประชาชนที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้ยากไร้ หรือผู้อาศัยในชุมชนที่เกิดการระบาด
- ระยะสี่ มุ่งเน้นที่ประชาชนทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของวัคซีน
- ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ประกาศในเดือนธันวาคม 2020 ว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกคนฟรี โดยดำเนินการจัดหาวัคซีนจาก Sinovac, Sinopharm, Pfizer, Moderna, Novavax และ AstraZeneca
- จนถึงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการสั่งซื้อวัคซีนแล้วอย่างน้อย 142.6 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนจาก Sinovac 118.5 ล้านโดส, AstraZeneca 14.8 ล้านโดส, Sinopharm 4.8 ล้านโดส, Moderna 4.5 ล้านโดส
- จนถึง 18 กรกฎาคม 2021 มีประชาชนอินโดนีเซียได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกแล้วราว 41.7 ล้านคน และกว่า 16.2 ล้านคน ฉีดครบ 2 โดสแล้ว โดยกรุงจาการ์ตามีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสมากที่สุด คิดเป็น 18.33% ของประชากร 10.6 ล้านคน
ภาพ: Photo by Oscar Siagian/Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/indonesia-new-coronavirus-epicenter-as-delta-variant-spreads/2305735
- https://www.theguardian.com/global-development/2021/jul/02/broken-indonesias-hospitals-in-crisis-as-doctors-treat-covid-patients-in-streets
- https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/indonesian-doctors-dying-covid-19-amid-surge
- https://reliefweb.int/report/indonesia/indonesia-edge-catastrophe-covid-19-overwhelms-hospitals
- https://www.globalhealthnow.org/2021-06/second-wave-engulfs-indonesia
- https://edition.cnn.com/2021/07/17/asia/indonesia-covid-second-wave-outbreak-intl-hnk-dst/index.html
- https://theconversation.com/indonesia-records-its-highest-increase-in-covid-cases-and-numbers-are-likely-to-rise-again-before-they-fall-164063
- https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/indonesias-doctors-call-for-covid-19-lockdown-on-java-bali-to-be-extended
- https://www.bbc.com/news/world-asia-57647693
- https://www.scmp.com/week-asia/opinion/article/3140889/indonesias-coronavirus-crisis-will-define-president-joko-widodos
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/COVID-vaccines/Indonesia-to-ban-entry-by-unvaccinated-foreigners
- https://en.wikipedia.org/wiki/COVID-19_vaccination_in_Indonesia