เมื่อวาน (15 กรกฎาคม) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียนชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Antigen Test Kit หรือ ATK) ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแยกตัวและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อีกทั้งยังแจ้งผู้สัมผัสใกล้ชิดให้กักตัวพร้อมตรวจหาเชื้อต่อได้ ปัจจุบัน อย. อนุมัติขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 4 รายการ โดยเริ่มขายในโรงพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และร้านยาที่มีเภสัชกรตั้งแต่วันนี้
ความแตกต่างระหว่างการตรวจแอนติเจน และแอนติบอดี
ก่อนที่จะซื้อชุดตรวจมาใช้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าชุดตรวจมี 2 แบบคือ
- แบบตรวจหาแอนติเจน (Antigen)
- แบบตรวจหาแอนติบอดี (Antibody)
โดยแบบแรกเป็นการตรวจ ‘ชิ้นส่วนของไวรัส’ ซึ่งจะต้องเก็บตัวอย่างในจมูกหรือคอหอย ส่วนแบบหลังเป็นการตรวจหา ‘ภูมิคุ้มกันต่อไวรัส’ ซึ่งจะต้องเจาะเลือดตรงปลายนิ้ว แต่ชุดตรวจที่แนะนำให้ใช้ในขณะนี้คือแบบตรวจหาแอนติเจนเพียงแบบเดียว
ข้อดีของชุดตรวจคือทราบผลเร็วภายใน 15-30 นาที และสามารถตรวจซ้ำได้บ่อย (คำแนะนำของ NHS สหราชอาณาจักร สามารถตรวจซ้ำได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือทุก 3-4 วันหากไม่มีอาการ) แต่มีข้อควรระมัดระวังคือ ผลลบปลอม (False Negative) คือเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผลตรวจเป็นลบ (Negative) คือยังไม่พบเชื้อ เนื่องจากปริมาณเชื้อน้อย อยู่ในระยะฟักตัว 14 วัน หรือการเก็บตัวอย่างไม่ถูกวิธี
ดังนั้นหากมีอาการทางเดินหายใจควรตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR (การตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานที่โรงพยาบาล) แต่หากไม่มีอาการจะต้องแยกว่าเป็นกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีประวัติเสี่ยงหรือไม่ ถ้าจัดอยู่ในกลุ่มนี้ควรตรวจ ATK ซ้ำอีกใน 3-5 วัน (เพื่อป้องกันผลลบปลอม) หรือเมื่อมีอาการ และต้องกักตัวจนครบ 14 วัน ส่วนถ้าไม่มีประวัติเสี่ยงควรป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อตามปกติ
วิธีการตรวจด้วยชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง
ชุดทดสอบของแต่ละบริษัทอาจมีรายละเอียดการใช้งานต่างกัน ควรอ่านคู่มือก่อนทดสอบทุกครั้ง โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและสแกน QR Code เพื่อดูคลิปวิธีการใช้งานได้จากเว็บไซต์ของ อย. (www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx) แต่สามารถสรุปเป็น 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
- การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบ
- เตรียมถุงขยะติดเชื้อสำหรับทิ้งอุปกรณ์หลังการทดสอบ
- ล้างมือให้สะอาด แนะนำให้สวมถุงมือในขณะทำการทดสอบ
- ตรวจสอบส่วนประกอบของชุดตรวจ ได้แก่ คู่มือประกอบการใช้งานและคำแนะนำอย่างง่าย ตลับทดสอบ หลอดน้ำยาสกัดเชื้อและฝาจุก และก้านเก็บตัวอย่าง
- ตรวจสอบวันหมดอายุ เปิดซองตลับทดสอบและสารดูดความชื้น
- การเก็บตัวอย่างในโพรงจมูก
- นำหลอดน้ำยาสกัดเชื้อและฝาจุกออกจากซอง
- ดึงฟอยล์หลอดน้ำยาสกัดเชื้อออก
- เสียบหลอดน้ำยาสกัดเชื้อไว้ที่รูสำหรับตั้งบนกล่อง
- เปิดซองก้านเก็บตัวอย่าง (อย่าสัมผัสปลายด้านที่คล้ายสำลีหรือแปรง และไม่จุ่มในหลอดน้ำยาหรือของเหลวอื่นก่อนเก็บตัวอย่าง)
- สอดก้านเก็บตัวอย่างในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง หมุนก้านเก็บตัวอย่าง 5-10 รอบ (ความลึกและจำนวนรอบตามที่ระบุในคู่มือ)
- การทดสอบตัวอย่าง
- จุ่มก้านเก็บตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างแล้วลงในหลอดน้ำยาสกัดเชื้อ หมุนก้านเก็บตัวอย่างอย่างน้อย 5-10 ครั้ง ขณะหมุนให้บีบหลอดเป็นระยะ (จำนวนครั้งตามที่ระบุในคู่มือ)
- บีบด้านข้างของหลอดเพื่อดึงของเหลวออกจากอุปกรณ์ ขณะนำก้านเก็บตัวอย่างออก
- กรณีที่น้ำยาสกัดเชื้อกระเด็นโดนผิวหนังหรือเข้าดวงตาให้ล้างทันทีด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
- ปิดหลอด โดยกดฝาจุกเข้ากับหลอดน้ำยาสกัดให้แน่น
- หยดตัวอย่างที่สกัดแล้วลงหลุมตัวอย่างบนตลับทดสอบ (จำนวนหยดตามที่ระบุในคู่มือ)
- เริ่มจับเวลา 15-30 นาที (ระยะเวลาตามที่ระบุในคู่มือ)
- อ่านผลการทดสอบ (ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังจากที่ระบุไว้)
- การแปลผลการทดสอบ
- บนตลับทดสอบจะมีแถบสีปรากฏขึ้นมาตรงตำแหน่งควบคุม (C) และทดสอบ (T)
- ผลลบ (Negative): แถบสีปรากฏเฉพาะตำแหน่ง C
- ผลบวก (Positive): แถบสีปรากฏทั้งตำแหน่ง C และ T = 2 ขีด
- ไม่สามารถแปลผลได้ หากไม่มีแถบสีปรากฏตรงตำแหน่ง C
- ควรถ่ายรูปผลการทดสอบ พร้อมกับการระบุตัวตนบนตัวอย่าง และวันที่ทดสอบ
- การทิ้งและทำลายชุดตรวจ
- ทิ้งชุดตรวจที่ทดสอบแล้วและอุปกรณ์ของชุดตรวจที่เหลือจากการใช้งานลงถุงขยะติดเชื้อ
- หากไม่มีถุงขยะติดเชื้อ ให้ทิ้งใส่ขวดน้ำที่ใส่น้ำยาฟอกขาว แล้วใส่ถุงปิดให้มิดชิด เขียนหน้าถุงว่าขยะติดเชื้อแทน
การปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อทราบผลการตรวจ
ผลบวก (Positive) หมายถึง ‘พบเชื้อ’ ต้องแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน และแจ้งผู้สัมผัสใกล้ชิดให้กักตัวพร้อมตรวจหาเชื้อ หากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยสามารถแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยแยกตัวจากผู้อื่น สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ แยกห้องน้ำและของใช้ส่วนตัว สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิประจำ ถ้ามีอาการหายใจลำบากควรติดต่อเข้ารับการรักษา
ผลลบ (Negative) หมายถึง ‘ไม่พบเชื้อ’ ในขณะที่ตรวจ หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีประวัติเสี่ยง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรทดสอบซ้ำอีกครั้ง 3-5 วัน และต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการจนครบ 14 วัน หากมีอาการทางเดินหายใจควรทดสอบซ้ำทันที หรือถ้ามีอาการตั้งแต่แรกควรตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาล และแยกตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไว้ก่อน
โดยสรุปสำหรับการตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองที่บ้าน ต้องใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่งตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของ อย. อ่านคู่มือที่แนบมากับชุดตรวจ ตรวจสอบวันหมดอายุแล้วทดสอบตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือ เพราะรายละเอียดการเก็บตัวอย่างไม่เหมือนกัน เมื่อทดสอบเสร็จแล้วควรถ่ายรูปผลการตรวจพร้อมเขียนชื่อและวันที่กำกับ จากนั้นทิ้งชุดตรวจลงถุงขยะติดเชื้อ
หากผลเป็น ‘บวก’ (ขึ้นแถบสี 2 ขีด) หมายถึงพบเชื้อ ต้องแยกตัวและเข้าสู่ระบบการรักษา ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเขียวสามารถแยกตัวที่บ้านได้ แต่ถ้ามีอาการหายใจลำบากควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล อีกทั้งแจ้งผู้สัมผัสใกล้ชิดให้กักตัวและตรวจหาเชื้อเหมือนกัน หากเป็นผลเป็น ‘ลบ’ หมายถึงไม่พบเชื้อ ถ้าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดต้องกักตัวและตรวจซ้ำ 3-5 วัน แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงควรป้องกันตัวตามปกติ
อ้างอิง:
- ข้อมูลรายชื่อชุดตรวจและน้ำยาสำหรับโควิด ที่ได้รับการอนุญาตผลิตและนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx
- กรมวิทย์ฯ เตือนประชาชนห้ามนำชุดทดสอบแอนติบอดีมาตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1209
- เริ่มแล้ว! ประชาชนตรวจโควิดได้ด้วยตัวเอง หลัง อย. ขึ้นทะเบียนชุด Antigen Test Kit หาได้ที่ร้านขายยา https://www.hfocus.org/content/2021/07/22287